'เชลล์' อัปเกรดโรงงานผลิตจาระบีในไทย เพิ่มกำลังผลิต 3 เท่า ลุยส่งออกเอเชีย

'เชลล์' อัปเกรดโรงงานผลิตจาระบีในไทย เพิ่มกำลังผลิต 3 เท่า ลุยส่งออกเอเชีย

'เชลล์' ประกาศลงทุนในไทยเพิ่ม อัปเกรดโรงงานจาระบีเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 เท่า ยกระดับศูนย์กลางการผลิตจาระบีอันดับหนึ่งของเชลล์ในอาเซียน

นายเจสัน หว่อง รองประธานบริหารธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น บริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) (Shell plc.) ให้สัมภาษณ์ว่า เชลล์กำลังลงทุนเพิ่มในประเทศไทยด้วยด้วยการอัปเกรดโรงงานจาระบีใหม่ เพื่อขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ตันต่อปี จากปัจจุบันที่ 5,000 ตันต่อปี ซึ่งจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยัง 40 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซียและออสเตรเลีย

นายหว่องกล่าวว่า เชลล์มีการสร้างโรงงานผลิตจาระบีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2517 ที่โรงงานของเชลล์ ถ.ช่องนนทรี การอัปเกรดโรงงานในครั้งนี้จึงถือเป็นการลงทุนในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งด้วยโดยจะมุ่งยกระดับโรงงานให้กลายเป็น “ศูนย์กลางการผลิตจาระบีอันดับหนึ่งของเชลล์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และเป็นหนึ่งในฐานการกระจายสินค้าเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของเชลล์ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพรีเมียมของเชลล์

\'เชลล์\' อัปเกรดโรงงานผลิตจาระบีในไทย เพิ่มกำลังผลิต 3 เท่า ลุยส่งออกเอเชีย

การอัปเกรดโรงงานจาระบีในไทยล่าสุด นอกจากจะเพิ่มในส่วนของกำลังการผลิตสูงสุดเป็น 3 เท่า ซึ่งครอบคลุมมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการในประเทศไทยแล้ว เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของโรงงานยังช่วยให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์จาระบีคุณภาพสูงได้ตรงตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง และน้ำตาล

สำหรับ “ประเทศไทย” นั้นถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเชลล์มีโรงงานผลิตจาระบีอยู่ทั้งหมด 4 แห่งคือ จีน (จูไห่) สิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย โดยรายหลังนี้ทางเชลล์เพิ่งประกาศลงทุนสร้างโรงงานผลิตจาระบีขึ้นเป็นครั้งแรกในอินโดนีเซีย เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยจะมีกำลังการผลิตสูงสุด 12,000 ตันต่อปี

\'เชลล์\' อัปเกรดโรงงานผลิตจาระบีในไทย เพิ่มกำลังผลิต 3 เท่า ลุยส่งออกเอเชีย

รองประธานบริหารธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นของเชลล์ยังให้มุมมองถึง “ความท้าทาย” ของธุรกิจพลังงานในปัจจุบัน ในยุคการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ด้วยว่า ธุรกิจจำเป็นต้องยืดหยุ่น (resilient) ปรับตัวรับให้ได้อย่างรวดเร็วมากพอ และมองเห็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นายหว่องได้ยกตัวอย่างการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่ทำให้มีการลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์กระจายไปทั่วโลกรวมถึงเอเชีย ซึ่งภายในดาต้าเซ็นเตอร์ยุคใหม่ก็ต้องมีการจัดการด้านพลังงานและระบบระบายความร้อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปพร้อมกับสเกลที่ใหญ่ขึ้นในยุคเอไอ ทำให้เชลล์มองเห็นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีคูลแลนท์ Immersion Cooling Fluid มารองรับอุตสาหกรรมและตอบรับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน

“ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของเราก็คือ การเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้การเปลี่ยนผ่านกำลังเกิดขึ้นแน่นอนแล้ว แต่ระยะของการเปลี่ยนนั้นยังไม่แน่นอนและแตกต่างกันออกไป เช่น การรับเทคโนโลยีรถยนต์อีวีในจีนที่รวดเร็ว ต่างกับของโลกที่ยังไม่ได้เร็วขนาดนั้น” นายหว่องกล่าว

 สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นั้นก็ยังมีโอกาสของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นและจาระบีอยู่ในแง่ของตัวรถ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับระบบควบคุมระดับอุณหภูมิที่ดูแลการทำงานของแบตเตอรี่รถยนต์อีวี

แต่จากการรับฟังมุมมองของนักวิเคราะห์ตลาดพบว่า ปัจจุบันจนถึงปี 2571 ตลาดรถยนต์เครื่องสันดาปจะยังขยายตัวได้ต่อและยังเป็นฐานที่ใหญ่ แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงก็ตาม โดยภายในปีเดียวกันนั้นคาดว่ารถยนต์เครื่องสันดาปจะยังคงครองตลาดมากที่สุดในสัดส่วนประมาณ 80% ตามมาด้วยรถยนต์ไฮบริด 10% และอีวี 10%

ทั้งนี้ ปัจจุบันเชลล์ครองอันดับ 1 ด้านส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันหล่อลื่นเป็นปีที่ 17 ติดต่อกันโดยมีลูกค้าหลักใน 3 ธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรม การขนส่งสำหรับการค้า และรถยนต์ทั่วไป ขณะที่ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นเชลล์มีลูกค้าราว 1 ล้านคนในตลาด 160 แห่งทั่วโลก โดยมีเครือข่ายผู้กระจายสินค้าขนาดใหญ่ 130 ราย และผู้กระจายสินค้าทั่วไป 1,860 ราย