Intel จ่อเลิกจ้างพนักงาน 15,000 คน หลังกำไรดิ่งเหว 85% จากยอดขายชิป AI ซบเซา
Intel กำไรดิ่งเหว 85% วิกฤติยอดขายชิป AI ซบเซา หลังใบอนุญาตชิปให้ ‘หัวเว่ย’ หมดอายุ ฉุดหุ้นร่วง 20% สวนทางคู่แข่ง AMD เตรียมลดต้นทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คือการปลดพนักงาน 15,000 คน
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า “อินเทล” (Intel) วางแผนเลิกจ้างพนักงาน 15,000 ตำแหน่ง หลังจากรายงานผลกำไรไตรมาสที่ 2 ลดลง 85% จากปีก่อน สวนทางคู่แข่ง AMD ที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นจากยอดขายชิป AI ที่แข็งแกร่ง
Intel รายงานรายได้ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า กำไรสุทธิลดลง 85% เหลือ 83 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ AMD มีรายได้เพิ่มขึ้น 9% เป็น 5.8 พันล้านดอลลาร์ กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 19% เป็น 1.1 พันล้านดอลลาร์ ทำให้หุ้น Intel ร่วงลงกว่า 20%
แพต เกลซิงเกอร์ ซีอีโอของ Intel และเดวิด ซินส์เนอร์ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน กล่าวในแถลงการณ์ผลประกอบการว่า ผลกำไรในไตรมาสที่ 2 น่าผิดหวัง แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง "การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ AI PC ที่รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายส่วนอื่นนอกเหนือจากธุรกิจและการผลิตหลักทำให้ผลประกอบการในไตรมาสนี้อ่อนแอ
นอกจากนี้ การเพิกถอนใบอนุญาตส่งออกผลิตภัณฑ์บางรายการไปยัง”หัวเว่ย”(Huawei) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อรายได้ในไตรมาสนี้ด้วย และการควบคุมการส่งออกไปยังจีนของสหรัฐจะยังคงมี "ผลกระทบเชิงลบเล็กน้อย" ในไตรมาสปัจจุบันยาวไปจนถึงเดือนก.ย.
หัวเว่ยถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชีดำของการควบคุมการส่งออกของสหรัฐ เป็นครั้งแรกในปี 2019 แต่มีการอนุญาตให้บริษัทบางแห่งรวมถึง Intel สามารถส่งชิปบางประเภทให้หัวเว่ยได้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภค อย่างไรก็ตามในปี 2567 สหรัฐได้เพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว หลังจากหัวเว่ยเปิดตัวแล็ปท็อป MateBook X Pro ที่ใช้ชิปของ Intel ทำให้หัวเว่ยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุดจากสหรัฐได้อีกต่อไป
ในขณะที่ Nvidia กำลังขยายความเป็นผู้นำในด้านชิป AI ในฐานนะเบอร์ 1 ของโลก AMD และ Intel กำลังแข่งขันกันเพื่อชิงตำแหน่งอันดับ 2 ด้วยการลงทุนในพีซีที่ใช้ AI โดยยอดขายของ AMD มีการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่ามากในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
Intel วางแผนลดต้นทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์
Intel มีเป้าหมายที่จะ "เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาด" ด้วยการลดต้นทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568 หนึ่งในนั้นคือการลดจำนวนพนักงานประมาณ 15,000 คน หรือ 15% ของแรงงานทั้งหมด
เกลซิงเกอร์ อธิบายในบันทึกถึงพนักงานว่า “รายได้ของเราไม่ได้เติบโตตามที่คาดหวัง และไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทรนด์ที่มีพลัง เช่น AI เนื่องจากต้นทุนของบริษัทที่มีราคาสูงเกินไป และอัตรากำไรที่น้อยเกินไป ดังนั้นบริษัทจำเป็นต้องดำเนินการที่เด็ดขาดมากขึ้นเพื่อแก้ไขทั้งสองปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานทางการเงินและแนวโน้มสำหรับครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งยากลำบากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้"
เชื่อตลาด PC AI จะเติบโต 50%
เกลซิงเกอร์มองว่า การลงทุนในชิป AI PC และโรงหล่อจะสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
"เราได้จัดส่งพีซี AI Windows มากกว่า 15 ล้านเครื่อง นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนธ.ค.67 ซึ่งมากกว่าคู่แข่งรวมกันหลายเท่า ตามที่ Intel ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การลงทุนของบริษัทมุ่งไปที่การขับเคลื่อน พีซี AI ซึ่งจะกดดันอัตรากำไรในระยะสั้น แต่เชื่อว่านี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า โดยพีซี AI จะเติบโตจากน้อยกว่า 10% ของตลาดในปัจจุบัน เป็นมากกว่า 50% ในปี 2569
ปัจจุบัน Intel เป็นผู้ผลิตชิปเพียงรายเดียวของสหรัฐที่ยังคงดำเนินการโรงหล่อของตนเอง โดยบริษัทกำลังจะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุด 8.5 พันล้านดอลลาร์ และเงินกู้ 11 พันล้านดอลลาร์ จากรัฐบาลสหรัฐเพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูง ภายใต้พระราชบัญญัติ CHIPS and Science ซึ่ง Intel จะใช้เงินสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ในการสร้างโรงหล่อรวมถึงโรงงานผลิตชิปและโรงงานบรรจุภัณฑ์ชิปในรัฐแอริโซนา โอไฮโอ นิวเม็กซิโก และโอเรกอน ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์
รายได้จากโรงหล่อของ Intel เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน เป็น 4.3 พันล้านดอลลาร์ แต่ขาดทุน 2.8 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น
เกลซิงเกอร์ มองว่า"การลงทุนในกำลังการผลิตชั้นนำระดับโลกยังคงกดดันผลกำไรในระยะสั้น แต่ในระยะยาว บริษัทจะสามารทำกำไรในส่วนที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ได้"