หวั่นพรรคแรงงานชนะเลือกตั้ง หนุนกระแสมหาเศรษฐีหนีอังกฤษ
ผลวิจัยล่าสุดคาด ปีนี้เหล่า มหาเศรษฐี จะย้ายออกจากสหราชอาณาจักรมากเป็นประวัติการณ์ ยิ่งมีการเลือกตั้งยิ่งกระตุ้นให้ออกไปมากขึ้น
รายงานสรุปข้อมูลการโยกย้ายความมั่งคั่งส่วนบุคคลของเฮนลีย์ (Henley Private Wealth Migration Report) ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่า ปี 2567 อังกฤษจะสูญเสียบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง 9,500 คนสูงกว่า 4,200 คนในปี 2566 กว่าสองเท่า ซึ่งปีก่อนก็สูงสุดประวัติการณ์ไปแล้วปีนี้ยังสร้างสถิติใหม่อีกครั้ง
สหราชอาณาจักรถือเป็นลำดับที่ 2 ตามการจัดอันดับของเฮนลีย์ เป็นรองเฉพาะจีน คาดว่าปีนี้ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกจะสูญเสียมหาเศรษฐีสุทธิ 15,200 คน
การคาดการณ์ดังกล่าวถือเป็นการพลิกหน้ามือเป็นหลังมือสำหรับอังกฤษ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นทำเลอันดับหนึ่งสำหรับซูเปอร์ริชของโลก
ตามข้อมูลของเฮนลีย์ บริษัทที่ปรึกษาติดตามแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานพบว่า ระหว่างทศวรรษ 1950-ต้นทศวรรษ 2000 ครอบครัวเศรษฐีทั้งจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลางพากันย้ายมาอยู่เกาะอังกฤษ
“อย่างไรก็ตาม เทรนด์นี้เริ่มเปลี่ยนเมื่อราวทศวรรษก่อน เมื่อเหล่ามหาเศรษฐีเริ่มย้ายออกไปมากขึ้น ย้ายเข้ามาน้อยลง เห็นได้ชัดว่าช่วงหกปีหลังเบร็กซิท ระหว่างปี 2560-2566 มหาเศรษฐีย้ายออกไปจากสหราชอาณาจักรรวม 16,500 คน เมื่อดูคาดการณ์สำหรับปี 2567 ยิ่งน่าห่วง” รายงานระบุ
ฮันนาห์ ไวท์ ซีอีโอกลุ่มคลังสมอง “สถาบันเพื่อรัฐบาล” ตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งอังกฤษในปีนี้จะยิ่งทำให้เหล่าคนมีเงินย้ายออกไปมากกว่าเดิม
ผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักเมื่อเร็วๆ นี้ ให้พรรคแรงงานสายกลางซ้ายมีชัยเหนือพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายขวา
โพลของซาวันตาที่ทำให้หนังสือพิมพ์เทเลกราฟ เผยแพร่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคแรงงานได้คะแนน 46% กว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับพรรคอนุรักษนิยมที่ได้ 21% ส่วนพรรคปฏิรูป ปีกขวาประชานิยม ตามมาไม่ห่าง13%
พรรคแรงงานวางสถานะตนเองเป็นพรรคโปรธุรกิจเน้นสร้างความมั่งคั่ง แต่แถลงการณ์เลือกตั้งประกาศชัดเจนว่า พรรคมีแผนจัดการช่องโหว่เอื้อประโยชน์คนรวยเพื่อให้พรรคมีเงินมาทำงบประมาณบริการสาธารณะได้ดีขึ้น, ให้คำมั่นลดช่องโหว่ภาษีสำหรับคนที่ไม่มีภูมิลำเนา, ลดการเลี่ยงภาษี, ยกเลิกงดเว้นภาษีให้โรงเรียนเอกชน และขึ้นภาษีซื้ออสังหาริมทรัพย์สำหรับคนที่ไม่ได้มีถิ่นพำนักในสหราชอาณาจักร
"การไหลออกของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงผลจากบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจ ตอนนี้กำลังถูกซ้ำเติมจากการตัดสินใจทางนโยบายก่อนการเลือกตั้ง
นอกเหนือไปจากภาษี 40% ที่เก็บจากอสังหาริมทรัพย์มูลค่าเกิน 3.25 แสนปอนด์แล้ว รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมยังรับลูกนโยบายของพรรคแรงงานฝ่ายค้าน ด้วยการยุติระบบภาษีนอกประเทศตั้งแต่ปี 2568 และสำหรับคนที่จะให้ลูกเรียนในสหราชอาณาจักรที่ขึ้นชื่อเรื่องโรงเรียนเอกชนสอนดี พรรคแรงงานให้คำมั่นว่าจะเลิกยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 20% ให้โรงเรียนเอกชน จะเป็นพัฒนาการที่ไม่น่าปลาบปลื้มต่อไป" ไวท์ระบุในรายงานของเฮนลีย์
ทั้งนี้ จำนวนมหาเศรษฐีในสหราชอาณาจักรลดลง 8% ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ตรงข้ามอย่างมากกับเขตเศรษฐกิจหลักทั่วยุโรปและอื่นๆเช่น ในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงในเยอรมนีเพิ่มขึ้น 15% ขณะที่สหรัฐพุ่งขึ้นถึง 62%