‘นิวซีแลนด์’ ไม่ใช่สวรรค์อีกต่อไป? พลเมืองหนีออกประเทศครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
ปัญหาค่าครองชีพสูง และโอกาสงานมีจำกัดใน ‘นิวซีแลนด์’ กลายเป็นแรงผลักดันให้พลเมืองต้องทิ้งแผ่นดินเกิดไปแสวงหาชีวิตใหม่ในออสเตรเลียแทน ซึ่งให้เงินเดือนสูงขึ้นเกือบ 30%
KEY
POINTS
- ชาวนิวซีแลนด์ประมาณ 44,534 คน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1% ของประชากรทั้งประเทศ 5 ล้านคน ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ออสเตรเลีย
- โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวนิวซีแลนด์สามารถรับเงินเดือนได้ “สูงขึ้นเกือบ 30%” ในออสเตรเลีย
- ธนาคารกลางของ “ออสเตรเลีย” มุ่งเน้นการชะลอเศรษฐกิจของตนลงอย่างนุ่มนวลในการจัดการเงินเฟ้อ ต่างจาก “นิวซีแลนด์” ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงมากขึ้น
“นิวซีแลนด์” แม้จะเป็นดั่งสรวงสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ด้วยธรรมชาติอันบริสุทธิ์และอากาศที่สดใส แต่กลับไม่สามารถดึงดูดคนของตัวเองให้อยู่ต่อได้ ปัญหาค่าครองชีพสูงลิ่วและโอกาสในการทำงานที่จำกัด ทำให้เกิดคลื่นอพยพออกนอกประเทศครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ชาวนิวซีแลนด์จำนวนมากจึงตัดสินใจหนีไปยัง “ออสเตรเลีย” แทน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ชาวนิวซีแลนด์ประมาณ 44,534 คน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1% ของประชากรทั้งประเทศ 5 ล้านคน ย้ายไปอยู่ที่ออสเตรเลีย โดยการสูญเสียจำนวนประชากรสุทธิ มีจำนวน 27,011 คนในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 85% จากปี 2565 และเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556
เงินเดือนสูงกว่า แถมค่าครองชีพก็ต่ำกว่านิวซีแลนด์
“เราได้รับเงินเดือนสูงกว่าที่นี่มาก” คอนนี่ วัลเดซ กามาลินดา (Connie Valdez Gamalinda) กล่าว โดยเมื่อต้นปีนี้ เธอและสามีพร้อมกับลูกสาวตัวน้อยได้ย้ายจากเมืองโพริรัวของนิวซีแลนด์ ไปอยู่ที่เมืองจีลองในออสเตรเลียแทน โดยพนักงานดูแลเด็กวัยเยาว์ที่นี่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 11 ดอลลาร์ออสเตรเลีย และได้รับข้อเสนอแพ็กเกจย้ายถิ่นฐานประมาณ 17,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งอัลวิน (Alvin) สามีของเธอ ได้รับค่าจ้างในอาชีพด้านการสนับสนุนสุขภาพจิตเพิ่มเป็นสองเท่า
“ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเดือน ค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่นี่ถูกกว่ามาก แม้แต่ค่าสาธารณูปโภคก็ถูกกว่าในนิวซีแลนด์เช่นกัน” คอนนี่ วัลเดซ กามาลินดากล่าว
- นิวซีแลนด์ (เครดิต: Shutterstock) -
รับเงินเดือนได้สูงขึ้นเกือบ 30% ในออสเตรเลีย
เมื่อเทียบสภาพเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ จะพบเส้นทางที่แตกต่างกันในการรับมือวิกฤติค่าครองชีพ โดยธนาคารกลางของ “ออสเตรเลีย” มุ่งเน้นการชะลอเศรษฐกิจของตนลงอย่างนุ่มนวลในการจัดการเงินเฟ้อ ต่างจาก “นิวซีแลนด์” ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งคาดว่ายังคงดำเนินต่อในปีนี้
ในด้านอัตราการว่างงานนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% ในไตรมาสที่สอง เมื่อเทียบกับออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.1% ในเดือนมิถุนายน
“เศรษฐกิจของนิวซีแลนด์อ่อนแอลงมาก ต่างจากในออสเตรเลียที่มีโอกาสมากมาย และแน่นอนว่าเงินเดือนเป็นแรงดึงดูดที่แท้จริงสำหรับชาวกีวี (ชาวนิวซีแลนด์) จำนวนมาก” จาร์ร็อด เคอร์ (Jarrod Kerr) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Kiwibank ในเมืองโอ๊คแลนด์ของนิวซีแลนด์กล่าว
ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์ในออสเตรเลียอยู่ที่ 1,888 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เมื่อเทียบกับนิวซีแลนด์อยู่ที่ 1,586 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 1,453 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งหมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวกีวีสามารถรับเงินเดือนได้ “สูงขึ้นเกือบ 30%” ในออสเตรเลีย
ในการเดินทาง ออสเตรเลียเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับชาวนิวซีแลนด์มาอย่างยาวนาน เพียงเที่ยวบินสามชั่วโมงข้ามทะเลแทสมันก็ถึง และไม่มีข้อกำหนดเรื่องวีซ่าสำหรับพลเมืองนิวซีแลนด์ที่จะเริ่มทำงาน
ออกแพ็กเกจดูดแรงงานกีวีให้ไหลไปออสเตรเลีย
ปัจจุบัน ออสเตรเลียกำลังรณรงค์สรรหาบุคลากรอย่างเข้มข้น เพื่อดึงดูดชาวนิวซีแลนด์ให้ไปทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การสอนเด็กปฐมวัย ตำรวจ และเรือนจำ โดยล่อใจด้วยค่าจ้างที่สูงขึ้นพร้อมแพ็กเกจการย้ายถิ่นฐาน จนได้ชาวกีวีมาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของออสเตรเลีย ในขณะบริการที่จำเป็นบางอย่างในนิวซีแลนด์ เช่น โรงพยาบาล ต่างประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างเรื้อรัง
ชานนิน บริสโทว์ (Shannyn Bristowe) นักศึกษาพยาบาลปีที่สามในเมืองวากาตาเน บนเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ความลำบากในการหางานหลังจบการศึกษา ในช่วงที่เงินเฟ้อยังคงสูงและต้นทุนการกู้ยืมแพง กำลังผลักดันให้หลายคนหันไปหางานในต่างประเทศแทน
บริสโทว์กล่าวต่อว่า “เหล่านักศึกษาไม่แน่ใจว่าจะหางานทำได้หรือไม่ นั่นคือความกังวลที่ใหญ่ที่สุดของเรา โดยโอกาสในออสเตรเลียขณะนี้เป็นประโยชน์ และคุ้มค่ามาก”
“เรากำลังเห็นว่า คนหนุ่มสาวให้ความสนใจอย่างมากกับแรงกดดันด้านค่าครองชีพในนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราคาที่อยู่อาศัย” แกเร็ธ เคียร์แนน (Gareth Kiernan) ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัย Infometrics กล่าว “คนหนุ่มสาวที่ไม่ได้ผูกพันกับตลาดที่อยู่อาศัย และอาจไม่ได้ผูกพันกับตลาดงานในนิวซีแลนด์มากนัก พวกเขาเห็นโอกาสในออสเตรเลียที่กลายเป็นแรงดึงดูดที่แท้จริง”
วัลเดซ กามาลินดา ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมจากฟิลิปปินส์และอาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์มา 15 ปี ไม่คิดว่าครอบครัวของเธอจะย้ายกลับไปในเร็ว ๆ นี้ โดยเธอพูดว่า “นิวซีแลนด์ให้โอกาสที่ดีแก่เรา แต่ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว เรารู้สึกเหมือนกับว่าทุกอย่างขึ้นราคาหมด ยกเว้นค่าแรง ดังนั้น เราต้องคิดว่าจะไปอยู่สถานที่ไหนที่ดีกว่านี้”
อ้างอิง: bloomberg, bloomberg (2)