ชิปปิ้งรายใหญ่ ‘เมอส์ก’ ประเมิน ‘ไม่เห็น’ สัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย

ชิปปิ้งรายใหญ่ ‘เมอส์ก’ ประเมิน ‘ไม่เห็น’ สัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย

ชิปปิ้งรายใหญ่ของโลก 'เมอส์ก' ย้ำยังไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ชี้ธุรกิจขนส่งทางทะเลยังแข็งแกร่ง เผยสินค้าคงคลังสูงขึ้น แต่ยังไม่ใช่ระดับน่ากังวลร้ายแรง

ท่ามกลางการถกเถียงอย่างต่อเนื่องเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอย (Recession) หรือไม่นั้น ล่าสุดบริษัทขนส่งทางเรือ และโลจิสติกส์รายใหญ่ระดับโลกอย่าง “เมอส์ก” (Maersk) ซึ่งเป็นเหมือนดัชนีชี้วัดอุณหภูมิการค้าโลกได้ส่งสัญญาณใน “เชิงบวก” ถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่เห็นสัญญาณข่าวร้ายถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย

วินเซนต์ เคลิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเมอส์ก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ เนื่องจากอุปสงค์การขนส่งสินค้าทางเรือยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และย้ำว่าดีมานด์ในธุรกิจตู้คอนเทนเนอร์มักจะเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจมหภาค

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าตลาดตู้คอนเทนเนอร์ยังยืดหยุ่นได้อย่างน่าประหลาดใจต่อความกลัวเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย” เคลิร์ก กล่าวในรายการ Squawk Box Europe

ซีอีโอของเมอส์ก อธิบายว่าสินค้าคงคลังของสหรัฐในขณะนี้ ซึ่งหมายถึงสินค้าที่จัดเก็บก่อนส่งมอบหรือแปรรูป มีปริมาณสูงขึ้นกว่าเมื่อช่วงต้นปี แต่ก็ไม่ใช่ระดับที่สูงเกินไปจนน่ากังวลหรือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต แม้จะมีความน่ากังวลเรื่องตัวเลขที่ไม่อาจคาดเดาได้ของบางบริษัทอยู่บ้างก็ตาม

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังพิจารณาจากยอดคำสั่งซื้อจากผู้ค้าปลีก และแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากที่ต้องการนำเข้ามายังสหรัฐ สำหรับความต้องการในเดือนหน้าด้วย ซึ่งดูเหมือนว่ายังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

“อย่างน้อยข้อมูล และตัวบ่งชี้ที่เรามีก็ดูเหมือนจะทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า การบริโภคในสหรัฐจะยังคงดำเนินต่อไป” เคลิร์ก กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐพบว่า สินค้าคงคลังเดือนพ.ค. ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรวัดที่บ่งชี้ถึงสินค้าที่ระบายไม่ออก มีจำนวนเพิ่มขึ้น 5.33% จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ไปอยู่ที่ 7.9386 แสนล้านดอลลาร์

ตัวเลขนี้สอดคล้องกับรายงานของบริษัทแพลตฟอร์มลีสซิ่ง “คอนเทนเนอร์ เอ็กซ์เชนจ์” ที่ระบุว่า ตัวชี้วัดเหล่านี้กำลังบ่งชี้ถึงอุปทานสินค้าคงคลังที่มากกว่าอุปสงค์ ซึ่งหมายถึง “ช่วงเวลาอันรุ่งเรือง” ของผู้ทำธุรกิจตู้คอนเทนเนอร์ ตลาดโลจิสติกส์ และผู้ค้าปลีกที่สต็อกสินค้า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ากำลังลดน้อยลงทุกทีแล้ว

ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐประจำเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่เพียง 114,000 ราย หรือน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 179,000 ราย ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4.1% ในเดือนมิ.ย. ไปเป็น 4.3% หรือสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ทำให้เกิดแรงเทขายครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นทั่วโลก ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างกันทั้งในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และตลาดทุน

‘เจพีมอร์แกน’ เตือนมีโอกาสถดถอย 35%

ทางด้าน “เจพีมอร์แกน เชส” (JPMorgan Chase) ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐปรับเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในสิ้นปีนี้ 2567 นี้เป็น 35% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 25% เมื่อต้นเดือนที่แล้ว และคงการประเมินโอกาสเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเอาไว้ที่ 45%

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกนนำโดย บรูซ แคสแมน ระบุในบันทึกถึงลูกค้าเมื่อวันที่ 7 ส.ค.67 ว่าตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณว่าความต้องการแรงงานลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเริ่มมีสัญญาณการลดจำนวนแรงงาน

“การปรับเพิ่มประมาณการความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้ ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับการปรับเปลี่ยนมุมมองอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เรากำลังทำอยู่” แคสแมน กล่าว

ทั้งนี้ เจพีมอร์แกนยังได้ปรับลดโอกาสที่เฟด และธนาคารกลางอื่นๆ จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเป็นเวลานาน เหลือเพียง 30% เมื่อเทียบกับการประเมินเมื่อสองเดือนก่อนที่มองว่ามีโอกาส 50-50 และเนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังลดลง ธนาคารจึงคาดการณ์ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในเดือน ก.ย. และ พ.ย. นี้

ด้านเจมี ไดมอน ซีอีโอของเจพีมอร์แกนแสดงความกังขาว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางสหรัฐได้หรือไม่ โดยอ้างถึงความเสี่ยงจากการขาดดุลการคลัง และยุทธาภิวัฒน์ที่หลายประเทศในตะวันตกเพิ่มงบประมาณด้านการทหารมากขึ้น

ไดมอนเสริมต่อว่า โลกยังคงมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ และการดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ (QT)

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร “โกลด์แมน แซคส์” (Goldman Sachs) ก็เพิ่งปรับเพิ่มความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้าเป็น 25% จากเดิมที่ 15% แต่ระบุว่ายังมีเหตุผลอีกหลายประการที่ไม่ควรกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอย แม้อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงขึ้นก็ตาม

โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า เศรษฐกิจโดยรวมยังคงดูดี ไม่มีความไม่สมดุลทางการเงินที่สำคัญ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก และปรับลดได้อย่างรวดเร็วหากจำเป็น

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์