‘โตโยต้า’ เปิดตัวไฮบริดรุ่นใหม่ใน’อินโด’ รักษาแชมป์เบอร์ 1 สกัดดาวรุ่ง EV จีน

‘โตโยต้า’ เปิดตัวไฮบริดรุ่นใหม่ใน’อินโด’ รักษาแชมป์เบอร์ 1 สกัดดาวรุ่ง EV จีน

‘โตโยต้า’ ส่งไฮบริดรุ่นใหม่รักษาแชมป์ใน’อินโดนีเซีย’ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 90% สกัดดาวรุ่ง ‘อีวีจีน’ที่ตั้งเป้าบุกตลาดใหญ่ในอาเซียน วิจัยชี้คนอินโดยังกังวลราคาแพง-สถานีชาร์จไฟไม่เพียงพอ

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า “โตโยต้า มอเตอร์” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด “พรีอุส” (Prius) รุ่นล่าสุดในงาน Gaikindo Indonesia International Auto Show เพื่อรักาาส่วนแบ่งตลาดในอินดดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันโตโยต้าครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 90% ท่ามกลางการบุกตลาดของค่ายรถรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจำนวนมากขึ้นกำลังมุ่งเป้ามายังตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Prius รุ่นใหม่มีทั้งแบบไฮบริดธรรมดาและแบบปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งนำเข้ามาจากญี่ปุ่น โดยรุ่นไฮบริดธรรมดามีราคาอยู่ที่ประมาณ 698 ล้านรูเปียห์ (ราว 1.5 ล้านบาท)

ฮิโรยูกิ อูเอดะ หัวหน้าหน่วยธุรกิจอินโดนีเซียของโตโยต้ากล่าวถึงความสำเร็จของรถยนต์ไฮบริดที่ถูกพิสูจน์แล้วในตลาดต่างประเทศ โดยลูกค้าโตโยต้าในอินโดนีเซียจะได้ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ไฮบริดจากการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและคุ้มค่าสำหรับการจราจรที่หนาแน่นในจากาต้า

'อีวีจีน'รุกตลาดใหญ่อาเซียน

อินโดนีเซียถือเป็นฐานที่มั่นของโตโยต้า ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 90% โดยโตโยต้าและบริษัทในเครืออย่างไดฮัทสุที่มียอดขายมากกว่า 50% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ตามข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรม โดยค่ายรถยนต์จีนที่ใหญ่ที่สุดคือวูหลิง มอเตอร์ส (Wuling Motors) เซึ่งอยู่ในอันดับที่เก้าที่ประมาณ 3%

ขณะที่ วูหลิง มอเตอร์ส (Wuling Motors) เป็นค่ายรถยนต์จีนที่มีส่วนแบ่งตลาดในอินโดนีเซียมากที่สุดซึ่งอยู่ในอันดับที่ 9 ของตลาด แต่ยอดขายอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งห่างโตโยต้าอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์จีนพยายามเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดมีการลงทุนเพื่อสร่างโรงงานผลิตในประเทศอินโดนีเซีย

ในปีนี้ มีผู้ผลิตรถยนต์จีน 5 ราย อย่างเช่น บีวายดี (BYD)ขยายเข้าสู่ตลาดรถยนต์ของอินโดนีเซียเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา และ BAIC Motor  ซึ่งเป็นบริษัทในเครือรัฐบาลจีนได้เปิดตัวในงานแสดงรถยนต์ประจำปีของอินโดนีเซีย พร้อมนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นล่าสุดด้วย

โครงสร้างพื้นฐานรองรับรถ'อีวี'ต้องพร้อม

รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งรัดให้ประชาชนเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060  จะช่วยให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งแร่ธาตุ "นิกเกิล” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

ทั้งนี้ อินโดนีเซียยังมีอุปสรรคหลายประการที่ต้องเอาชนะ เพื่อให้เป้าหมายนี้บรรลุเป้าหมายนี้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จไฟฟ้า ปัจจุบันอินโดนีเซียมีสถานีชาร์จไฟฟ้าเพียงประมาณ 1,400 แห่งที่กระจุดอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ซึ่งน้อยกว่าสหรัฐอที่มีมากกว่า 68,000 แห่ง

บริษัทวิจัยมิลิเยอ อินไซต์ ทำการสำรวจความเห็นพบว่า คนอินโดนีเซียยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาและโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการชาร์จไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

  • 47% บอกว่าราคาแพงเป็นอุปสรรคหลักในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
  • 42% บอกว่า สถานีชาร์จไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ
  • 38% กังวลเกี่ยวกับ ระยะทาง ที่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งได้
  • 27% กังวลเกี่ยวกับ การขาดแคลน ช่างซ่อมและอะไหล่รถยนต์ไฟฟ้า

ด้วยเหตุนี้ รถยนต์ไฮบริดจึงยังคงเป็นที่สนใจของผู้บริโภคในประเทศ ตามข้อมูลล่าสุดของ Gaikindo ในปี 2566 ยอดขายรถยนต์ไฮบริดในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 5.2 เท่า เป็นประมาณ 54,000 คัน  ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เพิ่มขึ้นเกือบ 70% เป็นประมาณ 17,000 คัน

คนอินโดกู้เงินซื้อรถเกือบ80%

อย่างไรก็ดี  ฟิตช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings)สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเผยรายงานว่ายอดขายรถยนต์ในอินโดนีเซีย ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ไม่น่าจะพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายในเดือนเมษายน 2567 ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อรถที่สูงขึ้น ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดตึงตัวและผู้บริโภคมีเงินทุนจำกัดในการซื้อรถยนต์

ข้อมูลจากฟิตช์ ระบุว่า ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียประมาณ 80% ใช้บริการสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงส่งผลต่อกำลังซื้อของพวกเขาโดยตรง โดยฟิตช์คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ในอินโดนีเซียปี 2567 จะลดลงเหลือประมาณ 900,000 คัน

อ้างอิง Nikkei