ปัญหา ‘ปากท้อง’ ตัวชี้ขาดสมรภูมิเลือกตั้งสหรัฐ ‘พญาอินทรี’ จะได้ ทรัมป์ หรือ แฮร์ริส
โพล “อิปซอสส์” หน่วยงานวิจัยการตลาดระดับโลกเผย ชาวอเมริกันให้ความสำคัญปัญหาเงินเฟ้อและปากท้องเป็นอันดับหนึ่ง ด้าน “ผศ.ดร.ประพีร์” ฟันธง ประเด็นเศรษฐกิจ-ปากท้องจะเป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่ “สนั่น” เผย ทรัมป์มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจริงแต่หากเข้ามาอาจขึ้นภาษีทั่วโลกกระหน่ำ
KEY
POINTS
- โพลเผยชาวอเมริกันให้ความสำคัญปัญหาเงินเฟ้อและปากท้องเป็นอันดับหนึ่ง
- ผศ.ดร.ประพีร์ฟันธงประเด็นเศรษฐกิจและปากท้องจะเป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้
- สนั่นชี้ทรัมป์มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจริงแต่หากเข้ามาอาจขึ้นภาษีทั่วโลกกระหน่ำ
เหลือเวลาเพียงไม่กี่เดือนสหรัฐอเมริกาก็จะเข้าสู่ “สมรภูมิการเลือกตั้ง” สมรภูมิที่เป็นเหมือนเข็มทิศสำคัญต่อทั้งบริบทการเมืองในสหรัฐฯ เองและบริบทการเมืองโลกรวมทั้งประเทศไทย
ในช่วงสองสามเดือนก่อนที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ จะประกาศถอนตัวออกจากสมรภูมินี้ สุ้มเสียงจำนวนมากของทั้งนักวิชาการ นักวิเคราะห์การเมือง และนักลงทุนต่างฟันธงว่าโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หลังจากชื่อของกมลา แฮริส รองประธานาธิบดี สหรัฐฯ เข้ามาแทนที่ สุ้มเสียงดังกล่าวเริ่มแตกออกเป็นสองทาง บ้างก็ยังเชื่อในทรัมป์แต่บ้างก็เริ่มมองว่ามีเค้าลางที่กมลาจะชนะการเลือกตั้ง
เพื่อฉายภาพให้เห็นประเด็นที่ชาวอเมริกันให้ความสนใจในปัจจุบันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกผู้นำของพวกเขาในครั้งนี้ นางสาววรรษมน อุจจรินทร์ อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และอดีตผู้สื่อข่าววอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) กล่าวบางช่วงของงานเสวนา “เลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ 2024 กับฉากทัศน์ต่อไปของไทยและโลก” ว่า
หากอ้างอิงผลสำรวจจาก อิปซอสส์ (Ipsos) หน่วยงานวิจัยการตลาดระดับโลกจะพบว่า ชาวอเมริกันปัจจุบันให้ความสนใจปัญหาเรื่อง “เงินเฟ้อและค่าครองชีพ” ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญอยู่ที่ประมาณ 50% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
ในขณะที่ปัญหาที่ตามลงมาคือเรื่องผู้อพยพ 33% ปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมืองจากสภาวะสุดโต่ง 24% ความรุนแรงจากปืนและอาชญากรรม 22% ขณะที่ประเด็นการบริการสาธารณะ และราคา-การเข้าถึงที่พักอาศัยอยู่ที่ 17% เท่ากัน
ด้าน ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตรบัณทิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย กล่าวเสริมว่า
ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวของแพงจากเงินเฟ้อเป็นเรื่องสำคัญในสังคมอเมริกันตอนนี้ เพราะช่วงการดำรงตำแหน่งของไบเดนทำผลงานออกมาไม่ดีถึงแม้จะมีความพยายามผ่านกฎหมายสำคัญทางเศรษฐกิจจำนวนหนึ่ง ดังนั้นคะแนนนิยมของพรรคเดโมแครตในด้านนี้จึงน้อยมาก
ขณะที่อย่างที่ทุกคนทราบว่าชื่อเสียงสำคัญของทรัมป์คือความสามารถทางด้านเศรษฐกิจและเขาเคยทำให้ประชาชนชาวอเมริกันเห็นมาแล้วครั้งหนึ่งว่าสามารถบริหารเศรษฐกิจได้ช่วงการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเป็นงานหนักของกมลาที่ต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถจัดการปัญหาข้าวของแพงได้ มิใช่เพียงการให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิสตรีและสภาวะโลกร้อนเท่านั้น
หากพิจารณาคะแนนนิยมปัจจุบันเดโมแครตได้รับความนิยมอย่างมากเพียงในรัฐที่เป็นเขตอุตสาหกรรมรกร้าง (The Rust Belt) เช่นมลรัฐเพนซิลเวเนียหรือมิชิแกน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงาน แต่ยังเป็นงานหนักของเธอที่ต้องเรียกคะแนนนิยมในกลุ่มมลรัฐทางตอนใต้ (The Sun Belt) เช่น ฟลอริดาหรือเท็กซัสซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ที่คะแนนนิยมเหวี่ยงไปมา (Swing States) ซึ่งการชูนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริงก็อาจจะช่วยดึงดูดคะแนนนิยมได้
จากประเด็นดังกล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า แฮร์ริสประกาศนโยบาย “เศรษฐกิจแห่งโอกาส” หรือ Opportunity Economy ในระหว่างการปราศรัยที่มลรัฐนอร์ทแคโรไลนาเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าวซึ่งมีเนื้อหามุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาค่าครองชีพและสร้างความแข็งแกร่งให้ชนชั้นกลางนโยบายดังกล่าวประกอบด้วย
- เด็กแรกเกิด: การลดภาษีและเพิ่มเครดิตภาษีผ่านการเสนอเครดิตเด็กแรกเกิดสูงถึง 6,000 ดอลลลาร์และลดภาษีสำหรับครัวเรือนที่มีบุตร
- ที่อยู่อาศัย: นโยบายที่มุ่งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ 3 ล้านยูนิตภายใน 4 ปี โดยสร้างแรงจูงใจทางภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกผ่านการให้เงิน 25,000 ดอลลาร์ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านค่าเช่า ควบคุมการขึ้นค่าเช่า รวมทั้งมาตรการควบคุมการเก็งกำไรที่อยู่อาศัยของบรรดาบริษัทในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท
- สินค้าในชีวิตประจำวัน: มาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านการห้ามการปรับขึ้นราคาสินค้าแบบเกินควร โดยมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางกำหนดบทลงโทษสำหรับบริษัทที่ละเมิดข้อจำกัดการขึ้นราคา
- สุขภาพ: นโยบายการลดค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งยารักษาโรคและยกเลิกหนี้ทางการแพทย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ แน่นอนว่าในทางตรงกันข้ามหากทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดี ปัญหาปากท้องของชาวอเมริกันก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีเพราะทรัมป์มีอุดมการณ์แน่วแน่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกันเหนือกว่าประเด็นมนุษยชนอื่นๆ
ทว่านายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวบางช่วงในงานเสวนาว่า ประเด็นที่จะเข้ามาสร้างความตึงเครียดให้เศรษฐกิจโลกต่อมาคือทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้าประเทศของตัวเองอย่างแน่นอน โดยสินค้าจากจีนโดนกำแพงภาษีอย่างน้อย 60% แน่นอน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยอาจจะอยู่ที่ 10%
นอกจากนี้ นายสนั่นกล่าวต่อว่า หากทรัมป์เข้ามา เขาจะเข้าตรวจสอบประเทศไทยอย่างแน่นอนว่าสินค้าในกลุ่มใดของเราที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่การขึ้นกำแพงภาษีที่สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อสร้างความสมดุลให้อเมริกา ในขณะเดียวกันหากกมลาเข้ามาอาจจะมีประเด็นเรื่องการขึ้นกำแพงภาษีไม่มากนัก ทว่ารัฐบาลไทยอาจต้องเตรียมรับมือกำแพงภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นจากประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมแทน
อ้างอิง: Bloomberg