มหาเศรษฐีเลือกเก็บ'ทองคำ'ในตู้เซฟ ความมั่งคั่งที่จับต้องได้
นักลงทุน ‘ทองคำ’ หันหลังให้กองทุน ETF ซื้อ-ขายทองคำนอกตลาดเลือกเก็บทองคำใน ‘ตู้เซฟ’ความมั่งคั่งที่จับต้องได้และไร้ร่องรอย ดันธุรกิจห้องนิรภัยขยายตัวรับการลงทุน
กระแสความนิยมในการลงทุน “ทองคำ” ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และที่ราคาทองคำพุ่งทะลุ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักลงทุนสถาบันและสำนักงานครอบครัวในเอเชียที่หันมาซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองกันอย่างคึกคัก ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาด (OTC)ทำสถิติสูงสุดในรอบ 25 ปี
ขณะเดียวกัน การซื้อขายทองคำในตลาดนอก ซึ่งเป็นตลาดที่ไม่เปิดเผยข้อมูลการซื้อขายอย่างโปร่งใส แต่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ เช่น บุคคลที่มีความมั่งคั่งสูงหรือระดับมหาเศรษฐี กองทุนความมั่งคั่งของรัฐและกองทุนเฮดจ์ พบว่ามีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นถึง 450 ตันในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2567
ฟิลิป คลาปวิก กรรมการผู้จัดการของ Precious Metals Insights Ltd. กล่าวมองว่ากลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งสูงเป็นกลุ่มที่ทำให้ราคาทองคำแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรก จากการคาดการณ์สถาการณ์ปัจจุบันของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้มีการเพิ่มการลงทุนในทองคำหรือเริ่มการลงทุน
นิโคลอส ปานิกีร์โซกลู นักวิเคราะห์จาก JPMorgan ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ความต้องการครอบครองสินทรัพย์ที่จับต้องได้และเป็นการลงทุนที่มีความเป็นส่วนตัว เช่น ทองคำ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในกลุ่มนักลงทุนระดับมหาเศรษฐีและสำนักงานครอบครัว
วิธีลงทุน ‘ทองคำ’กำลังเปลี่ยนไป
ปานิกีร์โซกลเผยว่านักลงทุนจำนวนมากได้ลดการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ที่เน้นลงทุนในทองคำและเงิน ซึ่งเริ่มเห็นชัดตั้งแต่ปี 2563 และ 2564 โดยมีปริมาณทองคำที่ถูกถอนออกจาก ETFสูงถึงเกือบ 900 ตัน ขณะที่เงินก็ถูกถอนออกไปประมาณ 9,500 ตัน
เหตุผลที่นักลงทุนเริ่มหลีกเลี่ยงการลงทุนใน ETF ทองคำและเงินก็คือ ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เนื่องจากการลงทุนผ่าน ETF ทำให้ข้อมูลการซื้อขายถูกบันทึกไว้ ซึ่งขัดกับความต้องการของนักลงทุนบางกลุ่มที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในการลงทุน
นอกจากนี้ ปานิกีร์โซกลู ยังกล่าวถึงความเสี่ยงของคู่สัญญาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนไม่นิยม ETF เพราะการถือครองทองคำผ่าน ETF ก็เหมือนกับการถือ "ใบรับรองกระดาษ" ที่แสดงถึงกรรมสิทธิ์ในทองคำ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทผู้จัดการกองทุนมีปัญหา
เมื่อเปรียบเทียบกับการถือครองทองคำแท้ๆ นักลงทุนหลายคนจึงมองว่าการถือทองคำแท้มีความน่าสนใจมากกว่า เพราะเป็นการครอบครองสินทรัพย์จริง ๆ ที่สามารถจับต้องได้ และไม่ต้องพึ่งพาความน่าเชื่อถือของบุคคลที่สาม
มานพรีท กิลล์ นักกลยุทธ์ของ Standard Chartered Wealth Management สังเกตเห็นความสนใจในทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือความไม่แน่นอนจากนโยบายของธนาคารกลาง
"ทองคำมักถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยรักษามูลค่าในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนสูง แต่ในขณะเดียวกัน ทองคำก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระยะยาว ดังนั้น เราจึงมองว่าทองคำเป็นเหมือน 'ประกันภัย' ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงในระยะสั้นมากกว่า" กิลล์กล่าวเสริม
ความต้องการโซลูชั่นการจัดเก็บทองคำที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนจำนวนมากหันมาถือครองทองคำแท้มากขึ้น โดยเลือกที่จะถอนทองคำออกจากกองทุน ETF และเก็บไว้เป็นของตนเองเอง สิ่งนี้ทำให้เกิดความต้องการบริการจัดเก็บทองคำที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากขึ้น
คลังทองคำโลกอยู่ที่ไหนบ้าง
ธนาคารกลางนิวยอร์กและธนาคารอังกฤษถือเป็นคลังเก็บทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทั้ง 2 สถาบันทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลทองคำให้กับธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกมากมาย
- ธนาคารกลางนิวยอร์ก: ณ ข้อมูลล่าสุด ธนาคารกลางนิวยอร์กมีทองคำสำรองอยู่ที่ 6,331 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มหาศาลและแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสหรัฐอเมริกาในฐานะศูนย์กลางการเงินโลก
- ธนาคารอังกฤษ: ตู้เซฟของธนาคารอังกฤษในลอนดอนก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่เก็บรักษาทองคำที่สำคัญ โดยมีทองคำสำรองอยู่ที่ 5,266 ตัน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม
นอกจากธนาคารกลางแล้ว บริษัทชั้นนำด้านการเงินและโลจิสติกส์ เช่น JPMorgan Chase, HSBC, Brink's และ Malca-Amit ก็มีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บโลหะมีค่าระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศูนย์กลางการเงินสำคัญอย่างลอนดอนและนิวยอร์ก บริษัทเหล่านี้มีคลังเก็บขนาดใหญ่ที่รองรับความต้องการของกองทุน ETF ต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางการลงทุนในทองคำและเงินที่ได้รับความนิยมสูง
ตู้เซฟเก็บทองคำ 500 ตัน
“สิงคโปร์” กำลังผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บทองคำระดับโลก หลังจากมีการเปิดตัว เดอะรีเซิร์ฟ "The Reserve" ตู้เซฟขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บทองคำได้มากถึง 500 ตัน กับตู้เซฟสุดหรูหุ้มออนิกซ์ดำ สูงถึง 105 ฟุต เท่าตึก ที่คุณสามารถมั่นใจได้ว่าทองคำของคุณจะปลอดภัยที่สุด
The Reserve คือ ตู้เซฟเก็บทองคำที่เพิ่มขึ้นของคนรวยทั่วโลกบนโกดัง 6 ชั้น ครอบคลุมพื้นที่กว่า 16,700 ตารางเมตร สามารถจุเงินสดได้มากถึง 10,000 ตัน และทองคำอีก 500 ตัน ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณทองคำที่ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อในปีที่ผ่านมา
เกรเกอร์ เกรเกอร์เซน ผู้ก่อตั้งบริษัท Silver Bullion กล่าวว่าตู้เซฟได้รับเสียงตอบรับที่ดีเกินคาดจากลูกค้า ทำให้เราตัดสินใจขยายขนาดตู้เซฟให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาด หลังจากที่ตู้เซฟก่อนหน้านี้หมดพื้นที่
คริสเตียน จาก CPM ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันมีการสร้างคลังเก็บทองคำที่ไม่ใช่ธนาคารจำนวนมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิงคโปร์ ซึ่งกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บทองคำที่สำคัญแห่งใหม่
การเติบโตของคลังเก็บทองคำในสิงคโปร์ส่งผลให้สิงคโปรก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของศูนย์กลางการจัดเก็บทองคำแบบดั้งเดิม เช่น ลอนดอนและซูริก นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การลงทุนในทองคำ
นอกจากสิงคโปร์แล้ว ประเทศนิวซีแลนด์ก็กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในการเป็นที่ตั้งของคลังเก็บทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง New Zealand Vault ในเมืองเวลลิงตัน ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ลูกค้าส่วนใหญ่ของ New Zealand Vault เป็นสำนักงานครอบครัวจากฮ่องกงและสหรัฐอเมริกาที่ต้องการความปลอดภัยและความมั่นคงในการจัดเก็บทองคำของตน
อ้างอิง bloomberg