จับสัญญาณ ‘อิหร่าน’ ป่วนเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดีสหรัฐ’ แบ่งขั้วอเมริกัน

จับสัญญาณ ‘อิหร่าน’ ป่วนเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดีสหรัฐ’ แบ่งขั้วอเมริกัน

“อิหร่าน” วางแผนยกระดับขยายอิทธิพลความขัดแย้งไปสหรัฐ ปั่นกระแสสังคมอเมริกันแตก ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปลายปีนี้

KEY

POINTS

KeyPoints :

  • นอกเหนือความพยายามสร้างความขัดแย้ง ทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกกว่าเดิม ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามได้กำหนดเป้าหมายไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับ “การรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ”
  • เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีความพยายามบุกรุกขโมยข้อมูลส่วนตัวในบัญชีอีเมล์ของอดีตที่ปรึกษาอาวุโสท่านหนึ่ง และเจาะบัญชีอีเมลของ “ อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี” โดยรายงานไม่ได้เปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายดังกล่าว
  • ไมโครซอฟท์คาดการณ์ว่า อิหร่าน จีนและรัสเซีย จะเพิ่มการโจมตีทางไซเบอร์ต่อผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐ และสถาบันต่างๆ เพื่อพยายามเพิ่มความแตกแยกในสังคมชาวอเมริกัน ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลอันเป็นเท็จ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

ไมโครซอฟท์เปิดเผยรายงานอ้างบทความซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่เชื่อได้เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของอิหร่าน มุ่งเป้าไปที่กลุ่มมีสิทธิทางการเมืองในสหรัฐ ทั้งที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน

เว็บไซต์หนึ่งชื่อ Nio Thinker เรียกตัวเองเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารเชิงลึก ซึ่งได้เผยแพร่บทความโจมตีอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยกย่องรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เป็นผู้คาดไม่ถึงที่ช่วยสหรัฐรอดพ้น

อีกเว็บไซต์หนึ่งที่นักวิจัยไมโครซอฟท์อ้างอิงมีชื่อว่า Savannah Time เป็นเว็บไซต์รายสัปดาห์ เป็นสื่อทางเลือกแนวอนุรักษ์นิยม ได้เผยแพร่บทความหนึ่งที่เขียนโดยโฆษกสหพันธ์สิทธิสตรีระหว่างประเทศ เกี่ยวกับแนวคิดสนับสนุนให้ใส่ชุดว่ายน้ำที่สุภาพรัดกุมมากขึ้น ในการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดในโอลิมปิกเกม แต่มีเคียงข่าวเป็นบทความยกย่องกองทัพอิหร่าน ซึ่งอาจดูเหมือนเนื้อหาไม่ค่อยเกี่ยวข้องกัน

ศูนย์วิเคราะห์ภัยคุกคามของไมโครซอฟท์พบว่า บทความเหล่านี้น่าจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ดึงข่าวสารที่มีเนื้อหาถูกต้องตามกฏหมายของสหรัฐ ไปปรับเปลี่ยนรายละเอียด หรือจัดทำขึ้นใหม่เป็นบทความ ลักษณะซ้อนเร่นแหล่งที่มาของบทความนั้นๆ

กลุ่มผู้ที่อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ดังกล่าวตามที่ไมโครซอฟท์อ้างว่า เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการใหญ่จากอิหร่าน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ควบคู่กับการจัดทำเว็บไซต์ข่าวเฟคนิวอื่นๆ มากกว่า 10 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่ผู้ชมที่รู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปนและอาหรับ

"แผนรณรงค์ดังกล่าวไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักสำหรับผู้อ่านและผู้ชมในสหรัฐ เพราะเนื้อหาบทความไม่ได้รับการแชร์อย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย ถึงอย่างไร นักวิจัยไมโครซอฟท์ขอให้จับตาเว็บไซต์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดในช่วงใกล้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปลายปี 2567" นักวิจัยไมโครซอฟท์ระบุ 

นอกเหนือความพยายามจะสร้างความขัดแย้งและทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกกว่าเดิม ก่อนการลงคะแนนเสียง นักวิจัยไมโครซอฟท์บอกด้วยว่า ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามได้กำหนดเป้าหมายไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับ “การรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ”

ทั้งนี้พบว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีความพยายามบุกรุกขโมยข้อมูลส่วนตัวในบัญชีอีเมล์ของอดีตที่ปรึกษาอาวุโสท่านหนึ่ง และเจาะบัญชีอีเมลของ “ อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี” โดยรายงานไม่ได้เปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายดังกล่าว

คณะผู้แทนถาวรอิหร่าน ประจำสหประชาชาติ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีต่อเรื่องนี้ทันที แต่อิหร่านได้ส่ง แถลงการณ์ไปยังสมาคมนักข่าวในสหรัฐ เพื่อปฏิเสธการรายงานข่าวเกี่ยวกับกระทำใดๆ ที่ถือเป็นการแทรกแซงว่า อิหร่านตกเป็นเหยื่อของปฏิบัติการทางไซเบอร์ในหลายครั้ง ซึ่งอ้างว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังการกระทำมุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์บริการสาธารณะ และอุตสาหกรรมประเทศ

ในแถลงการณ์ของทางการอิหร่านระบุว่า “อิหร่านไม่มีเจตนาหรือแผนการโจมตีทางไซเบอร์ รวมไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ถือเป็นเรื่องภายในที่อิหร่านไม่เข้าไปแทรกแซง”

ไมโครซอฟท์ยังได้ตั้งข้อสังเกตกิจกรรมของรัสเซียที่ทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปฏิบัติการที่เรียกว่า Storm-1516 ซึ่งเป็นการจัดทำวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ และสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกับรัสเซีย ซึ่งได้เผยแพร่ผ่านเครือข่ายเว็บไซต์เฟคนิวส์

รายงานระบุว่า ยังมีนักแสดงที่เชื่อมโยงและสนับสนุนจีนได้หันมาเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อผ่านวิดีโอกันมากขึ้น และยังได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายบัญชีออนไลน์ เพื่อปั่นกระแสความโกรธแค้นในเหตุการณ์ที่มีมหาวิทยาลัยในสหรัฐหลายแห่งประท้วงเพื่อสนับสนุน ปาเลสไตน์

  อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไมโครซอฟท์คาดการณ์ว่า อิหร่านพร้อมด้วยจีนและรัสเซีย จะเพิ่มการโจมตีทางไซเบอร์ต่อผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐ และสถาบันต่างๆ เพื่อพยายามเพิ่มความแตกแยกในสังคมชาวอเมริกัน ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลอันเป็นเท็จ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

ที่มา : CNBC