HP จ่อย้ายฐานจาก ‘จีน’ มา ‘ไทย’ ปรับใหญ่ลดความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์
สื่อต่างประเทศเผย HP กำลังปรับแผนลงทุนครั้งใหญ่สุด เตรียมย้ายฐานการผลิตจาก “จีน” มา “ไทย” หนีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ แหล่งข่าวเผยคุยซัพพลายเออร์มา 2-3 ปีแล้ว มองเมืองไทยพร้อมแทนที่มากที่สุด
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า “เอชพี” (HP) บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่จากสหรัฐ มีแผนจะย้ายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์พีซี “มากกว่าครึ่ง” จากจีนมายัง “ประเทศไทย” โดยขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการก่อตั้งศูนย์ออกแบบชั่วคราวขึ้นในสิงคโปร์ เพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับไต้หวัน
แผนการดังกล่าวจะเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ HP เคยดำเนินการมา เพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่างจีน
แหล่งข่าวหลายรายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ให้ข้อมูลว่า HP ซึ่งมีฐานการผลิตคอมพิวเตอร์พีซีที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในจีน ได้เจรจาพูดคุยกับบริษัทซัพพลายเออร์บางรายไปแล้วในช่วง 2-3 ปีมานี้ เกี่ยวกับแผนการย้ายฐานการผลิตและเป้าหมายการผลิตใหม่ ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า บริษัทถึงกับตั้งเป้าหมายเป็นการภายในที่จะผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กนอกประเทศจีนให้ได้สัดส่วนถึง 70%
ทั้งนี้ สเกลของการย้ายฐานการผลิตจะขึ้นอยู่กับซัพพลายเออร์ที่แตกต่างกันไปรวมถึงความซับซ้อนของส่วนประกอบที่ผลิต
แหล่งข่าวหลายรายระบุตรงกันว่า “ประเทศไทย” คือ จุดหมายปลายทางหลักของการย้ายฐานการผลิตในครั้งนี้ โดยบริษัทซัพพลายเออร์ของ HP อย่างน้อย 5 รายกำลังสร้างโรงงานผลิตหรือศูนย์รวมคลังสินค้าแห่งใหม่ขึ้นในประเทศ และ 2 รายกำลังเพิ่มกำลังการผลิตมาตั้งแต่ต้นปี 2567 แล้ว ตามคำร้องขอของ HP
“เป็นที่ชัดเจนว่า HP กำลังเดิมพันใหญ่สร้างศูนย์กลางการผลิตในประเทศไทย” แหล่งข่าวระดับผู้บริหารรายหนึ่งกล่าว
“เรามีโรงงานอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรองรับลูกค้าเหมือนกัน แต่พวกเขาบอกว่าโรงงานเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เราจึงกำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นในประเทศไทย”
ด้านผู้บริหารอีกรายหนึ่งของบริษัทซัพพลายเออร์วัสดุประกอบและชิ้นส่วนระบุว่า จากเดิมที่เคยกังวลว่าจะมีคำสั่งซื้อไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับขีดความสามารถที่โรงงานในประเทศไทยผลิตได้ ทว่านับตั้งแต่ต้นปีนี้มา บริษัทได้รับคำร้องขอจาก HP ให้ผลิตชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจในประเทศไทยค่อนข้างยุ่งมากในตอนนี้
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า HP กำลังจ้างงานวิศวกร และผู้จัดการหลายตำแหน่งในประเทศสิงคโปร์ เพื่อสร้าง “ทีมแบ็กอัป” ของศูนย์ดีไซน์ไต้หวันเอาไว้ที่นี่ชั่วคราว โดยจะทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และประสานภายในห่วงโซ่อุปทาน
แหล่งข่าวรายหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้เปิดเผยว่า HP กำลังจ้างงานเพิ่มประมาณ 200 ตำแหน่งเกี่ยวกับงานวิศวกร และงานอื่นๆ ซึ่งรวมถึงวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรเครื่องกล และผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างศูนย์ดีไซน์ทางเลือกใหม่ขึ้นในสิงคโปร์ โดยเป็นมาตรการลดความเสี่ยง และหลีกเลี่ยงโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันขึ้น
จากข้อมูลของบริษัทวิจัยไอดีซีพบว่า HP เป็นบริษัทที่จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเลอโนโว มีการส่งมอบคอมพิวเตอร์พีซีมากถึงราว 52 ล้านเครื่องในปี 2566
บริษัทมีฐานการผลิตใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศจีน โดยร่วมมือกับบรรดาซัพพลายเออร์สร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ และเปลี่ยนโฉมเมืองที่ไม่ได้ติดชายฝั่งทะเลอย่าง “ฉงชิ่ง” ให้กลายเป็นศูนย์กลางการส่งออกคอมพิวเตอร์พีซีชั้นนำของโลก
อย่างไรก็ตาม แผนการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนให้เร็วขึ้นตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ HP จากจุดยืนที่มีมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษในฐานะผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการผลิตในประเทศจีน
นิกเคอิเอเชีย ระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ของความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงปัจจัยการถูกดิสรัปต์จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันขนาดใหญ่หลายแห่ง ต้องเร่งมือเรื่องการกระจายซัพพลายเชนออกไปนอกประเทศจีนให้มากขึ้น
บริษัทหลายแห่งเช่น เดลล์ แอปเปิ้ล ไมโครซอฟท์ และอื่นๆ ต่างดำเนินการย้ายการผลิตคอมพิวเตอร์พีซีบางส่วนไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้จัดสรรทรัพยากรทางการตลาดให้มากขึ้นเพื่อมองหาโอกาสการขายในตลาดเหล่านี้ด้วย
แหล่งข่าวเผยว่าในการเจรจาเป็นการภายใน ผู้บริหารระดับสูงของเอชพีหลายคนเน้นย้ำถึงโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน และตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากการที่ยังคงการผลิตไว้ที่จีน
เจฟฟ์ หลิน นักวิเคราะห์ซึ่งเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์พีซีของบริษัทออมเดีย กล่าวว่า จากการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของทางบริษัทพบว่า เอชพี และเดลล์เริ่มจริงจังมากขึ้นกับแผนการกระจายความเสี่ยงออกจากจีน สำหรับบริษัทเหล่านี้ แนวคิดในการลดความเสี่ยงกลายเป็นสิ่งสำคัญมากในกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาในอนาคต
ฉูว์ จื่อ ฟาง นักวิเคราะห์ด้านซัพพลายเชนจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน กล่าวว่า นอกจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สนับสนุนการกระจายห่วงโซ่อุปทาน เช่น เหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นปีนี้ ที่กระทบห่วงโซ่อุปทานไปหลายอุตสาหกรรมนานหลายเดือน ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย. นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์