ทูตอินโดนีเซีย ส่งสารพิเศษ 79 ปี วันประกาศอิสรภาพ

ทูตอินโดนีเซีย ส่งสารพิเศษ 79 ปี วันประกาศอิสรภาพ

ระฮ์มัต บูดีมัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทยและผู้แทนถาวร UNESCAP ส่งสารพิเศษเนื่องในโอกาสวันประกาศอิสรภาพ

เนื่องในโอกาสพิเศษของวันครบรอบ 79 ปี วันประกาศอิสรภาพของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ข้าพเจ้ามีความยินดีขอส่งมอบความปรารถนาดีและคำอวยพรต่อรัฐบาลและประชาชนแห่งราชอาณาจักรไทยที่ร่วมอวยพรและแสดงความยินดีต่อสาธารณรัฐอินโดนีเซียในโอกาสการครบรอบวันประกาศอิสรภาพแก่ข้าพเจ้า ชาวอินโดนีเซียในต่างแดน และประเทศอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า 

วันนี้ถือเป็นวันที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นการเฉลิมฉลองวันแห่งการเดินทางสู่เสรีภาพ เอกภาพ และความก้าวหน้าของชาติ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะส่งคำอวยพรอย่างจริงใจให้แก่ชุมชนชาวอินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซียในต่างแดน และมิตรสหายชาวอินโดนีเซียทุกท่านที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ซึ่งกำลังเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันประกาศอิสรภาพของพวกเรา ทูตอินโดนีเซีย ส่งสารพิเศษ 79 ปี วันประกาศอิสรภาพ

ข้าพเจ้าขอถวายพระพรชัยมงคลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงพระเจริญ ทรงพระเกษมสำราญ ตลอดจนขอให้รัฐบาลและประชาชานชาวไทยให้ดำรงสุขสวัสดิ์ตลอดกาลนาน

วันประกาศอิสรภาพของประเทศอินโดนีเซียในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Nusantara Baru, Indonesia Maju” หรือ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “นูซันตาราใหม่ อินโดนีเซียก้าวหน้า” ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ 3 ประการ ของประเทศอินโดนีเซียในปีนี้ ได้แก่ เมืองหลวงใหม่นูซันตารา ประธานาธิบดีคนใหม่ และการเตรียมความพร้อมของการเป็น “ประเทศอินโดนีเซียที่รุ่งเรืองในปี พ.ศ. 2588” โดยเป็นประเทศที่มีความเป็นอธิปไตย ความก้าวหน้า ความยุติธรรม และความเจริญรุ่งเรืองในศตวรรษที่ 100 ในปี พ.ศ. 2588

ในบริบทนี้ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศอินโดนีเซียที่รุ่งเรืองในปี พ.ศ. 2567 รัฐบาลอินโดนีเซียได้กำหนดเสาหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 3) การพัฒนาอย่างเป็นธรรม และ 4) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชาติและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ในวิสัยทัศน์ดังกล่าว ประเทศอินโดนีเซียยังคงมีบทบาทสำคัญในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนความยุติธรรมของสากล สันติภาพ และความมั่นคง รวมถึงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อบรรลุความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนของโลก ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอเน้นย้ำบทบาทของอินโดนีเซียในการสนับสนุนความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำ โดยการร่วมมือกับสภาน้ำโลก หรือ World Water Council (WWC) ที่ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมน้ำโลกครั้งที่ 10 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

 ความยั่งยืนของทรัพยากรทางน้ำกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนทั้งต่อประเทศอินโดนีเซียและทั่วโลก ความต้องการน้ำทั่วโลกมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเติบโตของประชากรและภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน การจัดเตรียมหาแหล่งทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพยั่งยืนมีความยากเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงขอสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น ประเทศอินโดนีเซียจึงได้ริเริ่มและทำงานกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่สามารถจัดการและใช้น้ำให้เป็นประโยชน์ร่วมกันได้ มีการหารือประเด็นสำคัญมากมายในระหว่างการประชุมน้ำโลกครั้งที่ 10 เพื่อหาแนวทางการแก้ไข นวัตกรรม และการดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ประเทศอินโดนีเซียได้เน้นย้ำวาระและแผนงานหลายประการ ซึ่งจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ อาทิเช่น ความพยายามในการอนุรักษ์น้ำ น้ำสะอาดและสุขอนามัย ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงการบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัยและภัยแล้ง

ประเทศอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้พิจารณาวาระดังกล่าวผ่านการประชุมโดยเป็นความพยายามร่วมกัน ซึ่งผ่านความร่วมมือของชุมชนและการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ รวมถึงการเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย ด้วยความเป็นเอกภาพเพื่อสวัสดิการแก่ชุมชนโลก

อย่างไรก็ตาม ประเทศอินโดนีเซียได้ตระหนักดีว่า วาระเหล่านี้ต้องการวิธีการใหม่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐและเอกชน นวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อบริหารความต้องการด้านการบริโภคอาหารและพลังงาน ตลอดจนความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการมีส่วนสนับสนุนและทำงานร่วมกัน

ถัดมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย ความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ค่านิยมร่วมกันและความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยถูกกำหนดมาให้เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกัน มิตรสหายที่ไว้ใจได้ และเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน

ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในปัจจุบันเข้มแข็งอย่างมากในทุกๆ กรอบความร่วมมือ ด้วยความพยายามร่วมกัน เราได้บรรลุเป้าหมายสำคัญในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การค้าและการลงทุนสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วนของทั้งสองประเทศ อาทิเช่น สถาบันของรัฐ นักธุรกิจ นักวิชาการและนักเรียนนักศึกษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป

ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2493 ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านการเยือนของผู้นำระดับสูงและความก้าวหน้าด้านต่างๆ อาทิเช่น การค้าและการลงทุน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความมั่นคงและการป้องกัน การประมง การศึกษา สังคมวัฒนธรรม พลังงาน และการร่วมมือต่าง ๆ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตอนนี้ดำเนินมาได้ 74 ปีแล้ว

ในปีหน้า หรือปี พ.ศ. 2568 จะเป็นวันครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย ช่วงเวลาแห่งความปิติยินดีนี้จะนำมาซึ่งรากฐานความมั่งคงและแข็งแกร่งเพื่อส่งเสริมและกระชับมิตรภาพความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งประเทศถูกพิสูจน์ด้วยความร่วมมือที่ดีและความสามัคคีร่วมกันผ่านเวทีระดับภูมิภาคและนานาชาติ

ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย รวมถึงสมาชิกอื่น ๆ ของประชาคมอาเซียน ได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการพัฒนาของประชาคมอาเซียนไปสู่เป้าหมายของความมีเสถียรภาพร่วมกัน ความก้าวหน้าร่วมกัน และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ท่ามกลางประชาชนของเราในภูมิภาค

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์อันเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย ซึ่งสามารถช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับทั้งสองประเทศในอนาคต ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอมอบสารสำคัญจากประธานาธิบดี โจโก วีโดโด เพื่อเป็นการยกระดับการทำงานร่วมกันและความร่วมมือระดับทวิภาคีในภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าและการลงทุน การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ การสร้างความมั่นใจส่งเสริมกันในหลาย ๆ เวทีทั้งในระดับภูมิภาคและโลก

ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งประชาคมอาเซียนและเอเปค และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะยังคงสานต่อและขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคนี้ต่อไป ด้วยการฟื้นความเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค การค้าและการลงทุนระดับทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศที่กำลังฟื้นตัว ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยสามารถที่จะทำงานร่วมกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศมุ่งเน้นที่จะเป็นตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล และอนาคตแหล่งพลังงานสีเขียวที่ยั่งยืนในอนาคต

ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้า มูลค่าโดยรวมของการค้าทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2566 มีมูลค่า 18,370 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศอินโดนีเซียลำดับที่ 8 ของโลก ในขณะที่สำหรับประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซียคือคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 9 ของโลก

ในความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม เราได้เห็นความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของนักเรียนแลกเปลี่ยน ทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนการบรรยาย การทำวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย กิจกรรมการแสดงด้านวัฒนธรรมร่วมกัน และนิทรรศการร่วมกันของทั้งสองประเทศ

ด้วยเหตุนี้ สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียยังคงดำเนินการและพยายามที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยการจัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น วันอินโดนีเซียและเทศกาลต่าง ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชาวไทยมากมาย เพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า การผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าว เราสามารถที่จะมองเห็นถึงบทบาทความสำคัญเพื่อที่จะยกระดับและส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนเพื่อที่จะพัฒนาความสัมพันธ์อันดีและมิตรภาพระหว่างประชาชนของทั้งประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ด้วยความตั้งใจที่จะเพิ่มศักยภาพและโอกาสที่เรามีอย่างเต็มที่ ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้เพื่อที่จะเรียนให้ทุกท่านทราบว่า สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ของประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน และวัฒนธรรม ในเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 นี้

ซึ่งเริ่มจาก “Indonesia Fair” โดยจะจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ลด์ ในวันที่ 6 – 8 กันยายน พ.ศ. 2567 ภายในงานจะจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากประเทศอินโดนีเซีย อาทิเช่น ผ้าทอจากประเทศอินโดนีเซีย ทั้ง บาติก และ เตอนุน (งานผ้าทอมือด้วยด้ายหลากสี) งานหัตถกรรม ของที่ระลึก อาหารอินโดนีเซีย และโปรแกรมท่องเที่ยวประเทศอินโดนีเซียสำหรับชาวไทยเพื่อไปสำรวจความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะและงานจิตรกรรม สามารถเข้าชมงานนิทรรศการจิตรกรรมร่วมระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 4 – 30 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ แห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งสองกิจกรรมเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้

ในขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมสำหรับบุคคลที่จะได้รับเชิญ คือ อินโดนีเซีย - ไทย: การประชุมเชิงธุรกิจ ซึ่งจะจัดขึ้นที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2567 สำหรับบรรดานักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทยที่หาโอกาสการลงทุนที่มีศักยภาพต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ เพื่อที่จะส่งเสริมและผลักดันศิลปะและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียจะจัดงาน ราตรีแห่งวัฒนธรรมอินโดนีเซีย ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567 ที่โรงละครสยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน ซึ่งจะถ่ายทอดการแสดงความหลากหลายและเอกลักษณ์ของศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศอินโดนีเซียให้แก่คณะทูต ข้าราชการ ผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรม ชุมชนคนรักศิลปะ นักวิชาการการศึกษา และสื่อมวลชนของประเทศไทย

ข้าพเจ้าหวังว่ากิจกรรมต่าง ๆ ในข้างต้น จะสามารถทำหน้าที่ให้เป็นไปตามจุดประสงค์ เพื่อที่จะเชื่อมโยงและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศไทย เสริมสร้างความเข้าใจที่มากขึ้น และหาแนวทางร่วมมือใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

ในโอกาสอันน่ายินดีเช่นนี้ พวกเรามาร่วมเฉลิมฉลองอิสรภาพของประเทศอินโดนีเซียด้วยความภาคภูมิใจและมอบพลังบวก เพื่ออนาคตแห่งมิตรภาพ ความร่วมมือ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยสืบต่อไป