‘สตาร์ตอัปไทย’ เตรียมลุย IPO กระแสตอบรับลงทุนปรับตัวดีขึ้น

‘สตาร์ตอัปไทย’ เตรียมลุย IPO กระแสตอบรับลงทุนปรับตัวดีขึ้น

บริษัทสตาร์ตอัปหลายแห่งในไทยเตรียมออก IPO กันมากขึ้น หลังได้แรงหนุนเงินลงทุนจากกลุ่มเวนเจอร์ แคปิทัล และนักลงทุนรายใหญ่ทั้งไทย และต่างชาติ

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า มีบริษัทสตาร์ตอัปไทย จำนวนมากขึ้นที่กำลังเตรียมระดมทุนด้วยการขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) หลังจากได้ปัจจัยสนับสนุนด้านเงินทุนทั้งจากกลุ่มเวนเจอร์ แคปิทัล ตลอดจนบริษัทขนาดใหญ่ทั้งใน และต่างประเทศ 
 

รายงานระบุว่า "สกิลเลน" (SkillLane) ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีการศึกษาแถวหน้าในเมืองไทย เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแผนเตรียมออกไอพีโอภายหลังได้รับการลงทุนจากเวนเจอร์ แคปิทัล ของบริษัทไซเบอร์เอเจนท์ ซึ่งเป็นธุรกิจด้านโฆษณาออนไลน์จากประเทศญี่ปุ่น

ทางด้าน "บัซซี่บีส์" (Buzzebees) บริษัทเทคสตาร์ตอัปด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับรายย่อย ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 ก็มีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นกัน หลังจากที่มีการเติบโตจนมีลูกค้าเกือบ 5 แสนรายทั้งในไทย และอาเซียน และมีรายได้ต่อปีแตะระดับ 60 ล้านดอลลาร์ 

ในขณะที่บริษัท "บิทคับ แคปิทัล กรุ๊ป โฮลดิงส์" (Bitkub) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก็อยู่ในแผนเตรียมการเข้าตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน ซึ่งจากการสอบถามไปยังบิทคับ บริษัทเปิดเผยว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากแผนเดิมก่อนหน้านี้ที่จะออกไอพีโอในตลาดหุ้นไทย ภายในปี 2568 ขณะที่บริษัทเคยระบุก่อนหน้านี้ด้วยว่า การเข้าตลาดหุ้นจะช่วยผลักดันการขยายกิจการไปยังประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้าง "แชมป์ระดับภูมิภาค" 

นิกเคอิเอเชียระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเป็นเสมือน "ทะเลทรายสตาร์ตอัป" เนื่องจากตลาดเต็มไปด้วยการครองพื้นที่ของบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายเล็กกว่าเข้ามาแข่งขันได้  

"อีโคซิสเต็มของสตาร์ตอัปในประเทศไทยเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่แล้ว มีการพัฒนาดีขึ้นในหลายด้าน เช่น ไบโอเทคโนโลยี ฟู้ดเทค ดิจิทัล และเอไอ" เอสึเกะ มัตสึอุระ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) สาขากรุงเทพฯ กล่าว

รายงานระบุว่าสถานการณ์ที่ดีขึ้นไม่ได้มาจากเงินลงทุนของกลุ่มบริษัทเวนเจอร์ แคปิทัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมาจากบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัปอีกด้วย

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในผู้บ่มเพาะสตาร์ตอัปโดยเน้นที่ธุรกิจประเภทเทคโนโลยีอาหาร และได้สนับสนุนหลายบริษัทที่ทำด้านเนื้อทางเลือก ทั้งเนื้อจากพืช และโปรตีนจากแมลง ในขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็เพิ่งจัดงานเกี่ยวกับสตาร์ตอัปไปเมื่อกลางเดือนมิ.ย. โดยมีผู้แทนบริษัทต่างๆ เข้าร่วม และมีสตาร์ตอัปหลายรายที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในงาน เช่น "เดย์เวิร์ก" แพลตฟอร์มหางานในกลุ่มกิ๊กอีโคโนมี ซึ่งทำรายได้ต่อปีแตะระดับ 2.5 ล้านดอลลาร์ 

ทางด้านรัฐบาลไทยยังมีบทบาทในผลักดันธุรกิจเลือดใหม่ผ่านทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยกำลังขยายเงินอุดหนุน และกองทุนรวมเพื่อการลงทุน และได้ดำเนินการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการลงทุนในสตาร์ตอัป

อย่างไรก็ตาม หากเทียบในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ประเทศไทยยังถือว่าตามหลังในแง่ของภาพรวมธุรกิจสตาร์ตอัป จากการจัดอันดับอีโคซิสเต็มของสตาร์ตอัปทั่วโลกล่าสุดโดยบริษัทษัทวิจัยสตาร์ตอัปบลิงค์ในอิสราเอล พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 54 ตามหลังสิงคโปร์ซึ่งอยูในอันดับ 5 และอินโดนีเซียในอันดับ 36 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์