'จีน - อียู' ตกลงเจรจาภาษีรถอีวี ปักกิ่งอยากให้ยกเลิกก่อน 4 ก.ค.นี้

'จีน - อียู' ตกลงเจรจาภาษีรถอีวี ปักกิ่งอยากให้ยกเลิกก่อน 4 ก.ค.นี้

'จีน - อียู' ตกลงที่จะเจรจากันเรื่องภาษีรถยนต์อีวี หวังหลีกเลี่ยง ‘สงครามการค้า’ หลังจากทั้งสองฝ่ายหารือทางไกล และรองนายกฯ ของเยอรมนี เดินทางเยือนจีน ด้านสมาคมยานยนต์ในเยอรมนี วอนทบทวนขึ้นภาษี ชี้ส่งผลกระทบในประเทศมากกว่าที่คิด

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก และรอยเตอร์ส รายงานว่า "จีน" และ "สหภาพยุโรป" (อียู) ตกลงที่จะเปิดการเจรจากันในเรื่องการขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นำเข้าจากจีนแล้ว หลังจากที่ผู้นำระดับสูงของทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกันผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความพยายามที่จะลดการเผชิญหน้า และหลีกเลี่ยง “สงครามการค้า” ระหว่างกัน

รายงานระบุว่า หวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีน และวัลดิส ดอมบรอฟสกีส์ กรรมาธิการด้านการค้าของอียู ได้หารือกันในประเด็นดังกล่าวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังตามมาด้วยการเดินทางเยือนจีนของ โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ที่ส่งสัญญาณมาตลอดว่าอียูต้องการเจรจาในเรื่องนี้กับจีน

“นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น และจะมีการดำเนินการที่จำเป็นอีกหลายอย่างตามมาอีก” ฮาเบ็ค เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมา “อย่างน้อยที่สุดนี่ก็เป็นก้าวแรกที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นเหตุผลว่าทำไมคืนนี้จึงเป็นคืนที่ดี หากเราต้องการที่จะคงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม พร้อมกับหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามการค้าขึ้น”

ทางด้านโฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เปิดเผยว่า การหารือระหว่างผู้แทนระดับสูงของจีน และอียูเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และสร้างสรรค์ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และเคารพในกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) อย่างเต็มที่

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา อียูได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อีวีจากจีนเพิ่มเติมในอัตราสูงสุด 38% เพิ่มจากอัตราเดิมที่ 10% ในปัจจุบัน โดยแต่ละบริษัทจะถูกเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกันเช่น บริษัท SAIC ถูกเรียกเก็บเพิ่ม 38.1% บริษัท Gleely ถูกเรียกเก็บ 20% และบริษัท BYD ถูกเรียกเก็บ 17.4% ภายหลังผลการสอบสวนที่มีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 พบว่าทางการจีนมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีของตนเอง ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรป

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางภาษีของอียูจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ก.ค.67 โดยจะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่างอีซี และบริษัทรถยนต์แต่ละแห่ง เพื่อพิจารณาว่าทางบริษัทให้ความร่วมมือหรือไม่ ก่อนที่จะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

จีนอยากให้ยกเลิกภาษีก่อน 4 ก.ค.67

รอยเตอร์ส รายงานอ้างหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อของทางการจีนว่า จีนต้องการให้อียูยกเลิกการเก็บภาษีอีวีจีนเพิ่มเติมที่จะเริ่มภายในวันที่ 4 ก.ค.67 ภายหลังจากทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดการเจรจากันในเรื่องนี้

ทั้งนี้ จีนได้เรียกร้องให้อียูยกเลิกการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหลายครั้งแล้ว พร้อมกับแสดงความเต็มใจที่จะเจรจา โดยรัฐบาลจีนไม่ต้องการให้เกิดสงครามกำแพงภาษีขึ้นอีก เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากสหรัฐที่มีมาตั้งแต่ยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่จีนเองก็ยืนยันว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปกป้องบริษัทจีน หากเกิดสงครามกำแพงภาษีขึ้นจริง

โกลบอล ไทม์ส รายงานอ้างบรรดาผู้สังเกตการณ์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่า ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของการเจรจาก็คือ อียูตัดสินใจยกเลิกการเก็บภาษีเพิ่มเติมก่อนวันที่ 4 ก.ค.67 นี้ โดยการที่อียูดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ นั้น จะกระตุ้นให้จีนต้องดำเนินมาตรการตอบโต้กลับ และการยกระดับความขัดแย้งทางการค้าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ “ต่างฝ่ายต่างแพ้”

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพาณิชย์ของจีนปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อรายงานข่าวชิ้นนี้ของรอยเตอร์ส

ทั้งนี้ มาตรการขึ้นภาษีของอียูมีกำหนดจะได้ข้อสรุปสุดท้ายของกระบวนการสอบสวนเรื่องการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม ภายในวันที่ 2 พ.ย.67 นี้

ค่ายรถเยอรมนีกดดันยกเลิกภาษี

ด้านเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า บรรดาค่ายรถยนต์และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ในเยอรมนีกำลังเรียกร้องให้อีซีทบทวนการขึ้นภาษีอีวีจีนเพิ่มเติม โดยระบุว่ามาตรการนี้กลับจะเป็นการทำร้ายอุตสาหกรรมในประเทศเอง และยังส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในประเทศจีน

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยยานยนต์ในเมืองโบคุ่มพบว่า ปัจจุบันรถที่จดทะเบียนในประเทศเยอรมนีช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ประมาณ 110,000 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถที่ผลิตจากจีน และส่งออกมาเยอรมนีถึงเกือบ 14% (เกือบ 1.55 หมื่นคัน)

ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี (VDA) พบว่าในปี 2566 บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมันมีการผลิตรถยนต์ในจีนทั้งหมดราว 337,000 คัน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปยังประเทศในอียูถึง 10% หรือประมาณ 3.37 หมื่นคัน ซึ่งหมายความว่าการขึ้นภาษีรถอีวีที่นำเข้าจากจีน จะกระทบต่อบริษัทรถยนต์ของเยอรมนีเองด้วย

โฆษกของบริษัทโฟล์คสวาเกน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อตลาดรถอีวีในเยอรมนี และยุโรปที่มีความต้องการซื้ออ่อนแรงอยู่แล้ว

“ภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในอียูอาจกระตุ้นให้เกิดมาตรการ และการตอบโต้ต่างๆ ที่รุนแรงตามมา และทำให้ความขัดแย้งทางการค้ายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เราประเมินว่าการขึ้นภาษีจะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบมากกว่าด้านบวก” โฆษกของบริษัทโฟล์คสวาเกน ระบุ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์