ถอดวิกฤติ ‘ลาว’ หนี้ท่วม ทุนสำรองเหลือแค่ 1 เดือน ยกหุ้นโรงไฟฟ้าใช้หนี้ 'จีน'
สื่อนอกวิเคราะห์ 'วิกฤติค่าเงินกีบ - วังวนหนี้จีน' จากการปรับโยกย้ายล่าสุดในธนาคารกลาง 'ลาว' ชี้รัฐบาลอาจต้องขอความช่วยเหลือเพิ่มจากปักกิ่ง เพื่อหยุดกระแสเงินสดไหลออก
เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การโยกย้าย "บุนเหลือ สินไซวอละวง" ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสปป.ลาว หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 ปี นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่สะท้อนถึงปัญหาของลาวที่กำลังเต็มไปด้วย "หนี้สิน"
ตอนนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการที่สภาแห่งชาติของลาวมีมติเห็นชอบให้นายบุนเหลือ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติลาวนั้น เป็นเพียงการโยกย้ายไปยังตำแหน่งอื่นที่ท้าทายกว่าหรือเป็นการไล่ออก
แต่ในระหว่างการกล่าวอภิปรายในสภาเมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา นายสันติภาพ พรมวิหาร รัฐมนตรีคลังมีการกล่าวกระทบเป็นนัยถึงข้อบกพร่องของอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติรายนี้ จากความล้มเหลวที่ไม่สามารถเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวได้มากพอ
ผู้ที่จะมารับหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสปป.ลาวคนใหม่ก็คือ นางวัดทะนา ดาลาลอย รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ และรับไม้ต่อความท้าทายในภารกิจเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวไปด้วย
ในมุมมองของนายแบงก์ไม่เปิดเผยนามรายหนึ่งในอาเซียนที่มีการทำงานร่วมกับแบงก์ในลาว มองว่า การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดในธนาคารกลางของลาว ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว บ่งชี้ให้เห็นถึงความวิตกกังวลในหมู่ผู้นำของประเทศ เนื่องจากวิกฤติหนี้ต่างประเทศที่เลวร้ายลง
"ลาวไม่ต้องการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ" เขากล่าว "แต่ลาวก็ไม่ได้อยากเป็นหนี้กู้ยืม IMF เหมือนกัน เพราะจะมีผลกระทบทางการเมืองตามมา"
วงจรหนี้ไม่สิ้นสุด เงินกีบอ่อนค่าซ้ำเติม
จากข้อมูลของกระทรวงการคลังลาวนั้นเผยให้เห็น "วงจรหนี้ที่ไม่สิ้นสุด" (debt spiral) ที่ประเทศเพื่อนบ้านของจีนรายนี้กำลังดำดิ่งอยู่ โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นของหนี้ในปี 2566 ดังนี้
- มีหนี้สาธารณะที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ (external public debt) พอกพูนขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 950 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.44 หมื่นล้านบาท) จาก 507 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.83 หมื่นล้านบาท) ในปี 2565
- มีหนี้สาธารณะ และหนี้ที่ค้ำประกันโดยภาครัฐ (Public and Publicly Guaranteed) ทั้งที่กู้ยืมในประเทศ และนอกประเทศ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 108% ของจีดีพีประเทศ
- มีหนี้ต่างประเทศรวมทั้งหมดเป็น 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.80 แสนล้านบาท) ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่กู้ยืมมาจาก "จีน" ถึง 5.09 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.85 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 48%
ในทางกลับกัน "ทุนสำรองระหว่างประเทศ" ของลาว ณ สิ้นเดือนมี.ค. ปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,850 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.7 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น และรัฐบาลเวียงจันทน์ก็กำลังดิ้นรนที่จะเพิ่มเงินสำรองสกุลดอลลาร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศ
แหล่งข่าวในรัฐบาลลาวเปิดเผยว่า ประเทศมีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อปีประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 4.7 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2571 ขณะที่ รมว.คลังของลาว เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลต้องการเงินอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.62 แสนล้านบาท) เพื่อให้ครอบคลุม "ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ ที่เกี่ยวข้องกับหนี้"
ขณะเดียวกัน มูลค่าของ "เงินกีบ" ที่ดิ่งลงอย่างหนักยิ่งเพิ่มความบอบช้ำทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน เนื่องจากเศรษฐกิจของลาวพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างหนัก เงินดอลลาร์กลายเป็นที่ต้องการไม่เพียงแต่เพื่อใช้ชำระหนี้ต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังใช้ชำระค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภค และการลงทุนในประเทศด้วย โดยปัจจุบันมีการซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 21,500 กีบต่อดอลลาร์ หรือต้องใช้เงินกีบไปแลกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวกว่าจะได้ 1 ดอลลาร์ จากเดิมที่เคยแลกได้ที่ 11,500 กีบต่อดอลลาร์ในปี 2565 ซึ่งสะท้อนถึงการอ่อนค่าของเงินกีบอย่างรุนแรง
ทว่านั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งแผนการของรัฐบาลในการเพิ่มทุนสำรองเงินดอลลาร์
"ปีที่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในลาวได้รับคำสั่งให้อัดฉีดเงินกองทุนสกุลต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มเงินกองทุนในรูปดอลลาร์เป็นสองเท่าในงบ"
"ผู้ส่งออกในลาวอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องฝากเงินรายได้ในรูปดอลลาร์ไว้ในธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น" สถิตย์ แถลงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวกับนิกเคอิเอเชีย
หันพึ่ง 'จีน' เจ้าหนี้เบอร์ 1 - ยกหุ้นโรงไฟฟ้าแลกยกหนี้
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งกลับมองทางออกอีกทางหนึ่งว่า ลาวอาจจะกลับไปสู่เส้นทางเดิมๆ ในการแก้ปัญหาหนี้
เอมมา อัลเลน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศลาว ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ถ้าแหล่งทุนที่ไม่ใช่การก่อหนี้ไม่เพียงพอ ลาวก็อาจกลับไปใช้วิธีเดิมๆ คือ การก่อหนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่า พร้อมให้คำแนะนำว่ารัฐบาลลาวจำเป็นต้องจัดการปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาคเพื่อช่วยในการปรับปรุงอันดับเครดิตประเทศ ลาวจึงจะสามารถเข้าถึงตลาดด้วยต้นทุนที่ถูกลงได้
อีกวิธีหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกันก็คือ การยอมเจรจากับ "จีน" ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของลาวในขณะนี้
โทชิโระ นิชิซาวะ นักวิชาการจากญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับลาว กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนเลื่อนการชำระหนี้ให้ลาวมาตั้งแต่ปี 2563 และลาวยังมีการทำข้อตกลงสวอปกับธนาคารกลางจีน (PBOC) เพื่อช่วยเพิ่มทุนสำรองต่างประเทศจากที่มีอยู่เดิมประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ก่อนปี 2563 ไปเป็น 1.9 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมี.ค.2567
ขณะที่รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ประเมินว่า "ทุนสำรองต่างประเทศสุทธิของลาวซึ่งไม่รวมข้อตกลงสวอป" จะเพียงพอรองรับการนำเข้าสินค้า และบริการจากต่างประเทศได้เพียง "1 เดือน" เท่านั้น
"วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวในระยะสั้นก็คือ การรักษาทุนสำรองต่างประเทศเอาไว้ ไม่ให้รั่วไหลออกไปทางเจ้าหนี้จีน โดยการขอเลื่อนการชำระหนี้ และทำข้อตกลงสวอปต่อเนื่องอีก" นิชิซาวะซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายของรัฐบาลลาว กล่าวและระบุด้วยว่า นี่คือวิธีของลาวในการจัดการ และเอาตัวรอดจากหนี้ต่างประเทศให้ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นี้
จากข้อมูลเชิงสถิติของรัฐบาลลาวพบว่าในปี 2567 นี้ ลาวได้ขอเลื่อนการชำระหนี้ไปแล้ว 670 ล้านดอลลาร์ รวมสะสมเป็น 1,200 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
ส่วนการดำเนินข้อตกลงสวอปนั้น จากรายงานของสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้พบว่ามีตั้งแต่ข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุน (debt-for-equity swap) หรือการยกหนี้บางส่วนให้โดยแลกกับการเพิ่มสัดส่วนการเป็นเจ้าของในกิจการของรัฐบาลลาว เช่น โรงไฟฟ้า อีกส่วนหนึ่งคือ ข้อตกลงสวอปค่าเงินระหว่างแบงก์ชาติ เช่น ข้อตกลงสวอปค่าเงินหยวน-กีบ เพื่อช่วยเหลือลาวในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา
นิกเคอิเอเชียระบุว่า รัฐบาลลาวเคยเสนอการแปลงหนี้เป็นทุนแลกกับการถือหุ้นเพิ่มในบริษัทโรงไฟฟ้าของลาว รวมถึงแลกกับที่ดินที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในกรุงเวียงจันทน์ด้วย
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์การเมืองรายหนึ่งเปิดเผยว่า การแปลงหนี้เป็นทุนกับบริษัทจีน ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง และรัฐบาลลาวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงมีแต่จะยิ่งเพิ่มความโกรธแค้นต่อรัฐบาลมากขึ้น
หมายเหตุ: ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยตามเรตของ ธปท. วันที่ 16 ก.ค.67 ที่ 36.226 บาท/ดอลลาร์
ที่มา: Nikkei Asia
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์