นโยบายบ้านเก่าแลกใหม่จีน'ล้มเหลว' เหตุคนเน้นประหยัด กลัวเป็นหนี้

นโยบายบ้านเก่าแลกใหม่จีน'ล้มเหลว'  เหตุคนเน้นประหยัด กลัวเป็นหนี้

จีนหวังใช้นโยบาย Trade-In กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่โครงการบ้านเก่าแลกใหม่กลับ 'ล้มเหลว' เพราะคนเน้นประหยัด-ไม่กล้าใช้เงิน กลัวเป็นหนี้ ท่ามกลางวิกฤติอสังหาฯและเศรษฐกิจซบเซา

รัฐบาลจีนใช้นโยบาย “Trade In”หรือ การนำของเก่าที่มีอยู่มาแลกซื้อของใหม่ในราคาส่วนลดมาเป็นกลยุทธ์ในการ

กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกใช้ในตลาดรถยนต์กลายเป็นโครงการแลกรถเก่ารับเงินอุดหนุนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีผู้ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนมากกว่า 40,000 ราย นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 หลายคนนำเงินอุดหนุนนี้ไปใช้เพื่อเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 11.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 10.61 ล้านคัน

โครงการเก่าแลกใหม่ขยายไปยังสินค้าประเภทอื่นๆ อย่างรวดเร็ว เช่น เครื่องใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ แม้กระทั่ง “อสังหาริมทรัพย์” แต่นักวิเคราะห์บางคนก็เตือนว่า “ชนชั้นกลางชาวจีน”อาจจะไม่ให้ความสนใจกับโครงการนี้อีกต่อไป เนื่องจากครอบครัวชนชั้นกลางจีนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่นิยม “การออม”มากกว่าการใช้จ่าย

อสังหาฯซบเซา ทำคนจีนไม่อยาก'แลกบ้าน'

นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่าพวกเขาเหล่านี้มักจะเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต และจะยอมใช้เงินก็ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น และยังคงมีความระมัดระวังเกี่ยวกับโอกาสทางหน้าที่การงาน รายได้ และมีกังวลเรื่องหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด “โครงการแลกบ้าน”ความพยายามของรัฐบาลจีนในการแทนที่อพาร์ทเมนต์เล็กๆ ในตัวเมืองด้วยบ้านใหม่ขนาดใหญ่ในเขตชานเมืองนั้นล้มเหลว

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการแลกบ้านไม่ประสบความสำเร็จ มาจากคนจีนส่วนใหญ่มองว่าการซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนและมักมองว่าบ้านเป็นสิ่งของที่มีมูลค่าสูงที่สุดในการใช้จ่ายของครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอื่นๆที่มีราคาแพงเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และบริการตกแต่งบ้าน

ณ ไท่ชาง ซึ่งอยู่ในมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีนเป็นหนึ่งในกว่า 70 เมืองทั่วประเทศที่เปิดตัวโครงการแลกเปลี่ยนบ้านเพื่อบ้านใหม่ หน่วยงานท้องถิ่นกำลังส่งเสริมให้ประชาชนขายบ้านที่มีอยู่เดิมให้กับรัฐวิสาหกิจเพื่อเปลี่ยนเป็นบ้านพักของรัฐ แล้วจ่ายส่วนต่างของราคาเพื่อนำเงินส่วนต่างไปซื้อบ้านหลังใหม่

จอร์จ ลู่ ผู้อาศัยอยู่ในไท่ชางเป็นหนึ่งในคนที่เคยสนใจที่จะขายบ้านมูลค่า 4 ล้านหยวนของเขาในย่านใจกลางเมืองให้กับทางการ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องล้มเลิกความคิดนี้ เนื่องจากตัวเลือกบ้านหลังใหม่มีจำกัดและจะต้องกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านหยวน

ลู่ กล่าวว่า “ถือเป็นข้อตกลงที่ดีสำหรับรัฐบาลอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลสามารถเรียกคืนที่ดินย่านใจกลางเมือง ธนาคารได้รับสินเชื่อเพิ่ม และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลขายออก แต่สำหรับผมการซื้อบ้านใหม่ประเภทนี้มีแต่เพิ่มหนี้สินและความเสี่ยง”

หยาน เยว่จิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอีเฮ้าส์ในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณการซื้อขายบ้านที่เกิดจากโครงการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินยังคงมีน้อยมาก ในขณะเดียวกันการซื้อขายบ้านในตลาดมือสองและบ้านใหม่ยังคงซบเซาเช่นกัน ทั้งนี้ยานตั้งข้อสังเกตว่าการนำเอาบ้านเก่าที่ถูกแทนที่ไปใช้ประโยชน์ต่อเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องหาแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการจัดการ

อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถทางการเงินของรัฐบาลในการซื้อบ้านเก่าในโครงการนี้ จากเป้าหมายการแลกเปลี่ยนบ้านในเจิ้งโจวอยู่ที่ 10,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านหยวน แต่กลุ่มพัฒนาเมืองเจิ้งโจว ซึ่งรับผิดชอบโครงการ รายงานหนี้สินจำนวน 118.5 แสนล้านหยวน ณ สิ้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ตามรายงานของ ไชน่านิวส์วีคลี่

คนจีนกลัวเป็นหนี้

ข้อมูลล่าสุดจากสถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติจีน (NIFD) เผยให้เห็นว่า หนี้สินครัวเรือนของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 64% ของจีดีพีในเดือนมีนาคม 2567 ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับปลายปี 2551 ที่ระดับ 17.9% สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคครัวเรือนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นยังมีภาระหนี้สินสูงเกินไป โดยสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 10.9% เป็น 32.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังไม่นับรวมหนี้สินจำนวนมากที่ซ่อนอยู่ในภาครัฐวิสาหกิจ บริษัทเพื่อการระดมทุน หรือรูปแบบอื่นๆ

รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยสำหรับที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์ที่สร้างใหม่ใน 70 เมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางในเดือนเมษายน 2567 ลดลง 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันขอปีก่อน

แกวิน ชิว กล่าวว่าครอบครัวชาวจีนจำนวนมากสูญเสียความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุน เนื่องจากมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซา

“จำนวนครัวเรือนที่เต็มใจเพิ่มหนี้สินเพื่อซื้อบ้านหลังใหม่มีน้อยมาก โดยเฉพาะในเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งมีจำนวนบ้านที่ขายไม่ออกจำนวนมาก” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม การเงินออมของประชากรจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเงินฝากประจำของประชากรจีน เพิ่มขึ้นจาก 71.6 ล้านล้านหยวนในปี 2561 เป็น 136.9 ล้านล้านหยวนในปี 2566 ซึ่งบ่งชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนิยมการเก็บออมมากกว่าการใช้จ่าย

สอดคล้องกับการสำรวจรายไตรมาสที่เผยแพร่เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเฉียงใต้ในเฉิงตู พบว่ามีครัวเรือนเพียง 6.8% เท่านั้นที่วางแผนจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 20.1% จะเลือกที่จะรอดูสถานการณ์

“โครงการแลกบ้านมุ่งเป้าไปที่ครอบครัวชนชั้นกลางหรือครอบครัวเศรษฐีของจีน เนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สามารถแบกรับภาระหนี้สินได้มากกว่า แต่ความจริงก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากหนี้สินที่อยู่อาศัยและรายได้ที่ลดลง หากนโยบายการเทรดบ้านล้มเหลว ปักกิ่งอาจจะนำเสนอนโยบายการเงินที่รุนแรงมากขึ้น”

อดีตนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลยอดเยี่ยม

ย้อนไปในปี 2552 จีนได้ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเก่าเป็นสินค้าใหม่เป็นครั้งแรกนั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และทดแทนการส่งออกที่ลดลงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกโดยกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าในระหว่างปี 2552ถึง 2554รัฐบาลกลางได้ใช้งบประมาณในการอุดหนุนโครงการนี้เป็นมูลค่า 30,000 ล้านหยวน(ราว1.5 แสนล้านบาท) ซึ่งส่งผลให้เกิดการบริโภคภายในประเทศโดยตรงเกือบ 342,000 ล้านหยวน(ราว1.7 ล้านล้านบาท)

มาตรการกระตุ้นยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าถูกนำมาใช้หลายครั้งในช่วงปีต่อมา ภายใต้ชื่อโครงการต่างๆแม้ว่ารัฐบาลอาจจะมองเห็นความสำเร็จของโครงการนี้อย่างมาก แต่เดวิด หว่อง อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮังเซ็นประเทศฮ่องกงกล่าวว่า มูลค่าของมาตรการอุดหนุนในโครงการเก่าแลกใหม่ครั้งนี้ยังไม่ยังไม่เท่ากับโครงการประเภทเดียวกันในปี2552

 “ดังนั้นผลกระทบที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในครั้งนี้อาจจะไม่สูงเท่ากับโครงการก่อนหน้าที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้มาก”