โมดีนำทีมฉลอง‘วันโยคะสากล’ที่แคชเมียร์
นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีชาตินิยมฮินดูของอินเดีย นำประชาชนหลายร้อยคนฝึกโยคะในแคชเมียร์ ภูมิภาคที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่
นายกฯ โมดีนำฝึกโยคะที่เมืองศรีนคร เมืองเอกของดินแดนข้อพิพาทแคชเมียร์ในฝั่งอินเดีย เพื่อเฉลิมฉลองวาระ 10 ปีวันโยคะสากลที่ตัวเขาเองผลักดันจนสหประชาชาติประกาศเมื่อปี 2557 ให้วันที่ 21 มิ.ย.ของทุกปีเป็นวันโยคะสากล นับจากนั้นโมดีได้นำการฝึกโยคะในสถานที่สำคัญทั่วอินเดีย ปีก่อนทำที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์ก ปีนี้ไปที่แคชเมียร์ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม
แม้โยคะไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนาแต่ต้นกำเนิดมาจากปรัชญาฮินดู ว่ากันว่าพระศิวะเป็นโยคีคนแรก ซึ่งชาวแคชเมียร์จำนวนมากไม่ได้สนใจปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เหล่าข้าราชการ ครูและนักเรียนหลายพันคนจากทั่วแคชเมียร์เข้าร่วมกิจกรรม แต่ฝนตกหนักทำให้โมดีต้องฝึกโยคะในร่ม
หลังจากนั้นเขาเรียกร้องให้ประชาชนหลายร้อยคนรวมถึงตำรวจและทหารบนฝั่งทะเลสาบลาดักทำให้โยคะ “เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน” โดยให้เหตุผลว่าโยคะเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
แต่ชาวบ้านศรีนครบางคนมองว่า งานนี้เป็นการรุกรานทางวัฒนธรรม
“ลูกหลานเรากำลังถูกบังคับให้ทำโยคะเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของคนรุ่นถัดไปและควบคุมจิตใจของพวกเขา นี่เป็นการบีบบังคับเรา” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อ ด้วยเกรงว่าจะถูกเล่นงาน
แคชเมียร์มีกลุ่มกบฏสู้รบมาตั้งแต่ปี 2532 เพื่อเรียกร้องเอกราชหรือไม่ก็ไปรวมกับปากีสถาน ประชาชนหลายหมื่นคนสังเวยชีวิตไปกับความขัดแย้ง ความรุนแรงส่วนใหญ่ถูกจัดการในปี 2562 เมื่อโมดีเพิกถอนสถานะความเป็นอิสระของแคชเมียร์ที่มีอยู่ระดับหนึ่ง และควบคุมความมั่นคงอย่างเข้มงวด
แต่การมาของโมดีในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มกบฏต่อต้านการปกครองของอินเดียก่อเหตุโจมตีหลายระลอก โดยครั้งหนึ่งทำให้ผู้แสวงบุญฮินดูเสียชีวิต 10 คน
ด้านปากีสถานได้ควบคุมอีกส่วนหนึ่งของแคชเมียร์ แต่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือแคชเมียร์ทั้งหมดเหมือนอย่างที่อินเดียทำ