จากผ้าอ้อมเด็กสู่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 'อนาคตทำเงินอยู่ที่คนแก่'
โลกเผชิญวิกฤติ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ และอัตราการเกิดลดลง ทำให้บริษัทผู้ผลิตผ้าอ้อมเด็กต้องปรับตัว บุกตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จนกลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่
KEY
POINTS
- แอฟริกาเหนือ เอเชียตะวันตกและแอฟริกาใต้ จะเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในอีก 30 ปี
- บริษัทญี่ปุ่นปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง มุ่งเป้าไปที่ลูกค้าประชากรสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2533 แล้ว
- มูลค่าตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ทั่วโลกในปี 2566 มีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ สวนทางผ้าอ้อมเด็กที่มียอดขายลดลง บางบริษัทถึงขั้นเลิกผลิต
เมื่อโลกกำลังเข้าสู่สังคม “ผู้สูงอายุ” องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "แนวโน้มทั่วโลกที่ไม่สามารถย้อนกลับได้" สาเหตุหลักมาจาก อายุขัยที่ยาวนานขึ้นและอัตราการเติบโตของครอบครัวที่น้อยลง จากรายงาน UN ในปี 2566 ระบุว่า จำนวนประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เป็น 1.6 พันล้านคนภายในปี 2593
ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศ ”ญี่ปุ่น” เนื่องจากสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนคู่รักที่ตัดสินใจมีลูกลดลง โดยในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นเผยจำนวนทารกแรกเกิดลดลงเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน โดยแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 727,277 คน ในปี 2566
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นรายงานว่าเมื่อปีที่แล้วเกือบ 30% ของประชากรญี่ปุ่นมีอายุ 65 ปีขึ้นไปและมีประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไป 1 ต่อ 10 คน ทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีประชากรอายุมากที่สุดในโลก
การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุส่งผลต่อตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยเช่นกัน โดยความต้องการ "ผ้าอ้อมผู้ใหญ่”ในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการผ้าอ้อมเด็กลดลง
ตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่โตวันโตคืน
ยูโรโมนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลบริษัทวิจัยตลาดชั้นนำของโลกระบุว่า มูลค่าตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ทั่วโลกในปี 2566 มีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเติบโตไปอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2569
สำหรับตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นมีมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 และคาดว่าจะเติบโตไปอยู่ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2569 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 12% ของตลาดโลก
ดังนั้น ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นหันมาจับตลาดผู้สูงวัยเพื่อหารายได้ทดแทนผ้าอ้อมเด็กทารก หลังยอดขายลดฮวบตามอัตราการเกิดที่ลดลง
“ไดโอ เปเปอร์”บริษัทผู้ผลิตผ้าอ้อมเด็กในญี่ปุ่นกำลังลงทุนในตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ หลังจากรายได้เพิ่มขึ้นกว่าผ้าอ้อมเด็กถึง 2 เท่า โดย นาโอโตะ ซูงายะ ผู้จัดการโรงงานกล่าวว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี
แม้ว่ายอดขายผ้าอ้อมเด็กจะลดลง แต่เคนจิ นาคาตะ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Daio Paper กล่าวว่ายังไม่มีแผนที่จะหยุดผลิตผ้าอ้อมเด็ก แต่จะมุ่งเน้นไปที่ตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นหลักมากขึ้น
ขณะที่ “โอจิ โฮลดิ้งส์” ผู้ผลิตผ้าอ้อมอีกเจ้าได้ประกาศเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่าจะหยุดผลิตผ้าอ้อมเด็กสำหรับตลาดญี่ปุ่นในปลายปีนี้ เพื่อมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมการขับถ่าย
บริษัทระบุว่าจะยังคงดำเนินธุรกิจผ้าอ้อมเด็กในต่างประเทศต่อไป โดยยอดขายผ้าอ้อมเด็กใน จีน อินโดนีเซียและมาเลเซียมีการเติบโต แม้ว่าตลาดภายในประเทศจะชะลอตัว โดยในปี 2566 บริษัทมียอดขายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มากกว่าผ้าอ้อมเด็กถึง 7.3%
บริษัทญี่ปุ่นปรับตัวรับ ‘สังคมสูงอายุ’
บริษัทญี่ปุ่นอื่น ๆ ได้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ไปแล้ว อย่างพานาโซนิค ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเป้าไปที่ประชากรสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2533 แล้ว
บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว “โซจิรุชิ” นำเสนอ คุณสมบัติผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เช่น กาต้มน้ำไฟฟ้าที่สามารถส่งอีเมลไปยังที่อยู่อีเมลที่ลงทะเบียนไว้เมื่อใช้งาน เพื่อให้ญาติสามารถติดตามกิจกรรมของผู้สูงอายุในครอบครัวได้
เอเชียเผชิญวิกฤตประชากรสูงอายุ
ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศเดียวในเอเชียที่เผชิญกับปัญหาประชากรสูงอายุ โดยเกาหลีใต้มีอัตราการเกิดต่ำสุดของโลก รายงานเผยว่าอัตราการเกิดลดลงเฉลี่ยแล้วมีผู้หญิงเกาหลีใต้ 1 คน มีลูกเพียง 0.72 คน ในปี 2566 จากเดิม 1 ต่อ 0.78 คนในปี 2565 ทำให้รัฐบาลมีความกังวลอย่างมาก จึงได้จัดตั้งกระทรวงรับมืออัตราการเกิดต่ำขึ้น ทั้งนี้อัตราการเกิดยังลดลงในฮ่องกง จีนและไต้หวันด้วย
เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2566 “ฟุมิโอะ คิชิดะ”นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผย มาตรการกระตุ้นการมีบุตรมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังหาวิธีรับมือกับวิกฤตประชากรสูงอายุที่อาจส่งผลกระทบต่อกองทุนบำนาญ และระบบสาธารณสุข เนื่องจากจำนวนแรงงานลดลงสวนทางความต้องการของประชากรสูงอายุเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ UN ระบุว่าภายในปี 2593 จะมี 6 ประเทศหรือดินแดนในเอเชีย ติด10 อันดับแรกของประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุด ขณะที่รายงานชี้ว่าแอฟริกาจะเป็นภูมิภาคเดียวที่มีประชากรผู้สูงอายุ น้อยกว่า 15% ของประชากรทั้งหมด ส่วนยุโรป อเมริกาเหนือและละตินอเมริกาและแคริบเบียน จะมีผู้สูงอายุ เกิน 30% ของประชากร
แม้ว่าปัจจุบัน ยุโรปและอเมริกาเหนือจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุด แต่แอฟริกาเหนือ เอเชียตะวันตกและแอฟริกาซาฮาราใต้ คาดว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในอีก 30 ปีข้างหน้า