สำรวจลีลาการผงาดของ ‘มังกร’ ที่ทำให้ ‘อินทรี’ ต้องเสียวสันหลัง
“กรุงเทพธุรกิจ” ชวนพูดคุยกับ รศ. ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับเส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ยุคการบริหารประเทศของเหมา เจ๋อตง จนถึงยุคของสี จิ้นผิงวาระปัจจุบัน
ภาพของตึกสูงระฟ้าที่ตั้งตระหง่านอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ของประเทศจีนซึ่งดูทันสมัย รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่วิ่งรับผู้โดยสารจากทั่วสารทิศทั้งปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้หรือจากปักกิ่งไปทิเบต เทคโนโลยีหลายอย่างที่ช่วยอำนวยความสะดวกคนในประเทศ รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่วิ่งเต็มถนนกันแบบขวักไขว่
ทั้งหมดคือภาพสะท้อนถึงความเจริญซึ่งสำหรับคนที่เคยไปเยือนประเทศจีนเมือง 10 กว่าปีที่แล้วอาจจะนึกไม่ถึงว่า “พญามังกร” จะสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดได้มากขนาดนี้
จากประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยประสบกับความไม่สงบภายในประเทศและสภาวะทุพภิกขภัยอย่างรุนแรงเนื่องจากการบริหารผิดพลาดของผู้นำ ทว่าพญามังกรกลับใช้เวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษในการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกรองจากพญาอินทรีอย่างสหรัฐอเมริกา
วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ (รศ.) ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับเส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ยุคการบริหารประเทศของเหมา เจ๋อตง จนถึงยุคของสี จิ้นผิงวาระปัจจุบัน
‘เหมา เจ๋อตง’ จุดเริ่มต้นและจุดจบของซ้ายสุดโต่ง (?)
เพื่อให้เข้าใจบริบทการพัฒนาของเศรษฐกิจจีนจำเป็นต้องเข้าใจไทม์ไลน์เชิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่การปกครองประเทศของเหมา เจ๋อตงเป็นต้นมา ดังนั้น รศ.ดร.วาสนา จึงเริ่มเล่าให้ฟังว่า สาธารรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นมาในปี 1949 ภายใต้การปกครองของเหมาจนถึงปี 1976 หรือราว 27 ปี ซึ่งเรียกว่ายุค “Maoism” หรือลัทธิแบบเหมา
แต่ระหว่างนั้นก็มีช่วงสั้นๆ ตั้งแต่ปี 1959 – 1966 ที่เหมาก้าวลงจากตำแหน่งโดยเขาให้เหตุผลว่าเป็นเพราะต้องการวางมือจากการบริหารประเทศและกลับไปเลี้ยงหลาน ทว่าในความเป็นจริง รศ.ดร.วาสนากล่าวว่า เป็นเพราะนโยบาย “ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่” หรือ The Great Leap Forward ที่เหมาต้องการทำให้ประเทศจีนเป็นคอมมิวนิสต์แบบเต็มตัวแต่สุดท้ายก็ผิดพลาดจนเกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่จนทำให้ประชาชนเสียชีวิตหลายสิบล้านคน
จุดกำเนิด ‘ทุนนิยม’ ในจีน
ดังนั้นตั้งแต่ปี 1959 – 1966 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติ หลิว เซ่าฉีจึงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีและเป็นตอนนั้นเองที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ในฐานะสหายเข้ามาบริหารประเทศในระดับบริหารสูงสุด
ตอนนั้นหลิว เซ่าฉี ออกนโยบายเศรษฐกิจสำคัญคือ “นโยบายความรับผิดชอบ” ที่ว่ากันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งมาร์จิ้นให้ระบอบการปกครองแบบทุนนิยม โดยภาครัฐจะกำหนดโควตาการผลิตสินค้าเกษตรให้แต่ละบ้านเพื่อส่งเข้าส่วนกลางแต่สำหรับครัวเรือนใดที่ผลิตได้เกินกว่ากำหนดก็สามารถนำไปจัดการเป็นส่วนของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำทุนหรือแลกเปลี่ยนก็ตาม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นบทเรียนสำคัญให้เติ้ง เสี่ยวผิงนำไปใช้บริหารประเทศในยุคถัดไปด้วย
จากซ้ายสุดโต่งสู่จีนยุคเปิดประเทศโดย ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’
รศ.ดร.วาสนา อธิบายต่อว่า หลังจากใช้ระบบการแบ่งมาร์จิ้นให้ทุนนิยมไปประมาณ 6-7 ปี เหมาเริ่มไม่พอใจกับนโยบายความรับผิดชอบเพราะรู้สึกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ระบอบการปกครองแบบทุนนิยมกลับมา ดังนั้นเขาจึงขับเคลื่อนให้เกิดการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” และทำลายระบบดังกล่าว จากเหตุการณ์นั้นทั้งหลิว เซ่าฉีและเติ้ง เสี่ยวผิงจึงถูกขับออกจากตำแหน่งบริหาร และ ณ เวลานั้นเองถือว่าเป็นช่วงที่จีนกลับไปอยู่ในระบบแบบซ้ายจัดอีกครั้ง
ต่อมาเมื่อเหมาอสัญกรรมในปี 1976 เติ้ง เสี่ยวผิงจึงสามารถรวบรวมอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์ได้และประกาศยุติการปฏิวัติวัฒนธรรมรวมถึงสถาปนาตัวเองขึ้นไปเป็นผู้นำสูงสุดของพรรครวมทั้งประกาศนโยบายปฏิรูปเปิดประเทศในปี 1978 หรือประมาณ 2 ปีหลังจากการอสัญกรรมของเหมา
โดยสิ่งแรกที่เติ้ง เสี่ยวผิงเริ่มทำหลังจากเปิดประเทศคือการ “ทุบชามข้าวเหล็ก” โดยอาจารย์วาสนาขยายความว่า “ชามข้าวเหล็กเป็นคำเปรียบเทียบ หมายถึงในยุคเหมาทุกคนเป็นลูกจ้างของรัฐ ทุกคนมีงานทำหมด ดังนั้นทุกคนจะไม่มีวันถูกหักเงินเดือนหรือถูกไล่ออกและทุกคนจะไม่มีวันเปลี่ยนงานเว้นแต่จะเป็นงานที่ดีกว่าเดิม
“แต่ปัญหาคือในความเป็นจริง รัฐไม่สามารถมีงานให้ทุกคนทำทั่วถึงกันได้แล้วงานที่ทำให้รัฐก็ไม่สามารถสร้างเงินมากพอที่จะบริโภคพออยู่พอกิน โดยเฉพาะช่วงท้ายของเหมาระบบของเหมา แทบใช้งานไม่ได้เลย”
“ดังนั้นเติ้งเลยยกเลิกไม่รับผิดชอบหางานให้ประชาชนทำ แต่ทุกคนมีธุรกิจของตัวเองได้ เราจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เธอไปทำงานอยู่กับบริษัทต่างชาติก็ได้ เธอไปทำงานบริษัทเอกชนก็ได้ มีงานให้เธอทำอีกเยอะแยะ เธอไม่มีชามข้าวเหล็กแล้ว แต่เธอมีชามข้าวธรรมดาที่จะสามารถหาเงินได้เยอะกว่าเดิมเยอะมาก”
‘เทียนอันเหมิน’ จุดหักเหสำคัญของประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่
รศ.ดร.วาสนา กล่าวว่า หนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศจีนและเศรษฐกิจจีนคือการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิ.ย. 1989 เพราะเป็นจุดที่รัฐบาลจีนประกาศชัดเจนว่าจะปฏิรูปเฉพาะเศรษฐกิจแต่ไม่ปฏิรูปการเมือง ดังนั้นเพื่อหาข้ออ้างที่สมเหตุสมผลให้เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น ข้ออ้างเดียวคือการทำให้เศรษฐกิจจีนดีให้ได้และทำให้ทุกคนรวย มีอยู่มีกิน
“การที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน คุณใช้อำนาจและความรุนแรงปกครองประชาชนไม่ได้หรอก คุณต้องมีอะไรบางอย่างที่โน้มนำให้ประชาชนอยากให้ความร่วมมือกับคุณ ดังนั้น Narrative (เรื่องเล่า) ที่เกิดขึ้นมาหลังจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989 คือเราทุกคนจะรวย”
หลังจากเติ้ง เสี่ยวผิงลงจากตำแหน่งจากนั้นจึงเป็นยุคของเจียง เจ๋อหมินในปี 1993 จากนั้น 10 ปีต่อมาก็เป็นยุคของ หู จิ่นเทาในช่วงปี 2003 – 2013 และก็ตามมาด้วย สี จิ้นผิงในปี 2013 แล้วก็มาหมดวาระ 2 ปีที่ 2023 ซึ่งรศ.ดร.วาสนา กล่าวว่า ผู้นำทั้งสามคนนี้ยังบริหารประเทศสอดคล้องกับอุดมการณ์ของเติ้ง เสี่ยวผิง ยกเว้นสี จิ้นผิงในวาระปัจจุบันที่ใช้นโยบาย “ความมั่นคงนำหน้าความมั่งคั่ง”
อสังหาฯ เครื่องมือดันจีดีพีของรัฐบาลจีน ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี (?)
หากกลับไปพิจารณาการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ตลอดปี 1992 – 2009 ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีจีนโตเกิน 10% มาโดยตลอด โดยรศ.ดร.วาสนา เล่าว่า ที่มาที่ไปของการที่จีดีพีปรับตัวขึ้นสูงมากเป็นเพราะรัฐบาลจีนใช้ “เครื่องมือ”สำคัญอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ในการดันการเติบโตเพื่อตอบสนองในการใช้ความรุนแรง ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน
“ตัวเลขจีดีพีไม่ได้สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจเสมอไป เพราะมีวิธีที่จะปั่นตัวเลขจีดีพีได้ ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แล้วส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของจีน คือสมัยก่อนในยุคที่เป็นของเหมา ไม่มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ตอนนั้นที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐบาล แต่พอปฏิรูปและเปิดประเทศก็ผ่อนคลายให้ประชาชนสามารถเช่าที่ดินระยะยาวได้ 30 – 99 ปี”
ประเด็นดังกล่าวผูกพันกับการเก็บภาษีของรัฐบาลจีนในยุคของนายกรัฐมนตรีจู หรงจี ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมินวาระที่ 2 เขาปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีโดยเดิมทีจังหวัดต่างๆ ของจีนสามารถเก็บภาษีไว้ใช้ในจังหวัดของตัวเองได้
ทว่าในช่วงนั้นรัฐบาลกลางปักกิ่งประกาศว่า ต่อไปรัฐบาลท้องถิ่นเก็บภาษีได้เท่าไรต้องส่งคืนให้รัฐบาลกลาง 50% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาจังหวัดอย่างแน่นอน แต่วิธีดังกล่าวเป็นแนวทางกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคในจังหวัดเนื่องจากรัฐบาลกลางเปิดอกาสให้รัฐบาลท้องถิ่นคิดโครงการเพื่อเขียนของบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มเติมได้ซึ่งถือเป็นการแสดงศักยภาพของแต่ละจังหวัดในการพัฒนาเศรษฐกิจ
นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นจะได้คืนมานอกจากงบประมาณจากการเขียนโครงการแล้ว ส่วนกลางจะผ่อนคลายการควบคุมอสังหาริมทรัพย์และอนุญาติให้รัฐบาลท้องถิ่นใช้ที่ดินเป็น “ต้นทุน” ในการหารายได้เพิ่มเติมด้วย รวมทั้งผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธนาคารจัดตั้งธนาคารของแต่ละจังหวัดซึ่งแต่เดิมการจัดตั้งธนาคารเป็นเรื่องยุ่งยากมากในจีน
“ทีนี้พอเปิดธนาคารง่ายขึ้น ก็สามารถระดมทรัพยากรได้ง่ายขึ้นตามไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในเมื่อต้นทุนของรัฐบาลท้องถิ่นคือที่ดิน ดังนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ที่ว่ารัฐบาลท้องถิ่นนำที่ดินออกมาให้เช่าเพื่อให้มีงบประมาณเบื้องต้นที่จะทำโครงการต่างๆ หรือถ้าเปิดให้เช่าหมดแล้ว แต่ยังต้องการจะระดมทุนเพื่อพัฒนาอสังหาฯ เพิ่มเติม รัฐบาลท้องถิ่นก็สามารถตั้งธนาคารได้ แล้วธนาคารนี้ก็สามารถขายพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อหาเงินได้ เช่นพันธบัตรจาก LGFVs เป็นต้น”
รศ.ดร.วาสนา สรุปให้เห็นภาพรวมว่า จากเครื่องมือดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีนสามารถสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจจนมากกว่าระดับ 10% ได้ผ่านการที่กระตุ้นให้รัฐบาลท้องถิ่นเขียนขอทุนเพื่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือสถานศึกษา แล้วก็เกิดการจ้างงานในจังหวัดจนเป็นสาเหตุให้เกิดเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจจีนมหาศาลและดันให้เศรษฐกิจเติบโต
“ทศวรรษ 1990 ถึงช่วงทศวรรษ 2000 จีนสร้างทางด่วน รถไฟความเร็วสูง เชื่อมจังหวัดต่างๆ ซึ่งสองอย่างนี้ทำให้ตัวเลขจีดีพีขึ้นไวมากโดยไม่จำเป็นต้องแปลว่าเศรษฐกิจโตจริง เพราะถ้าคุณสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกๆ จากปักกิ่งมาเซี่ยงไฮ้ เนี่ยโอเค คนใช้เยอะมาก แต่พอสร้างไปเรื่อยๆ มันต้องไปสร้างที่ๆ ไม่มีคนไป เช่นสร้างไปทิเบต ซึ่งคนใช้น้อยมาก แบบนี้ก็ขาดทุน”
“หรือการพัฒนาอสังหาฯ มากกมาย จนตอนหลังได้ยินว่ามี Ghost Town ในจีนคือสร้างอสังหาฯ เยอะมาก มีเมืองทั้งเมือง หมู่บ้าน โรงหนัง โรงเรียน แต่ไม่มีคนไปอยู่ เพราะไกลจากเมืองใหญ่มาก แต่จังหวะที่กู้เงินมาสร้างและขายดาวน์ไปแล้ว จังหวะนี้ ตัวเลขจีดีพีขึ้นแล้ว ทว่าสุดท้าย ถ้าขายไม่ออก ตัวเลขการเติบโตนั้นมันก็ไม่ได้เป็นความจริงเป็นเพียงฟองสบู่”
จากปัญหาทั้งหมดจึงเป็นที่มาว่า เหตุใดเมื่อภาคอสังหาฯ ในจีนเกิดวิกฤติจึงเชื่อมโยงไปที่ภาคส่วนอื่นๆ จำนวนมากเพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร และรัฐบาลท้อนถิ่นต่างเชื่อโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปี 2009 คือปีสุดท้ายที่จีดีพีโตเกิน 10% เพราะเริ่มเกิดวิกฤติอสังหาฯ
รศ.ดร.วาสนา ทิ้งท้ายว่า สี จิ้นผิง เข้ามาเป็นประธานาธิบดีในปี 2013 จีดีพีโตไม่ถึง 10% เพราะเริ่มไม่มีอะไรให้สร้างต่อ รถไฟความเร็วสูงเริ่มสร้างไม่ได้แล้ว พัฒนาอสังหาฯ ก็เริ่มยากเพราะไม่มีคนซื้อ ทุกอย่างเริ่มอิ่มตัว
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการที่สี จิ้นผิงพยายามผลักดันนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) เพื่อไปรับการเติบโตของจีดีพีในต่างประเทศมาขยายการเติบโตในประเทศตัวเอง แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิดจากการเข้ามาของโควิด-19 ที่ทำให้การเชื่อมโยงในประเทศต่างๆ ยุติลง