‘วิกฤติเหล็ก’ กำลังมา เหล็กจีนล้นโลก ฉุดราคาต่ำสุด 2 ปี

‘วิกฤติเหล็ก’ กำลังมา  เหล็กจีนล้นโลก ฉุดราคาต่ำสุด 2 ปี

จากปัญหาการผลิตล้น (Overcapacity) ในจีนที่นำไปสู่ผลกระทบต่อบางอุตสาหกรรมเช่น แผงโซลาร์เซลล์ ล่าสุดมีสัญญาณมาถึง “อุตสาหกรรมเหล็ก” เป็นรายต่อไป หลังบริษัทผู้ผลิตเบอร์ 1 ของโลกออกโรงเตือนอุตสาหกรรมจ่อวิกฤติรุนแรง ขณะที่ราคาสินแร่เหล็กร่วงต่ำสุดในรอบ 2 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดแร่เหล็กโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรง เมื่อราคาฟิวเจอร์สแร่เหล็กในตลาดสิงคโปร์ร่วงลงสู่ระดับ 92.65 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ “อุปทานส่วนเกินทั่วโลก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ผู้ผลิตเหล็กของจีนกำลังประสบปัญหาและต้องลดกำลังการผลิตลง

“ไชน่า เป่าอู่ สตีล กรุ๊ป” (China Baowu Steel Group Corp) ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดเบอร์ 1 ของโลกจากจีน ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กในจีนที่อาจจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก และจะยิ่งฉุดให้อุตสาหกรรมนี้ถดถอยลงไปอีก

“สถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมเหล็กของจีนเป็นเหมือน ฤดูหนาวที่โหดร้ายที่จะยาวนาน หนาวเย็น และยากที่จะทนเกินกว่าที่เราคาดการณ์ไว้" หู หวางหมิง ประธานของบริษัทไชน่าเป่าอู่สตีลกรุ๊ป กล่าวกับพนักงานในการประชุมรอบครึ่งปีที่ผ่านมา โดยเตือนว่าสถานการณ์ตอนนี้จะเป็นความท้าทายที่เลวร้ายกว่าวิกฤติครั้งใหญ่ในปี 2551 และ 2558

นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตาเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดของโลก

เบอร์ 1 อย่างเป่าอู่ สตีล ซึ่งมีปริมาณการผลิตเหล็กมากถึงราว 7% ของโลก ได้ออกมาเตือนถึง “ความเสี่ยง”ที่อาจเกิดขึ้นกับอุปสงค์และราคาเหล็ก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง

ด้าน "ทิสเซ่นกรุปป์ เอจี” (ThyssenKrupp AG) ยักษ์ใหญ่ด้านเหล็กของเยอรมนีเน้นย้ำถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมนี้ต้องเผชิญ หลังจากรายงานผลประกอบการที่ย่ำแย่

ข้อความที่ชัดเจนของหู น่าจะเป็นความกังวลสำหรับคู่แข่งทั่วเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กจีนต้องเผชิญกับความต้องการภายในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จีนเร่งการส่งออกเหล็กไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกเหล็กของจีนในปีนี้จะสูงถึง 100 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปี เพื่อชดเชยการชะลอตัวภายในประเทศ

ราคาตกต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ราคาแร่เหล็กฟิวเจอร์ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่ใช้ในการผลิตเหล็ก ร่วงจากระดับ 100 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงกว่า 30% แล้วในปีนี้ โดยราคาในตลาดสิงคโปร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วร่วงลงสู่ระดับ 92.65 ดอลลาร์ต่อตัน แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565

ในสัปดาห์นี้ ทีมนักวิเคราะห์ธนาคารซิตี้กรุ๊ปได้ปรับลดคาดการณ์ราคาแร่เหล็กช่วง 3 เดือน ลงมาเหลือเพียง 85 ดอลลาร์ต่อตัน จากคาดการณ์เดิมที่ 95 ดอลลาร์ต่อตัน

ซิตี้กรุ๊ปยังระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคามีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงไปถึง 80 ดอลลาร์ต่อตัน เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กกล้าในจีนลดการผลิตลง ในขณะที่พลวัตของตลาดได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยจีนกำลังเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ต้องการเหล็กกล้าน้อยลง

“จีนกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่นำโดยพลังการผลิตใหม่ ซึ่งต้องการเหล็กกล้าน้อยลง” ทีมนักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ปกล่าวและระบุว่า บรรดาโรงงานเหล็กในจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้ จะต้องปรับระดับปริมาณการผลิตให้เหมาะสม เพราะจะส่งผลกระทบต่อราคาและการบริโภคตามมา

วิเวก ธาร์ นักกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ของธนาคารคอมมอนเวลธ์ในออสเตรเลีย กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีการบริโภคเหล็กกล้าประมาณ 30% และจีนยังนำเข้าแร่เหล็กประมาณ 3 ใน 4 ของทั้งโลก แต่เนื่องจากวิกฤติที่เผชิญอยู่ท่ามกลางราคาอสังหาฯ ที่ร่วงลงเร็วสุดในรอบ 10 ปี จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะส่งผลกระทบรุนแรงไปยังอุตสาหกรรมเหล็กและราคาแร่เหล็กด้วย

ล่าสุด ราคาแร่เหล็กเริ่มปรับตัวโดยเพิ่มขึ้นถึง 3.5% ในตลาดสิงคโปร์เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เนื่องจากได้ปัจจัยบวกมาตรการของจีนที่เปิดทางให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถขายบอนด์ไปซื้อบ้านได้ เพื่อช่วยพยุงตลาดที่อยู่อาศัยที่ขายไม่ออกอีกทางหนึ่ง แต่เป็นที่คาดว่ามาตรการขนาดเล็กเช่นนี้จะไม่สามารถช่วยพยุงราคาได้นานนัก

นักวิเคราะห์จากธนาคารแบงก์ออฟอเมริกาเปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า อุตสาหกรรมเหล็กกล้าของจีนกำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมาก เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอกำลังกัดกร่อนกำไรเพิ่มขึ้น และคาดว่าอุปสงค์จะยังคงซบเซาต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 พร้อมกับตลาดอสังหาฯ ที่อ่อนแรงในจีน ทำให้ผู้ผลิตจีนต้องมองหาการ “ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ” แทน

ข้อมูลจากแบงก์ออฟอเมริกาพบว่า 5 ประเทศในอาเซียนประกอบด้วย เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดูดซับเหล็กที่ส่งออกมาจากจีนแล้วถึง 26% ในปีที่แล้ว ตามมาด้วยเกาหลีใต้อีก 9% ซึ่งการระบายสต็อกของจีนอาจทำให้เกิดภาวะเหล็กล้นตลาดในประเทศเหล่านี้จนกระทบต่อผู้ผลิตท้องถิ่นและราคาหุ้นในประเทศ

“อาร์เซเลอร์ มิตตัล” (ArcelorMittal) ผู้ผลิตเหล็กอันดับ 2 ของโลก แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของ “การระบายเหล็กจากจีน” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเหล็กทั่วโลก และทำให้ตลาดโลกอยู่ในสภาวะที่ไม่ยั่งยืน

“การผลิตส่วนเกินของจีนเมื่อเทียบกับความต้องการ ส่งผลให้สเปรดเหล็กในประเทศต่ำมากและมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” อาร์เซเลอร์มิตตัลระบุในรายงานผลประกอบการไตรมาสสองที่ผ่านมา