เปิดโฉม 'บิ๊กคอร์ป' เหยื่อระบบล่มทั่วโลก สายการบินจนถึงตู้ ATM มีใครบ้าง
ตั้งแต่ตู้ ATM ไปจนถึงสายการบิน ผลกระทบจากเหตุระบบไอทีล่มเมื่อวันศุกร์ขยายวงกว้างไปแทบจะทุกอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ตั้งแต่สหรัฐจนถึงเอเชีย แต่ผู้รอดชีวิตคือ ios, Linux และธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้เป็นลูกค้าบริษัทไซเบอร์ซีเคียวริตีส์เจ้าปัญหา Crowdstrike
เหตุการณ์ระบบไอทีล่มไปทั่วโลกเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.ค. และนักวิเคราะห์บางรายมองว่าอาจจะเป็นเหตุการณ์ "ระบบล่มครั้งใหญ่ที่สุด" เท่าที่เคยมีมา เป็นเพราะการล่มครั้งนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับบริษัทขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าจำนวนมาก เช่น สายการบิน ธนาคาร ระบบรับชำระเงิน ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สื่อมวลชน ไปจนถึงหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล
ปัญหาดังกล่าวเกิดจากข้อบกพร่องของซอฟต์แวร์ Falcon Sensor ของบริษัท "คราวด์สไตรค์" (Crowdstrike) เบอร์ใหญ่ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีส์ในสหรัฐ ขณะที่ทางบริษัททำการอัปเดตระบบ Microsoft Windows จนทำให้เกิดกระแสข่าวขึ้นในช่วงแรกว่าเป็นปัญหาวินโดว์สล่มทั่วโลก ส่วนระบบปฏิบัติการณ์ iOS ของแม็คจากค่ายแอปเปิ้ล อิงค์ และระบบปฏิบัติการณ์ Linux ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของบริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่รายนี้
แต่นั่นไม่ใช่สำหรับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มีกำลังซื้อระบบความปลอดภัยไซเบอร์ขั้นสูง และคราวด์สไตรค์เคยระบุว่ามีลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในลิสต์ 1,000 บริษัทของนิตยสารฟอร์จูน มากถึง 538 แห่ง
"เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์นี้จะมีขนาดใหญ่มาก" อลัน วูดเวิร์ด ศาสตราจารย์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์กล่าวกับบลูมเบิร์ก
สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งได้ประมวลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมต่างๆ และบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ดังนี้
การบิน
เว็บไซต์ด้าน ข้อมูลการบิน FlightAware เปิดเผยว่า มีเที่ยวบินทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบมากถึงกว่า 21,000 เที่ยวบินเมื่อวานนี้ ทั้งที่ถูกแคนเซิลและดีเลย์ช้าออกไปจากกำหนดการเดิม จนส่งผลให้มีผู้โดยสารติดค้างที่สนามบินทั่วโลกเป็นจำนวนมาก และคาดว่าผลกระทบจากการบินที่รวนไปหมดในครั้งนี้จะยังมีต่อเนื่องไปอีกหลายวัน
ในทวีป "อเมริกาเหนือ" โดยเฉพาะสหรัฐมีการรายงานปัญหาในสายการบินหลายแห่ง อาทิ American Airlines, United Airlines และ Delta Air Lines อเมริกัน แอร์ไลนส์ เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า สายการบินหลายแห่งรวมถึงตนเองเจอปัญหาขัดข้องทางเทคนิคตั้งแต่เช้ามืดวันศุกร์ ก่อนที่ตนจะกลับมาให้บริการได้ในเวลาประมาณ 05.00 น.ตามเวลาฝั่งตะวันออก
ขณะที่เดลต้าและยูไนเต็ดก็เริ่มให้บริการได้ในช่วงเช้า แต่ยูไนเต็ดก็เตือนด้วยว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน เพราะมีหลายระบบที่ถูกกระทบ เช่น การคำนวณน้ำหนักเที่ยวบิน การตรวจเช็กผู้โดยสาร และระบบโทรศัพท์ของคอลเซ็นเตอร์
สายการบินโลว์คอสต์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อาทิ SunCountry, Allegiant Air, Frontier และ Spirit Airlines นอกจากนี้ยังมีสายการบิน Porter Airlines ในแคนาดา และสายการบินโลว์คอสต์ Volaris และ Viva Aerobus ในเม็กซิโกด้วย
ในขณะที่ Southwest Airlines และ Jet Blue ไม่ได้รับผลกระทบจากระบบล่ม
ส่วนทางด้านท่าอากาศยานนานาชาติ หรือ "สนามบิน" หลายแห่งในสหรัฐต่างก็ได้รับผลกระทบ อาทิ
- ลอสแอนเจลิส (LAX) เจอปัญหากระเป๋าเดินทางสลับกันไปหมดจากผลพวงเที่ยวบินที่ล่าช้าหรือถูกยกเลิก
- ดัลลัส ฟอร์ธ เวิร์ธ (DFW) เจอปัญหาเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิกตลอดทั้งวันศุกร์ สนามบินต้องขอให้ผู้โดยสารตรวจสอบกับสายการบินก่อนจะเดินทางมาสนามบิน
- ชิคาโก โอแฮร์ (ORD) ขอให้ผู้โดยสารตรวจสอบกับสายการบินโดยตรงและให้เผื่อเวลามากๆ เพราะกระบวนการที่ล่าช้า
- จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (JFK) ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาระบบล่ม แต่มีสายการบินบางแห่งที่เจอปัญหา และได้แนะนำให้ผู้โดยสารเช็กกับสายการบินก่อน โดยไม่ต้องมาสนามบินจนกว่าจะยืนยันได้ว่าเที่ยวบินไม่ถูกยกเลิก แนวทางปฏิบัตินี้ยังใช้กับสนามบินลาการ์เดีย (LaGuardia) และ นวร์ก (Newark) ด้วย
- ไมอามี (MIA) ระบุว่าการทำงานของฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ (ตม.) เกิดขัดข้องทั่วประเทศ จึงขอให้ผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าใจถึงขั้นตอนการตรวจที่ต้องปรับมาใช้ระบบแมนวลและล่าช้ากว่าปกติ
สำหรับ "เอเชีย-แปซิฟิก" สายการบิน AirAsia พบปัญหาที่ระบบการจองและเช็กอิน เช่นเดียวกับสายการบิน Cebu Pacific Air ที่ต้องปรับมาใช้ระบบแมนวล
ด้าน Singapore Airlines ระบุว่าไม่ได้เกิดปัญหาจนส่งผลกระทบถึงเที่ยวบิน แต่มีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคอยู่บ้าง ส่วน Qantas มีปัญหาขัดข้องจนทำให้เที่ยวบินบางส่วนล่าช้า
สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ พบปัญหากับสายการบิน Air Premia, Easter Jet และอีกหลายสายการบิน แต่ Korean Air ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของเกาหลีใต้ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบเพราะใช้ระบบ Amazon Web Services (AWS)
สนามบินเถาหยวน ไต้หวัน ระบุว่ามีสายการบินหลายแห่งได้รับผลกระทบ เช่น Jetstar, Hong Kong Express, Jeju Air และ Scoot ซึ่งต้องปรับมาใช้ระบบเช็กอินแบบแมนวลแทน
สนามบินอินทิรา คานธี อินเดีย และสายการบิน 6 แห่งในอินเดียรายงานพบปัญหาทางเทคนิค ขณะที่สนามบินจัยปุระ ระบุว่าเที่ยวบินทั่วประเทศได้รับผลกระทบจากระบบล่ม
การเงิน
ตู้เอทีเอ็มกดเงินสด "หลายพันเครื่อง" ของธนาคาร JPMorgan Chase ไม่สามารถใช้ทำธุรกรรมได้ และไม่สามารถหันไปทำธุรกรรมหน้าเคาท์เตอร์ที่ธนาคารแทนเช่นกัน ก่อนที่ตู้เอทีเอ็มจะกลับมาใช้งานได้ในช่วงเย็น-ค่ำวันศุกร์
บรรดานายแบงก์ของธนาคาร JPMorgan Chase ธนาคาร Nomura และธนาคาร Bank of America ไม่สามารถเข้าระบบส่วนหนึ่งเพื่อทำงานได้ ส่วนฝ่ายซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ Haitong Securities ไม่สามารถดำเนินการได้นานถึง 3 ชั่วโมง
ด้านตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (LESG) พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเว็บไซต์เผยแพร่ข่าวสารและประกาศของบริษัทจดทะเบียนผ่านบริการ RNS ได้ แต่ได้รับการแก้ไขกลับมาได้ในที่สุด
บริษัทมาร์ช (Marsh) ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ประกันภัยรายใหญ่ที่สุดในโลกเปิดเผยว่า มีลูกค้าจำนวนมากที่กำลังเตรียมยื่นเรื่องขอเคลมเงิน "ประกันภัยไซเบอร์" จากเหตุการณ์ระบบล่มครั้งใหญ่ โดยมีลูกค้ามากกว่า 75 รายแล้ว ที่ติดต่อแจ้งบริษัทเข้ามาว่าอาจจะขอเคลมประกันภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เฮลท์แคร์
บรรดาแพทย์ของ National Health Service ในสหราชอาณาจักร ไม่สามารถเข้าถึงระบบสแกน ผลตรวจเลือด และประวัติของผู้ป่วยได้
ด้านศูนย์โรคมะเร็ง Memorial Sloan Kettering ในนิวยอร์ก และ Mass General Brigham ในบอสตัน สหรัฐ เตือนว่าระบบล่มในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วย ในขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งในยุโรปต้องปิดให้บริการคลีนิคบางแห่งและยกเลิกขั้นตอนบางอย่างลงชั่วคราว
ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินและแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 911 ในนิวยอร์ก รายงานว่าได้รับผลกระทบจากระบบล่มเช่นกัน ส่วน 911 ในนิวแฮมป์เชอร์เจอปัญหาคนโทรแจ้งเหตุแต่ไม่สามารถพูดสายตอบกลับได้ แต่แก้ปัญหาขัดข้องได้ตามมาในภายหลัง
ยานยนต์
บริษัทรถยนต์ฝรั่งเศส Renault ต้องเลื่อนไลน์การผลิตรถรุ่น Kangoo ที่โรงงาน Maubeuge ไปเป็นช่วงบ่ายวันศุกร์ และเลื่อนการผลิตที่โรงงาน Douai เนื่องจากบริษัทซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับผลกระทบ
ด้านอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Tesla Inc. ระบุผ่านแพลตฟอร์ม X ว่า จะหยุดใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทคราวด์สไตรค์ และได้ลบซอฟต์แวร์ดังกล่าวออกจากระบบของเทสลาไปแล้ว หลังจากเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าระบบล่มทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อซัพพลายเชนของเทสลา