‘Infineon’ เปิดโรงงานผลิตชิปซิลิคอนคาร์ไบด์ ‘ใหญ่สุดของโลก’ ในมาเลเซีย
‘มาเลเซีย’ กำลังก้าวขึ้นเป็นฮับผลิตชิประดับโลก เมื่อยักษ์ใหญ่ด้านชิปอย่าง ‘Infineon’ ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตชิปซิลิคอนคาร์ไบด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศนี้
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า “อินฟินีออน” (Infineon) ผู้ผลิตชิปชั้นนำของยุโรปได้เริ่มการผลิตที่โรงงานผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาใน “มาเลเซีย” ซึ่งนับเป็นชัยชนะสำหรับประเทศในอาเซียนรายนี้ จากความพยายามยกระดับตัวเองในห่วงโซ่อุปทานชิประดับโลก
สำหรับโรงงานแห่งนี้ในเขตคูลิมของมาเลเซีย จะกลายเป็นโรงงานผลิตซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะดำเนินการผลิตเต็มกำลังภายใน 5 ปีข้างหน้า Infineon มุ่งเป้าไปที่ความต้องการจากภาคพลังงานหมุนเวียน และการใช้งานพลังงานไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ทั้งนี้ “มาเลเซีย” เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดของ Infineon ในเอเชีย รวมถึงเป็นฐานงานบรรจุภัณฑ์ และประกอบชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเอ็ง ก๊ก เตียง รองประธานอาวุโส และกรรมการผู้จัดการ Infineon แห่งเขตคูลิมกล่าวว่า Infineon มีพนักงานประมาณ 15,000 คนในมาเลเซีย ซึ่งมากกว่าที่ใดในโลก รวมถึงประเทศเยอรมนี ที่เป็นบ้านเกิดของบริษัท
ในฐานะผู้นำตลาดด้านชิปพลังงาน และไมโครคอนโทรลเลอร์ Infineon กำลังให้ความสนใจกับเซมิคอนดักเตอร์แบบวงกว้างหลายประเภทสำหรับโซลูชันพลังงานรุ่นต่อไป รวมถึงชิปที่ผลิตจากซิลิคอนคาร์ไบด์ และแกลเลียมไนไตรด์
“เมื่อเทียบกับโซลูชันพลังงานที่ใช้ซิลิคอนด้วยซิลิคอนคาร์ไบด์ เราสามารถเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานเป็นสองเท่าในขนาดเดียวกัน หรือเราสามารถใส่พลังงานเท่าเดิมในขนาดครึ่งหนึ่งได้” ราชคุมาร รองประธานอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาของ Infineon เขตคูลิม กล่าว
สำหรับปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน Infineon คาดการณ์รายได้อย่างน้อย 600 ล้านยูโร (ประมาณ 23,000 ล้านบาท) จากโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับซิลิคอนคาร์ไบด์
บริษัทกล่าวว่า จะลงทุนเพิ่มเติมอีก 5 พันล้านยูโรสำหรับเฟสที่สองของโรงงานคูลิม ซึ่งได้มีการรับเงินมัดจำล่วงหน้า 1 พันล้านยูโร และคำสั่งซื้อล่วงหน้าประมาณ 5 พันล้านยูโรจากลูกค้าแล้ว
ทั้งนี้ แผนการขยายโรงงานของบริษัทอย่าง Infineon นั้นถือเป็นอานิสงส์สำหรับมาเลเซีย ซึ่งได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยมาเลเซียได้รายงานการลงทุนว่า อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 329,500 ล้านริงกิต (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 24% จากปี 2565
นอกจากนี้ มาเลเซียยังดึงดูดการลงทุนในศูนย์ข้อมูล ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนที่ร้อนแรงที่สุดของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มากกว่า 45% ของการลงทุนในปี 2566 เกี่ยวข้องกับภาคไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลและการสื่อสาร ตามข้อมูลของสำนักงานพัฒนาการลงทุนมาเลเซีย
คีต ยัป ผู้ร่วมรับผิดชอบด้านการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Kearney บริษัทที่ปรึกษาของสหรัฐ กล่าวว่า บทบาทของมาเลเซียในห่วงโซ่อุปทานชิปกำลังขยายตัว ประเทศได้ดึงดูดการลงทุนอย่างมาก รวมถึงมีกลุ่มบุคลากร ระบบนิเวศ และการสนับสนุนจากรัฐบาลที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนในเซมิคอนดักเตอร์นั้นค่อนข้างรุนแรง
“ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น มาเลเซียเผชิญแรงกดดันในการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทาย ในขณะเดียวกันก็ต้องคว้าโอกาสการเติบโตใหม่ๆ เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยรวมแล้ว นี่คือ การแข่งขันระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้น โดยในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า เป็นการแข่งเพื่อยึดตำแหน่งมาเลเซียให้มั่นคงในฐานะศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญระดับโลก” ยัปกล่าว
อ้างอิง: nikkei
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์