รถไฟ ‘ไทย-ลาว’ ฝันเชื่อมอาเซียนที่มาพร้อมความเสี่ยงลมใต้ปีก 'จีน'
รฟท.เปิดเส้นทาง ‘กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์’ กระตุ้นการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าสู่ ‘จีน’ หรือเป็น ‘กับดัก’ ที่จีนวางไว้เพื่อขยายอธิพลทั่วเอเชีย ผ่านรถไฟ ‘จีน-ลาว’ ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดให้บริการเดินรถไฟโดยสารเส้นทางใหม่ กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 67 ซึ่งมีระยะทางประมาณ 650 กิโลเมตรและเป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย IGNITE Thailand’s Tourism ของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงการเดินทางของประเทศอาเซียน ASEAN’s Connectivity พร้อมกับเชื่อมต่อเศรษฐกิจและการค้า
รฟท. คาดว่าการเปิดให้บริการรถไฟไทย-ลาว จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ชาวจีน เดินทางมายังกรุงเทพฯ ผ่าน สปป.ลาว ได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาโครงการรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าไปยังจีน เนื่องจากสถานีรถไฟ “คัมสะหวาด” ซึ่งเป็นสถานีปลายทางในสปป.ลาว อยู่ห่างจากสถานีเวียงจันทน์เพียง 10 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงที่เปิดให้บริการไปยังเมืองคุนหมิงทางใต้ของจีนได้
รถไฟไทยเชื่อมจีน หวังชูท่องเที่ยว-ส่งออก
เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้ เกิดขึ้นหลังจากเส้นทางขนส่งสินค้า “ระยอง-เฉิงตู” ได้เปิดทำการเมื่อ ธ.ค.ปี 2566 พร้อมกับเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่าง “กรุงเทพฯ-ฉงชิ่ง" ของจีนก็เปิดดำเนินการเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางขนส่งสินค้า ล้วนใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีนเป็นเส้นทางหลักสำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับภูมิภาคอาเซียน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านประเทศเพื่อนบ้านคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 17% เป็น 250,000 ล้านบาทในปีนี้
นอกจากนี้รายงานระบุว่า ระบบโลจิสติกส์ผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการค้าข้ามพรมแดนและการขนส่งสินค้า โดยในช่วงแรก สินค้าที่ขนส่งส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียนและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ และมีความคาดหวังว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเองจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ศุลกากรนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เผยรายงานการรับรองการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านทางรถไฟจีน-ลาวในปีนี้รวมอยู่ที่ 3.02 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.01 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.09 หมื่นล้านบาท) จนถึงวันที่ 15 ก.ค. ซึ่งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 29.1% และส่งออกเพิ่มขึ้น 61.9% จากปีก่อน
สื่อจีนระบุว่าทางรถไฟจีน-ลาว ได้สนับสนุนการขนส่งสินค้าแบบสองทาง โดย "ส่งออก" ผลิตภัณฑ์จักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตในจีน และ "นำเข้า" ยางพารา ผลไม้เขตร้อนจากลาวและไทย ทำให้ในปัจจุบัน "ผลไม้" กลายเป็นสินค้านำเข้าหลักบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว แซงหน้า “แร่เหล็ก”ไปแล้ว
ASEAN Express ส่งสินค้ามาเลเซียสู่ ‘จีน’
ประเทศมาเลเซียก็มีการเปิดตัวบริการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟที่เรียกว่า “ASEAN Express” เมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเส้นทางเริ่มต้นจากรัฐสลังงอร์ใกล้กับกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงของมาเลเซีย วิ่งตัดผ่านประเทศไทย ลาว และสิ้นสุดที่ฉงชิ่งของจีน โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 9 วัน ซึ่งรวดเร็วกว่าการขนส่งทางทะเลที่ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์
KTMB แสดงความมั่นใจว่า รถไฟสายนี้ "จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า" ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
ขบวนรถไฟเที่ยวแรกออกเดินทางจากมาเลเซียเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน บรรทุกสินค้าประเภท ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าอื่นๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่รัฐบาลจีน อนุมัติให้มีการส่งออก “ทุเรียนสด” จากมาเลเซียไปจีนได้ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนคาดการณ์ว่า การส่งออกทุเรียนไปจีนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โอกาสที่มาพร้อมความเสี่ยง 'จีน'
เส้นทางรถไฟทั้ง 2 สาย ได้แก่ เส้นทางรถไฟไทย-ลาว และ ASEAN Express มีมาเลเซียและไทย เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ ซึ่งเชื่อมต่อกับ "เส้นทางรถไฟลาว-จีน" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) ของจีนที่มีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายรถไฟขนาดใหญ่ทั่วเอเชีย ก็ทำให้นักวิเคราะห์บางคนมองว่าอาจเกิดความเสี่ยงว่าอิทธิพลของจีนจะเพิ่มมากขึ้นและก่อให้เกิดความกังวลด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจได้
ศาสตราจารย์ อิจิโร่ คากิซากิ จากมหาวิทยาลัยโยโกฮามาประเทศญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนศึกษา สะท้อนมุมมองของปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะมีความต้องการมองน้อยเพียงใด แต่ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่า ASEAN Express เป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าการขนส่งสินค้าทางเรือ อาจ "กระตุ้นให้เกิดการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่" เปลี่ยนแปลงวิธีการขนส่งสินค้าในภูมิภาค
แม้จะมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากมายจากการเชื่อมโยงระบบเส้นทางรถไฟในอาเซียนไปสู่จีน ทว่าโอกาสนี้ก็มาพร้อมสัญญาณเตือนบางประการ
ผู้บริหารบริษัทโลจิสติกส์ญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในเวียงจันทน์ กล่าวว่า "หากจีนเข้าควบคุมการดำเนินงานรถไฟ บริษัทต่างชาติจะไม่สามารถทำกำไรได้"
สำหรับ "ลาว" หนี้สาธารณะของ สปป.ลาวที่เป็นส่วนหนี้ต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และคาดว่าครึ่งหนึ่งเป็นหนี้จีน หาก สปป.ลาวไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ ประเทศอาจติดอยู่ใน "กับดักหนี้" ซึ่งจะเอื้อให้จีนจะเข้าเทกโอเวอร์โครงสร้างพื้นฐานในลาวได้
ทว่าสำหรับ "ไทยและมาเลเซีย" นั้นแม้จะไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิในการดำเนินงานรถไฟ เพราะต่างทั้งสองประเทศก็ดำเนินการเอง แต่การที่ต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟลาว-จีน ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของปักกิ่งเพิ่มขึ้นด้วย