เจ้าของ Temu หลุดเศรษฐีเบอร์ 1 จีน หลังหุ้นร่วงแรงวันเดียว 29%
เจ้าของ Temu หลุดเศรษฐีเบอร์ 1 จีน แรงฉุดหุ้นบริษัทแม่ PDD ร่วงแรงวันเดียว 29% หลังรายงานผลประกอบการไม่เข้าเป้า จากสงครามอีคอมเมิร์ซแข่งเดือด จนบริษัทชะลอการจ่ายเงินปันผล และซื้อหุ้นคืน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หุ้นของพินตัวตัว โฮลดิ้ง( PDD Holdings Inc) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ เทมู(TEMU) อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ร่วงลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์กว่า 29% ในวันเดียว หลังจากรายงานว่าการเติบโตของรายได้จะชะลอตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ราคาหุ้น PDD ที่ร่วงลงอย่างรุนแรงส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของ “คอลลิน หวง” ผู้ก่อตั้งบริษัทพินตัวตัว บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหายไป 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของ Bloomberg Billionaires Index ทำให้ตอนนี้ หวง กลายมาเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของจีน โดยมีทรัพย์สินสุทธิ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์
PDD รายงานรายได้ไตรมาส 2 ปี 2567 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และเตือนว่าการเติบโตของยอดขายจะชะลอตัวลง โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเฉลี่ยที่ 1 แสนล้านหยวน
“เฉิน เล่ย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวกับนักวิเคราะห์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลังจากมีการเปิดเผยผลประกอบการว่าแนวโน้มการเติบโตของรายได้ที่สูงของบริษัทไม่ยั่งยืน และมีความเป็นไปได้ที่การทำกำไรจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมองว่าตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคู่แข่งรายใหญ่ เช่น TikTok และ Alibaba ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก และกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
แคทเธอรีน ลิม และทรินี แทน นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กมองว่ากำไรที่ลดลงของ PDD จาก บริษัทเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อรับมือกับการแข่งขันระดับโลกที่เพิ่มมากขึ้น บ่งชี้ถึงแนวโน้มขาลงของกำไรในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งคาดการณ์ว่าอัตรากำไรจะสูงขึ้นจนถึงปี 2568 และมีแนวโน้มการเติบโตในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะชะลอตัวลง
PDD ชะลอการจ่ายเงินปันผล และซื้อหุ้นคืน
ในช่วงการประชุมกับนักลงทุน ฝ่ายบริหารของบริษัทได้ประกาศว่าจะชะลอการจ่ายเงินปันผล และการซื้อหุ้นคืนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยให้เหตุผลว่าบริษัทกำลังเผชิญกับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และปัจจัยภายนอกที่ไม่แน่นอน
เฉิน เล่ย เผยว่าบริษัทอยู่ในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนสูง และบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายจากคู่แข่งหลายราย รวมถึงปัจจัยภายนอกที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้น เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโต และรักษาความแข็งแกร่งในระยะยาว ทีมผู้บริหารจึงเห็นพ้องกันว่า การนำเงินไปลงทุนในธุรกิจ และพัฒนาศักยภาพของบริษัทนั้นสำคัญกว่าการจ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นคืนในขณะนี้
นอกจากนี้ Temu กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ หลังจากการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากการแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซที่รุนแรงแล้ว Temu ยังต้องเผชิญกับการตรวจสอบกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นจากหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมทั้งสหภาพยุโรปที่กำลังดำเนินการเสนอเพื่อปิดช่องโหว่ภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าราคาถูกผ่านช่องทางออนไลน์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์