สงคราม ‘ฟาสต์ฟู้ด’ คนไม่มีกำลังซื้อ ร้านอาหารแข่งกันออกเมนู ‘ราคาประหยัด’
‘เงินเฟ้อ-เงินฝืด’ ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค จนเกิดสงคราม ‘ฟาสต์ฟู้ด’ ร้านอาหารทั่วโลกยอมแบกต้นทุนแพง แข่งกันออกเมนู ‘ราคาประหยัด’ ดึงดูดลูกค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย หลังรายได้หดในรอบหลายปี
ในยุคเศรษฐกิจฝืดและเงินเฟ้อพุ่งสูง ผู้บริโภคทั่วโลกหันมา “ประหยัด”มากขึ้น ส่งผลให้บรรดาธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอด หนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมคือการนำเสนอ "เมนูราคาประหยัด" ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังมองหาความคุ้มค่าได้กินอาหารในราคาที่ถูกลง แต่เหล่าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดกำลังแข่งขันกันมากขึ้น
รายงานจากธนาคารแบงค์ออฟอเมริกาในเดือนมิ.ย.ระบุว่า คนหนุ่มสาวกำลัง ลดการรับประทานอาหารนอกบ้านมาเป็นการรับประทานอาหารที่บ้าน และคิดถึงเรื่องราคาของสินค้าที่ต้องจ่ายมากขึ้น
ต้นปีที่ผ่านมา “สตาร์บัคส์” ประสบปัญหาเรื่องรายได้ที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ขณะเดียวกัน Yum! Brands บริษัทแม่ของเคเอฟซีเผชิญกับรายได้ที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี
สถานการณ์นี้ บีบให้ร้านอาหารต้องออกเมนูราคาประหยัดจนกลายเป็น“สงคราม”ฟาสต์ฟู้ดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แมคโดนัลด์ในนครนิวยอร์กที่มีเมนูอาหารเช้าราคา 5 ดอลลาร์ ประกอบด้วย ชีสเบอร์เกอร์ แซนด์วิชไก่ ไก่ทอดขนาดเล็ก เฟรนช์ฟรายส์ขนาดเล็กและเครื่องดื่ม ซึ่งจำหน่ายเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น
ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนมิ.ย.“สตาร์บัคส์” เปิดตัวเมนูราคาประหยัดในช่วงเช้าด้วยแซนด์วิชและกาแฟในราคา 6 ดอลลาร์ ลดลงราว 2 ดอลลาร์ จากปกติเซ็ตอาหารเช้าจะมีราคา 8.62 ดอลลาร์ ไปจนถึงเบอร์เกอร์คิง เวนดี้ส์ และอาร์บี้ส์ ทุกร้านพากันออกมีเมนูอาหารในราคาไม่เกิน 10 ดอลลาร์เช่นกัน
ก่อนหน้านี้ ร้านอาหารในสหรัฐตัดสินใจผลักดันต้นทุนวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังผู้บริโภค ด้วยการออกเมนู “บิ๊กแม็ค”มื้อใหญ่ในราคา 17.59 ดอลลาร์ แต่กลับมีเสียงวิภาควิจารณ์เพราะขายราคาแพงกว่าเมนูปกติมาก
ทั้งนี้ การแข่งขันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐเท่านั้น แต่การลดราคาอาหารยังเกิดขึ้นในเอเชียด้วย
ร้านอาหารใน’ญี่ปุ่น’ยอมแบกต้นทุนแพง
ผู้บริโภคใน “ญี่ปุ่น” ก็มีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าเช่นกัน เนื่องจากค่าแรงยังเติบโตช้าเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ
ร้านเคเอฟซีในญี่ปุ่น ลดราคาอาหารกลางวัน 16 เมนูลงเมนูละประมาณ 10 บาท ทั้งเมนูแซนด์วิช เครื่องดื่มและเฟรนช์ฟรายส์ ตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ลูกค้าน้อยลงเพราะมีการปรับราคาสินค้าบางรายการขึ้น 2 ครั้งในเดือนมี.ค.และต.ค.ปี 2566
กลุ่มร้านอาหารสกายลาร์ค โฮลดิ้งส์ หนึ่งในบริษัทร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ได้ ลดราคาอาหาร 30 รายการ คิดเป็น 16% ของเมนูทั้งหมด ที่ ร้านอาหารครอบครัวกุสโต้ ทั้งพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ชีสและเบียร์สด
ในขณะที่ ร้านอาหารทั่วโลกต่างพากันปรับขึ้นราคา เพื่อรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไซเซริยะ ร้านอาหารอิตาเลียนราคาประหยัดจากญี่ปุ่น กลับเลือกที่จะ "คงราคาเดิม" ซึ่งทำให้ ไซเซริยะมียอดขายสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 21.9% และ จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 19.1% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567
แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ฮิเดฮารุ มาสึทานิ ประธานบริษัท ยังคงยืนกรานว่า "นโยบายไม่ขึ้นราคาของเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลง"
ชาบูจีนลดราคาเกือบ 80%
ในประเทศจีน หนึ่งในประเทศที่ตลาดแรงงานกำลังอ่อนแอทำให้ผู้คนมองหาสินค้าราคาถูก
“ไหตี่เลา”ร้านชาบูเจ้าดังที่มีสาขากว่า 1,300 สาขาทั่วโลก เปิดตัวร้านอาหารราคาประหยัดที่เน้นบริการด้วยระบบอัตโนมัติแทนพนักงานเสิร์ฟดึงเส้นบะหมี่ด้วยลีลาเต้นรำที่ช่วยลดต้นทุน ทำให้สามารถตั้งราคาอาหารได้ถูกลง โดยลดราคาน้ำซุปชาบู ราคาเริ่มต้นเหลือ9.90 หยวน (ประมาณ 50 บาท) ถูกกว่าร้านไหตี่เลาแบบทั่วไปเกือบ 80%
ยงเหอคิง (Yonghe King) เครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขามากกว่า 450 สาขาในจีนกำลัง ตีตลาดกลยุทธ์ราคา โดยโฆษณาว่ามีอาหารเช้าราคาต่ำสุดเพียง 6 หยวนประกอบด้วย โจ๊ก หรือ ซุป 1 ถ้วย ไข่ต้ม 1 ฟอง และ ขนมปังปิ้ง 1 แผ่น ซึ่งถูกกว่าอาหารเช้าของร้านฟาสต์ฟู้ดแบรนด์อื่นๆ ในจีนมาก
กลยุทธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับตัวของบริษัทเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งยงเหอคิง หวังว่า กลยุทธ์ราคานี้จะช่วยดึงดูดลูกค้า ให้มาทานอาหารเช้าที่ร้านมากขึ้น
ร้านอาหารทั่วโลกเจอปัญหา
ทาเคชิ ทากายามะ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัย NLI วิเคราะห์สาเหตุที่ร้านอาหารในแต่ละประเทศใช้วิธีการลดราคาอาหารที่แตกต่างกันไป
ในสหรัฐ ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยเพราะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อหนักที่สุด ทำให้กำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ลดลง ทำให้ร้านอาหารจึงต้องลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า
ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะ “เงินฝืด” ประชาชนมีเงินในกระเป๋าน้อยลง ร้านอาหารจึงต้องลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย
ส่วนคนญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาค่าจ้างไม่ได้ปรับขึ้นตามสภาวะเงินเฟ้อ ผู้บริโภค จึงมีกำลังซื้อลดลง ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถขึ้นราคาได้และต้องลดราคาแทน
สงครามฟาสต์ฟู้ดสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและ กลยุทธ์ธุรกิจร้านอาหาร