'แบนเกาหลี' ไม่แผ่ว คนไทยเที่ยวลดลงติดต่อกัน 7 เดือน แห่ไป 'จีน-ญี่ปุ่น' แทน

'แบนเกาหลี' ไม่แผ่ว คนไทยเที่ยวลดลงติดต่อกัน 7 เดือน แห่ไป 'จีน-ญี่ปุ่น' แทน

คนไทยเที่ยวเกาหลีใต้ลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 7 เดือน จากกระแส แบนเกาหลี ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระบบ K-ETA ที่ปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศ คนไทยจึงหันไปเที่ยวจีนกับญี่ปุ่นแทน

สำนักข่าวโคเรียไทม์ส รายงานว่า จำนวนนักท่องเที่ยวไทยลดลงอย่างมากในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการร้องเรียนและกระแสต่อต้านเกาหลีอย่างต่อเนื่อง (แบนเกาหลี) ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากระบบยกเว้นวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มักปฏิเสธการเข้าประเทศเกาหลีใต้ของนักเดินทางจากประเทศไทย

ตามข้อมูลจาก องค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ เมื่อเดือน ก.ค. ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเยือนเกาหลีใต้เมื่อเดือน มิ.ย. ลดลง 19.5% สู่ระดับ 20,150 คน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งยอดการเดินทางดังกล่าวลดลงติดต่อกัน 7 เดือนแล้ว

ความเคลื่อนไหวนี้ ทำให้ประเทศไทยซึ่งเคยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีนักท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้จำนวนมาก ร่วงลงไปอยู่อันดับที่ 3 ในเดือน เม.ย. และอันดับที่ 5 ในเดือน พ.ค. และ เมื่อเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวไทยในเกาหลีใต้ในครึ่งปีแรกของปีนี้ พบว่า ลดลง 19.1% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับ 168,328 คน

จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ลดลง สวนทางกับยอดนักท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ที่โดยรวมฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดโควิด โดยในเดือน มิ.ย. เกาหลีใต้มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากกว่า 1.41 ล้านคน เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน 47.5%

ขณะที่ก่อนการแพร่ระบาดโควิด คนไทยไปเที่ยวเกาหลีใต้มากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีคนไทยไปเที่ยวมากกว่า 572,000 คน ในปี 2562 โดยมีแรงขับเคลื่อนมาจากความนิยมเคป็อป (K-pop) ละคร และคอนเทนต์ทางวัฒนธรรมอื่น ๆ

จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ลดลงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาของระบบขออนุญาตเดินทางแบบอิเล็กทรอนิกส์

ระบบคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ (Korea Electronic Travel Authorization) หรือ K-ETA ที่เปิดตัวเมื่อเดือน ก.ย. 2564 เป็นระบบที่อนุญาตให้นักเดินทางจาก 112 ประเทศ สามารถลงทะเบียนข้อมูล และได้รับอนุมัติการเดินทางเข้าเกาหลีใต้แบบออนไลน์ได้

แต่ระบบนี้ ปฏิเสธคนไทยไม่ให้เดินทางเข้าประเทศจำนวนมาก และเกิดการร้องเรียนจากนักเดินทางชาวไทย จุดชนวนให้เกิดความรู้สึกต่อต้านเกาหลีในประเทศไทยตามมา

ด้านกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ขอให้กระทรวงยุติธรรมยกเว้นการลงทะเบียนระบบ K-ETA ให้กับคนไทยชั่วคราวภายในสิ้นปีนี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย และหนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยว 20 ล้านคนภายในสิ้นปี 2567

แต่กระทรวงยุติธรรมปฏิเสธ โดยระบุว่า คนไทยครองสัดส่วนผู้อพยพที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายมากที่สุดในเกาหลีใต้

กระทรวงวัฒนธรรม จึงหันไปส่งเสริมการเดินทางเพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนอายุต่ำกว่า 17 ปี ที่ไม่ต้องยื่นขอ K-ETA และด้วยกระแสต่อต้านเกาหลีที่เพิ่มขึ้น กระทรวงฯจึงพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทยด้วย

“พวกเรากำลังหารือปัญหาการไม่อนุมัติ K-ETA กับกระทรวงยุติธรรมในหลายแง่มุมอย่างต่อเนื่อง” กระทรวงฯกล่าวเสริม

 

คนไทยเทใจไป ‘จีน-ญี่ปุ่น’

ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้น้อยลง ประเทศจีนและญี่ปุ่นกลับได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) เผยกับนิกเกอิเอเชียว่า นอกจากจีนและญี่ปุ่นมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดมากมายแล้ว ทั้งคนไทยยังได้ฟรีวีซ่าจากทั้งสองประเทศด้วย ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวก็ไม่แพงมาก ทั้งยังมีทิวทัศน์ที่งดงามและบรรยากาศที่ดี คุ้มค่ากับงบท่องเที่ยว

 

ยุทธนายกตัวอย่างว่า การท่องเที่ยวในจีนเป็นเวลา 4 วัน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 บาทต่อคน น้อยกว่าการท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ ที่มีค่าใช้จ่ายราว 30,000 บาทต่อคน

TTAA คาดการณ์ว่า หลังจากจีนให้วีซ่าฟรีแก่คนไทยเมื่อวันที่ 1 มี.ค. อาจมีคนไทยเดินทางไปเยือนจีนมากถึง 1.2 ล้านคนภายในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าปี 2562 ที่ระดับ 693,818 เกือบ 2 เท่า

เมื่อความต้องการเดินทางไปจีนเพิ่มขึ้น การบินไทยจึงได้เพิ่มเที่ยวบินไปจีนจาก 7 เที่ยวบิน สู่ 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะเที่ยวบินไปกลับกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และมณฑลยูนนาน

ขณะที่การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นรวมถึงคนไทย เนื่องจากค่าเงินเยนอ่อนค่า ทำให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวถูกลง

 

อ้างอิง: Korea Times, Nikkei Asia