ซีอีโอ ‘Panasonic’ เตือนพนักงาน! ตระหนัก ‘วิกฤติ’ ให้มาก พร้อมเร่งสร้างผลงาน

ซีอีโอ ‘Panasonic’ เตือนพนักงาน! ตระหนัก ‘วิกฤติ’ ให้มาก พร้อมเร่งสร้างผลงาน

ซีอีโอ ‘Panasonic’ ออกโรงเตือนผู้บริหาร หากไร้ไฟ ผลงานต่ำ เสี่ยงถูกปลด! เน้นย้ำพนักงานให้ตระหนัก ‘วิกฤติ’ มากขึ้น และเร่งสร้างผลงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “ยูกิ คุซุมิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ Panasonic) ของ “พานาโซนิค โฮลดิ้ง” (Panasonic Holdings) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า แบตเตอรี่อีวี และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ แสดงความเห็นว่า ผู้จัดการบริษัทจำเป็นต้องมีความรู้สึกถึง “วิกฤติ” มากขึ้น เนื่องจากบริษัทกำลังเผชิญกำไรสุทธิในระดับต่ำ และพนักงานจะถูกประเมินผลงานตามนี้ 

คุซุมิ กล่าวในบทสัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “ถ้าพนักงานไม่สามารถสร้างผลงาน พวกเขาก็จะต้องถูกแทนที่ เหตุผลที่ไม่สามารถสร้างผลงานได้ ก็เพราะขาดความรู้สึกถึงวิกฤติ”

คำกล่าวเหล่านี้ ถือเป็นการกระตุ้นที่รุนแรงผิดปกติสำหรับวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ Panasonic ซึ่งเคยยึดมั่นในแนวคิดของการจ้างงานตลอดชีวิตมาหลายปี

เมื่อสองเดือนที่แล้ว คุซุมิ ได้เตือนในระหว่างการสรุปกลยุทธ์ว่า บริษัทกำลังประสบปัญหาผลกำไรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และเขาวางแผนที่จะลดจำนวน “ธุรกิจที่มีปัญหา” ให้เหลือศูนย์ภายในเดือนมีนาคม 2027

ราคาหุ้น Panasonic ลดลง 4% ในปีนี้ หลังจากที่เพิ่มขึ้น 26% เมื่อปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ก็พุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

แม้ว่า Panasonic เคยเป็นผู้นำระดับโลกด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค แต่ปัจจุบัน บริษัทเป็นซัพพลายเออร์แบตเตอรี่รายสำคัญให้กับ Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐ และยังลงทุนด้านซอฟต์แวร์ ควบคู่ไปกับความพยายามรักษาความสำคัญในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อุตสาหกรรม โดยซีอีโอเผยว่า ภาวะความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อโรงงานแบตเตอรี่บางแห่งของบริษัท ซึ่งนำไปสู่การหยุดสายการผลิตบางส่วนที่โรงงาน Suminoe ในนครโอซาก้า

คุซุมิ กล่าวว่า “สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือ ผลกำไรที่จำเป็นตามความคาดหวังของนักลงทุน ยังไม่บรรลุเป้าหมาย แม้ว่าราคาหุ้นในญี่ปุ่นจะสูงขึ้น แต่หุ้นของเราก็ยังคงอยู่ที่ประมาณ 1,300 เยน”

สำหรับอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (Price/Book Value) ของ Panasonic อยู่ที่ 0.7 เท่าในขณะนี้ ซึ่งถือว่าต่ำ เมื่อเทียบกับบริษัท Hitachi ซึ่งเป็นบริษัทกลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อีกแห่งที่เคยปรับโครงสร้างองค์กร และขายสินทรัพย์ออกไปนั้น มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีที่ประมาณ 3 เท่า โดยถือว่าสูงกว่า Panasonic 

ตอนนี้ คุซุมิกำลังผลักดันให้มีการปรับปรุงผลกำไรของหน่วยธุรกิจที่ทำผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย ภายในสองปีข้างหน้า ขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาว่า Panasonic เป็น “เจ้าของที่ดีที่สุด” สำหรับธุรกิจเหล่านั้นหรือไม่ แม้ว่าจะไม่ได้หมายความว่ามีเป้าหมายที่จะขายกิจการเหล่านี้ออกไปโดยตรง แต่ซีอีโอชี้แจงว่า พวกเขาจะต้องสามารถพึ่งพาตัวเอง และอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง

หลังจากเข้ารับตำแหน่งซีอีโอในช่วงกลางปี 2021 คุซุมิพยายามที่จะหาเงินสดเพิ่มเติมเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต เขาตั้งเป้าหมายที่จะให้ได้ผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น 10% หรือมากกว่านั้น และให้ได้กำไรจากการดำเนินงานสะสม 1.5 ล้านล้านเยน ภายในสองปีงบประมาณ จนถึงเดือนเมษายนของปีหน้า

คุซุมิ กล่าวว่า “ผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูง เช่น ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ และประธานของหน่วยธุรกิจ จำเป็นต้องมี 'ความรู้สึกถึงวิกฤติ' ให้มากเกี่ยวกับผลงานที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย”


อ้างอิง: bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์