‘แครี่เทรดเยน’ ตัวการใหญ่ ป่วนค่าเงิน ฉุดตลาดหุ้นโลก

‘แครี่เทรดเยน’ ตัวการใหญ่ ป่วนค่าเงิน ฉุดตลาดหุ้นโลก

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกำลังชี้เป้าตรงกันว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ดิ่งเหวลงหนักช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา น่าจะมาจากเรื่องการถอน “แครี่เทรด” เงินเยนญี่ปุ่น มากกว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ

การเทขายอย่างถล่มทลายในตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว ลามมาจนถึงเปิดตลาดในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค.2567 จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “แบล็กมันเดย์” ในหลายตลาดโดยเฉพาะฝั่งเอเชีย ถูกนักวิเคราะห์ตั้งคำถามว่านี่คือ แพนิก เซลล์ที่มาจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หรือมาจากปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง

รอยเตอร์ส ระบุว่า นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกำลังชี้เป้าตรงกันว่า การที่ตลาดหุ้นโลกตกต่ำในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาน่าจะมาจากการ “ถอนแครี่เทรด” (Carry trade unwind) ที่นักลงทุนใช้ในการเก็งกำไร มากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ

การเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ส.ค.67 ซึ่งอ่อนแรงเกินคาดนั้น เป็นที่มาสำคัญของการเทขายหุ้น เพราะไปสะท้อนกับ “กฎของซาห์ม” (Sahm’s Rule) ซึ่งเป็นการนำอัตราการว่างงานมาคำนวณโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยใช้ค่าเฉลี่ยอัตราว่างงานย้อนหลัง 3 เดือน ลบด้วยอัตราว่างงานต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน 

หากส่วนต่างนี้เกิน 0.5% แปลว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และตัวเลขว่างงานสหรัฐล่าสุดในเดือนก.ค.ก็เพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ทำให้ค่าเฉลี่ยทะลุ 0.5% เป็นครั้งแรกในรอบวัฏจักรเศรษฐกิจนี้

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า ลำพังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐไม่ได้อ่อนแอหนักขนาดที่จะเป็นปัจจัยหลักฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือมีจีดีพีหดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกันได้

แครี่เทรด ‘เยน’ ตัวการหลัก

ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าการทำแครี่เทรดโดยเฉพาะ “เงินเยน” ของญี่ปุ่น น่าจะเป็นต้นเหตุสำคัญมากกว่าปัจจัยเศรษฐกิจพื้นฐาน

แครี่เทรดคือ การกู้ยืมสกุลเงินที่ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อไปลงทุนส่วนต่างในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ กรณีของ “ญี่ปุ่น” ที่อยู่ในภาวะดอกเบี้ยติดลบมานาน และเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยเป็นระดับ 0-0.10% ไปเมื่อเดือนมี.ค.ปีนี้ สวนทางกับ “สหรัฐ” ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.25 - 5.50% ทำให้นักลงทุนรายย่อยไปจนถึงนักลงทุนสถาบันนิยมกู้เงินเยนที่ต้นทุนต่ำไปลงทุนที่อื่น

ความนิยมทำแครี่เทรดเงินเยนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นผ่านค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างหนักในปีนี้ จนไปแตะที่ระดับประมาณ 161 เยนต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าสุดในรอบ 38 ปี จนต้องมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนหลังการประชุมรอบล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 มีมติขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0.25% พร้อมลดวงเงินซื้อพันธบัตร ท่ามกลาง “จังหวะเดียวกัน” กับที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. ซึ่งสถานการณ์นี้จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยน้อยลง และค่าเงินเยนจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น

ทว่าการที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 11% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ภายในช่วง 1 เดือนหลังเพิ่งทำนิวโลว์เมื่อเดือนที่แล้วทำให้นักวิเคราะห์มองว่านี่คือสัญญาณที่ไม่ปกติ

มาร์ก ดาวดิ้ง หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทบลูเบย์ แอสเซท แมเนจเมนท์ กล่าวกับรอยเตอร์สว่า จากการประเมินพบว่าการเทขายหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดเป็นผลจากการที่มีกองทุนจำนวนมากขาดทุนจนถูกบังคับให้ปรับสถานะ และหยุดการซื้อขาย โดยเริ่มจากตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX) และเงินเยนของญี่ปุ่นเป็นลำดับแรก

"เรายังไม่เห็นหลักฐานในเชิงข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังจะเผชิญภาวะฮาร์ดแลนดิ้ง

นักลงทุนรายหนึ่งในเอเชียที่ไม่เปิดเผยนามกล่าวว่า เฮดจ์ฟันด์รายใหญ่สาย Quant บางรายเริ่มเทขายหุ้นกันออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากบีโอเจขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ และส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มอีก

บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการลงทุนที่คับคั่งใน “หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐ” ซึ่งได้เงินหนุนมาจากการทำแครี่เทรด อาจจะอธิบายได้ว่าเหตุใดหุ้นเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยในการซื้อขายเมื่อช่วงประมาณ 14.23 น. วันจันทร์ตามเวลาในสหรัฐนั้น ดัชนี Nasdaq ร่วงลงหนักถึงกว่า 8% เมื่อเทียบกับ S&P 500 ที่ลดลงประมาณ 6%

ด้านธนาคารไอเอ็นจีระบุว่า ความนิยมทำแครี่เทรดเงินเยนส่งผลให้มีการกู้ยืมเงินเยนข้ามประเทศเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) พบว่าอัตราการกู้ยืมเงินเยนข้ามแดนเพิ่มขึ้นถึง 7.42 แสนล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่สิ้นปี 2564 เป็นต้นมา

 

‘แครี่เทรดเยน’ ตัวการใหญ่ ป่วนค่าเงิน ฉุดตลาดหุ้นโลก

ทิม กราฟ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์มหภาคในตลาดยุโรปของบริษัทสเตท สตรีท โกลบอล มาร์เก็ตส์ ระบุว่า หากจะระบุถึงปัญหาความผันผวนหนักของตลาดหุ้นทั่วโลกครั้งให้ถูกต้องจริงๆ ต้องเรียกว่าเป็น “การถอนแครี่เทรดเงินเยน” และ “การถอนหุ้นญี่ปุ่น” เพราะที่ผ่านมานักลงทุนให้น้ำหนักกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ราคาถูกมากเกินไป และให้น้ำหนักกับเงินเยนน้อยเกินไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว

จากข้อมูลคณะกรรมการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า CFTC พบว่า ณ ช่วงต้นเดือนก.ค. บรรดาเฮดจ์ฟันด์ และนักลงทุนสายเก็งกำไรได้ถือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เก็งเงินเยนอ่อนค่ามากถึงกว่า 1.8 แสนสัญญา คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การถือสัญญาเหล่านี้ลดลงมากกว่าครึ่งเหลือเพียงประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

“ไม่มีทางที่คุณจะหยุดการทำแครี่เทรดที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา โดยไม่เกิดผลกระทบอะไรขึ้น” คิท จุกส์ หัวหน้านักกลยุทธ์ค่าเงินของธนาคารโซซิเอเต เจเนราล กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์