ผู้บริหาร‘โตโยต้า’นั่งเก้าอี้ต่อ เหตุปมฉาว ดันผู้ถือหุ้นโหวตเปลี่ยนประธาน
'อากิโอะ โทโยดะ' ยังนั่งเก้าอี้ประธาน Toyota หลัง 2 กลุ่มผู้ถือหุ้นโหวตไม่ไว้วาง เหตุปมโกงผลทดสอบรถอื้อฉาว กดคะแนนเสียงสนับสนุนผู้บริหารต่ำสุดในรอบหลายปี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี วันที่ 18 มิ.ย.67 (วันนี้) ท่ามกลางวิกฤตอื้อฉาวการทดสอบรถ โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องจับตาคือ 2 กลุ่มผู้ถือหุ้นโตโยต้ามอเตอร์ (Toyota Motor ) เตรียมลงคะแนนเสียง “คัดค้าน” การดำรงตำแหน่งของ “อากิโอะ โทโยดะ” ในฐานะประธานกรรมการบริษัทต่อไป
ล่าสุดผลการประชุม ผู้ถือหุ้นโตโยต้าโหวตสนับสนุน อากิโอะ โทโยดะ ประธานกรรมการ และกรรมการบริษัทอีก 9 คน แม้จะมีเสียงคัดค้านจากนักลงทุนบางราย แต่โทโยดะยังคงได้รับความนิยมจากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ยกย่องผลงานในการขับเคลื่อนบริษัทสู่ปีแห่งผลกำไรสูงสุด
แม้ว่าโทโยดะจะได้ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทต่อไป แต่คะแนนสนับสนุนที่ลดลงอย่างมากก็อาจเป็นเรื่องน่าอายสำ โดยโทโยดะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 85% ซึ่งผลโหวตนี้ถือว่าต่ำกว่าปีที่แล้วที่ได้รับเสียงสนับสนุน 96%
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจาก มีการเปิดเผยว่าโตโยต้าบิดเบือนผลการทดสอบ รถยนต์ 7 รุ่น ซึ่งกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว ที่สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของบริษัทและสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงควรต้องรับผิดชอบสูงสุด
ผู้บริหารต้องรับผิดชอบมากกว่านี้
Institutional Shareholder Services (ISS) บริษัทที่ปรึกษาผู้ถือหุ้นในสหรัฐอเมริกา แนะนำให้นักลงทุนโหวตคัดค้านการแต่งตั้งโทโยดะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยระบุว่า “ในฐานะผู้บริหารระดับสูงมาอย่างยาวนาน โทโยดะควรถือเป็นผู้รับผิดชอบขั้นสูงสุดต่อความผิดปกติในการรับรองภายในกลุ่ม Toyota Motor”
บทความวิจารณ์โตโยต้าสะท้อนมุมมอง ของโตโยต้าที่สัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลง แต่โตโยต้ากลับไม่ได้มีแผนปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท แม้โตโยต้าจะบอกว่าจะสื่อสารกับพนักงานภาคปฏิบัติการดีขึ้น แต่นั่นอาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันการทุจริตการทดสอบอีก
ISS กล่าวว่า “มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวโน้มของบริษัทที่ต้องการรักษาขนบธรรมเนียมองค์กรไว้ และโทโยดะควรต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้”
Glass Lewis & Co. บริษัทที่ปรึกษาการลงคะแนนเสียงแทนผู้ถือหุ้น เป็นอีกแห่งที่ได้ออกมาแนะนำให้ผู้ถือหุ้นของโตโยต้าให้ลงคะแนนเสียงคัดค้านการแต่งตั้งนายอากิโอะ โทโยดะ ประธานกรรมการบริหาร และนายชิเงรุ ฮายาคาวะ กรรมการบริหารระดับสูง กลับเข้าดำรงตำแหน่งอีกครั้ง
รายงานตั้งข้อสังเกตว่า เกิดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบหลายกรณีในบริษัทในเครือโตโยต้า ซึ่งบ่งชี้ถึงระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง นายโทโยดะในฐานะผู้บริหารสูงสุด ย่อมต้องรับผิดชอบต่อการกำกับดูแลให้บริษัทมีระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ พร้อมยังตั้งคำถามถึงความมุ่งมั่นของนายโทโยดะ ในการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดีภายในองค์กร โดยเฉพาะในบริษัทในเครือที่เกิดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบซ้ำๆ
Glass Lewis มองว่า คณะกรรมการบริษัทโตโยต้าขาดความเป็นอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายชิเงรุ ฮายาคาวะ ผู้รับผิดชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการ ควรเพิ่มจำนวนกรรมการอิสระ เพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปลดประธานไม่ใช่เรื่องง่าย
แม้โทโยดะ จะเผชิญแรงกดดัน แต่ก็ไม่น่าจะถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานกรรมการในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้ เนื่องจากฐานเสียงการสนับสนุนที่แข็งแกร่ง จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโตโยต้าที่มีเกือบ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างประเทศ สถาบันการเงินของญี่ปุ่น ซึ่งไม่น่าจะออกมาต่อต้านบริษัท โตโยต้า อินดัสตรี้
ระบบการถือหุ้นไขว้ที่เคยเป็นแนวทางปฏิบัติหลักในญี่ปุ่น กำลังเสื่อมความนิยมลง แต่ในกรณีของโตโยต้า ระบบนี้ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อบริษัทในเครือโตโยต้า โดยเฉพาะ “โตโยต้า อินดัสตรี้” ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท
ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นเหล่านี้น่าจะมีส่วนช่วยให้อากิโอะ โทโยดะ ยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการต่อไปได้ เห็นได้จากผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ที่เขาได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน เกือบ 85% แม้ว่าจะลดลงจาก 96% ในปี 2564
ปมฉาวกดราคาหุ้นดิ่ง
ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงคมนาคม ของประเทศญี่ปุ่น พบข้อมูลปลอมที่ใช้รับรองรุ่นรถยนต์บางรุ่น ใน Toyota และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นอีก 4 ราย แม้ว่าไม่มีรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวรถ และไม่มีการประกาศเรียกคืนรถ แต่โตโยต้าได้สั่งหยุดการผลิตรถยนต์ 3 รุ่นที่ผลิตโดยบริษัทในเครือภายในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Corolla Fielder, Corolla Axio และ Yaris Cross
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจาก พบการทดสอบความปลอดภัยที่ไม่เหมาะสมในบริษัทอื่นๆ ในเครือโตโยต้า เช่น ไดฮัทสุ มอเตอร์ (ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก) ฮีโน่ มอเตอร์ (ผู้ผลิตรถบรรทุก) และ โตโยต้า อินดัสตรี้ (ผู้ผลิตรถยก)
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพบการละเมิดลักษณะเดียวกันนี้ที่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นรายใหญ่ๆ อื่นๆ เช่น Honda, Mazda และ Suzuki อีกด้วย
ราคาหุ้นโตโยต้าเคยพุ่งสูงขึ้นถึงเกือบ 3,800 เยน (ประมาณ 886.42 บาท) แต่หลังจากเผชิญเรื่องอื้อฉาวล่าสุด ราคาหุ้นก็ร่วงลงอย่างหนักจนปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับ 3,000 เยน (ประมาณ 699.89 บาท) จนมูลค่าตลาดร่วงกว่า 3 ล้านล้านเยน หรือราว 7 แสนล้านบาท
การผลิตหยุดชะงักไม่กระทบบริษัท
คาซึโนริ มะกิ นักวิเคราะห์ด้านรถยนต์จาก SMBC Nikko Securities ประเมินว่า การหยุดชะงักของการขนส่งโตโยต้าส่งผลกระทบต่อยอดขายทั่วโลกเพียง 1-2% เท่านั้น
สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม กำไรของโตโยต้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาทซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากยอดขายรถยนต์พุ่งสูงขึ้นท่ามกลางค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ส่งผลให้รายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
แม้ว่าโตโยต้าจะยังคงล้าหลังในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แต่บริษัทยังคงเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก โดยมียอดขายรถยนต์ 9.4 ล้านคันในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2567
อารอน ห่าว นักวิเคราะห์หุ้นทุนจาก CFRA Research มองว่า “บริษัทกำลังดำเนินไปด้วยดี” แม้จะมีการหยุดชะงักการผลิตจากเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นล่าสุดส่งผลกระทบต่อการส่งมอบรถยนต์เพียง “เล็กน้อย” เท่านั้น และไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมของบริษัท ซึ่งคาดว่าการหยุดชะงักการผลิตน่าจะใช้เวลาไม่กี่เดือน
อย่างไรก็ตาม ในคำขอโทษเกี่ยวกับปัญหาครั้งล่าสุด โตโยต้าอ้างถึงกรณีที่ อากิโอะ โทโยดะ ประธานกรรมการบริษัท เคยเผชิญกับวิกฤตการเรียกคืนรถยนต์ครั้งใหญ่ในสหรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังจากเขารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี 2009 โดยอ้างว่าบริษัทได้เรียนรู้บทเรียนจากวิกฤตครั้งนั้นแล้ว ซึ่งเกิดจากปัญหา “การเร่งความเร็วโดยไม่ตั้งใจ”
"เราไม่ใช่บริษัทที่สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเราเห็นอะไรผิดพลาด เราจะถอยหลังหนึ่งก้าวและพยายามแก้ไขต่อไป" โทโยดะกล่าว
อ้างอิง APNews