‘เมียนมา’ ตรวจสอบการโอนเงินแรงงานเข้ม หวังบรรเทาวิกฤติขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ
เมียนมา ออกมาตรการตรวจสอบการโอนเงินกลับประเทศของแรงงานเข้มงวดขึ้น โดยให้หน่วยงานจัดหางานเป็นผู้ส่งหลักฐานโอนเงินของแรงงานเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบรรเทาวิกฤติขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกแบนจากการทำงานในต่างประเทศเป็นเวลา 3 ปี
รัฐบาลทหารเมียนมาที่ปัญหาทางการเงิน ดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานจัดหางานแรงงาน 580 แห่งทั่วประเทศเข้มงวดมากขึ้น พยายามหาเงินเพิ่มจากรายได้ของแรงงานที่ทำงานในต่างประเทศ เพื่อแก้ไขความขาดแคลนเงินตราต่างประเทศและสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจ
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า กระทรวงแรงงานเมียนมาได้สั่งบริษัทจัดหางานให้ส่งหลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ ของแรงงานให้กับกระทรวงฯด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา หากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกระงับการดำเนินงาน และได้เริ่มตรวจสอบหน่วยงานจัดหางานราว 250 แห่งที่ส่งคนงานไปต่างประเทศเมื่อเดือน ก.ย. 2566 แล้ว
ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้กดดันหน่วยงานเหล่านี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแรงงานมากกว่า 2 ล้านคนที่ทำงานในต่างประเทศ จะปฏิบัติตามกฎระเบียบ และแบ่งเงินจากรายได้ในต่างประเทศอย่างน้อย 25% ให้กับครอบครัว โดยโอนเงินผ่านธนาคารหรือช่องทางแลกเปลี่ยนเงินตราที่กำหนดไว้ หากไม่ปฏิบัติตาม จะถูกแบนไม่ให้ทำงานในต่างประเทศ 3 ปี เมื่อใบอนุญาตทำงานหมดอายุ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์บรรเทาปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศของเมียนมาที่ทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แรงงานหลายคนมีความลังเลในการใช้ธนาคารเป็นช่องทางส่งรายได้ตนเองให้ครอบครัว เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคารที่ได้รับอนุญาต และตลาดมีความแตกต่างกันมาก โดยอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารตั้งไว้ที่ 4,150 จ๊าดต่อดอลลาร์ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดอยู่ที่ 6,000 จ๊าดต่อดอลลาร์
อนึ่ง สามวันต่อมาหลังจากออกคำสั่งแรก รัฐบาลได้ปรับแผนใหม่เนื่องจากหลักฐานที่หน่วยงานจัดหางานส่งไปยังกระทรวงมีจำนวนจำกัด โดยคำสั่งที่ปรับใหม่จะเร่งการดำเนินงานและยังได้กำหนดแผนใหม่ให้หน่วยงาน 50 แห่ง ส่งหลักฐานการโอนเงินทุกวัน เริ่มตั้งแต่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ กระทรวงฯได้ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ส่งแรงงานไปยังไทยและมาเลเซีย ส่งหลักฐานการโอนเงินในช่วง 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566
ภายใต้มาตรการดังกล่าว ทั้งหน่วยงานจัดหางานและแรงงานต้องลงนามสัญญาจ้างงานต่อหน้าเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานก่อนเดินทางไปทำงานในต่างประเทศด้วย และขอบัตรประชาชนแบบพิเศษสำหรับการทำงานต่างประเทศ พร้อมหนังสือเดินทางสำหรับทำงาน
โม เกียว นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน และประธานคณะกรรมการปฏิบัติการร่วมเพื่อกิจการเมียนมาในแม่สอด จ.ตาก บอกว่า แรงงานข้ามชาติไม่เต็มใจส่งรายได้และจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล เนื่องจากขาดการรับรองสิทธิและการปกป้องขณะอยู่ในต่างประเทศ
“รู้สึกเหมือนแรงงานข้ามชาติถูกบังคับให้จ่าย แต่ไม่ได้รับอะไรกลับมาเลย เหมือนโดนปล้น” เกียวกล่าว
ขณะที่แรงงานข้ามชาติหลายคนเผยกับนิกเกอิว่า พวกเขาพึงพอใจที่จะเสี่ยงถูกแบนไม่ให้ทำงานในต่างประเทศ ดีกว่าส่งเงินผ่านช่องทางรัฐบาลที่มีอัตราแลกเปลี่ยนต่ำ
แรงงานข้ามชาติหญิงรายหนึ่งที่ทำงานในโรงงานนอกกรุงเทพมหานครบอกว่า “ฉันจะอยู่ที่นี่ ทำงานตามที่ไหว และหาเงินให้มากเท่าที่ทำได้ แต่ฉันไม่อยากโอนเงินผ่านตามช่องทางที่เขาเรียกร้อง ถ้าเขาแบน คงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องกลับบ้าน”
อ้างอิง: Nikkei Asia