ยอดบริษัทล้มละลายใน 'ญี่ปุ่น' พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี

ยอดบริษัทล้มละลายใน 'ญี่ปุ่น' พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี

บริษัทล้มละลายในรอบครึ่งปีแรกของ 'ญี่ปุ่น' พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี พบยอดเพิ่ม 3 ปีติดต่อกัน ปัญหาหลักขาดแคลนแรงงาน-เงินเฟ้อสูง

สำนักข่าวเกียวโดรายงานอ้างการเปิดเผยของ บริษัทโตเกียว โชโก รีเสิร์ชว่า จำนวนบริษัทในญี่ปุ่นที่ประสบภาวะล้มละลายในรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ 4,931 ราย หรือเพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบปีที่แล้ว และนับเป็นการเพิ่มขึ้นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว 
 

รายงานระบุว่า การล้มละลายดังกล่าวซึ่งรวมถึงกรณีการมีหนี้สินคงค้าง 10 ล้านเยนขึ้นไป (เกือบ 2.3 ล้านล้านบาท) มีสาเหตุหลักๆ มาจากเรื่องการขาดแคลนแรงงานและภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในญี่ปุ่น

มีบริษัทถึง 374 แห่งที่อ้างเหตุผลเรื่องราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือมากกว่าปีที่แล้ว 23.4% ส่วนบริษัทอีก 327 แห่งอ้างเหตุผลเรื่องไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยที่ได้รับในช่วงโควิดระบาด 
 

ส่วนบริษัทที่อ้างเหตุผลเรื่องการขาดแคลนแรงงานนั้น แม้จะมีจำนวนเพียง 145 บริษัท แต่ก็เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 2.2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และยังสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจบริษัทล้มละลายในปี 2556 เป็นต้นมา

"ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกมาก ที่ไม่สามารถรับมือราคาต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าพวกเขาจะส่งต่อต้นทุนที่แพงขึ้นไปให้กับลูกค้าแล้วก็ตาม" เจ้าหน้าที่ของโตเกียว โชโก รีเสิร์ชกล่าว พร้อมระบุถึงความเป็นไปได้ที่อาจมีบริษัทล้มละลายทะลุ 10,000 แห่งต่อปี 

หากพิจารณารายละเอียดเป็นภาคอุตสาหกรรมจะพบว่า "ภาคการก่อสร้าง" มีสถิติบริษัทล้มละลายมากที่สุดเป็นอันดับสองที่ 947 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 20.6% จากผลกระทบข้อจำกัดเรื่องกฎการทำงานนอกเวลา (โอที) ที่เข้มงวดขึ้นซึ่งปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา และยังเป็นผลจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่แพงขึ้นด้วย 

เฉพาะในเดือน มิ.ย. เพียงเดือนเดียว อัตราการล้มละลายเพิ่มขึ้นถึง 6.49% เมื่อเทียบปีที่แล้ว อยู่ที่ 820 ราย โดยมีหนี้สินคงค้างราว 1.09 แสนล้านเยน   

หุ้นญี่ปุ่นพุ่งทุบสถิติใหม่ แต่ SME ตายเรียบ

บริษัทที่ล้มละลายทั้งหมดในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ มีจำนวนหนี้สินรวมกันทั้งหมดราว 721,040 ล้านเยน (ราว 1.63 แสนล้านบาท) หรือ ลดลง 22.8% เมื่อเทียบปีที่แล้ว เนื่องจากบริษัทที่ล้มละลายมีขนาดเล็กลง หรืออาจเรียกได้ว่าการล้มละลายในปีนี้เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น 

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่งพุ่งทะยานไปทำสถิติใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งดัชนี Nikkei 225 และดัชนี Topix เนื่องจากการคาดการณ์ว่า "ค่าเงินเยน" จะยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่โดยเฉพาะในภาคการผลิตและส่งออก แต่ไม่ใช่สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ในจำนวนบริษัทที่ล้มละลายช่วงครึ่งปีแรก คิดเป็นสัดส่วนบริษัทขนาดเล็กที่มีจำนวนพนักงานไม่ถึง 10 คน มากถึง 88.4% ของบริษัททั้งหมดที่ไปไม่รอด

หากเทียบกับในปี 2552 หรือช่วงวิกฤตซับไพรม์ 2009 ในสหรัฐแล้ว จำนวนบริษัทล้มละลายในญี่ปุ่นขณะนั้นอยู่ที่ 8,169 ราย และลดลงต่อเนื่องหลังจากนั้นแม้กระทั่งในช่วงการระบาดของโควิด เนื่องจากได้รับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ แต่ไม่ใช่สำหรับปีที่เผชิญภาวะของแพงและขาดแคลนแรงงานเหมือนในปีนี้