พนักงาน Nvidia ทำงานถึงตี 2 แต่ไม่มีใครลาออก แจกหุ้นรวยเป็น 'เศรษฐีเงินล้าน'

พนักงาน Nvidia ทำงานถึงตี 2 แต่ไม่มีใครลาออก แจกหุ้นรวยเป็น 'เศรษฐีเงินล้าน'

เปิดชีวิตพนักงาน ‘อินวิเดีย’ มันสมองของ AI ทำงานหนัก’พิเศษ’ จนถึงตี 2 และไม่อยากหยุดพัก เพราะบริษัทแจกหุ้นจนกลายเป็น'เศรษฐีเงินล้าน' แม้มีวัฒนธรรมองค์กรที่ผู้นำชอบกดดัน แต่ก็ไม่มีใครลาออกเพราะงานหนักแต่เงินหนา

KEY

POINTS

  • “เจนเซ่น หวง” ซีอีโอผู้นำทัพของ Nvidia ที่มีความเชื่อเรื่องการกดดันพนักงานอย่างหนักเพื่องานที่เหนือความคาดหมาย
  • พนักงานถูกคาดหวังให้ทำงานเจ็ดวันต่อสัปดาห์ และต้องทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ จนถึงดึกดื่นถึงตี 1 หรือตี 2   แต่บริษัทก็สามารถรักษาอัตราการลาออกให้อยู่ในระดับต่ำได้

  • พนักงานส่วนใหญ่ของ Nvidia หรือคิดเป็น 76% กลายเป็นเศรษฐีไปแล้ว

“อินวิเดีย” (Nvidia) บริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่อายุ 31 ปีที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมูลค่าหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 3,776% นับตั้งแต่ต้นปี 2562 ได้สร้างเศรษฐีตลาดหุ้นพร้อมกับสร้างเศรษฐีรุ่นใหม่จาก “พนักงานอินวิเดีย” ของตัวเอง

การสำรวจพนักงาน Nvidia กว่า 3,000 คน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่งโดยพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ หรือคิดเป็น 76% กลายเป็น "เศรษฐีเงินล้าน" ที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปแล้ว และ 1 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมดมีทรัพย์สินมูลค่าสุทธิเกินกว่า 20 ล้านดอลลาร์ 

สาเหตุหลักมาจากการที่ Nvidia เป็นผู้ผลิตชิป AI ชั้นนำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยี AI ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ChatGPT

เป็นเศรษฐีเงินล้านเพราะ 'ทำงานหนักเป็นพิเศษ’

ทว่าเบื้องหลังความร่ำรวยของ พนักงาน Nvidia จนกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน บนมูลค่าหุ้นของบริษัทพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยใช้รถยนต์รุ่นทั่วไป กลายเป็นรถสปอร์ตสุดหรู อย่าง Porsche, Corvette และ Lamborghini กลับแลกมาด้วย “การทำงานหนักพิเศษ” จนต้องจอดรถหรูไว้ที่สำนักงานของบริษัท แทนที่จะได้ขับออกไปใช้ชีวิต

พนักงานของบริษัทเปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า พนักงานใน Nvidia ต่างต้องเผชิญกับภาระงานที่หนักอึ้ง ความกดดันในการทำงานอย่างหนักเป็นเวลานาน และต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเครียดสูง ทำให้มีเวลาส่วนตัวน้อยมาก สะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรของ Nvidia ที่เน้นการทำงานหนักเป็นพิเศษ

“เจนเซน หวง” (Jensen Huang) ซีอีโอผู้นำทัพของ Nvidia มีความเชื่อเรื่องการกดดันพนักงานอย่างหนักและคาดหวังในการทำงานอันเข้มงวด และชอบที่จะ "ทรมานพวกเขาเพื่อความยิ่งใหญ่" มากกว่าจะใช้วิธีเลิกจ้าง 

หวง มีแนวทางการบริหารที่โดดเด่นและไม่เหมือนใคร หนึ่งในนโยบายที่เขานำมาใช้คือ การกำหนดให้พนักงานส่งอีเมลรายงานงานสำคัญ 5 ประการเป็นประจำ วิธีการบริหารของหวงนี้มีรากฐานมาจากประสบการณ์ชีวิตที่ยากลำบากของเขา และถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้พนักงานสร้างผลงานที่เหนือธรรมดา

หวงมีความเชื่อว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่ควรได้แบบง่ายๆ ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของเขาในรายการ "60 Minutes" สู่ปรัชญาการทำงานของหวงนี้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความทุ่มเทและความพยายามอย่างไม่ลดละ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายและสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ใช้งานลูกน้องถึงตี 2 แต่กลับไม่มีใครลาออก

พนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานใน Nvidia นับ 10 คน อธิบายถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่แสนเหนื่อยล้า ซึ่งแตกต่างจากภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูประสบความสำเร็จอย่างมาก พวกเขาเล่าถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป การตะโกน การทะเลาะในการประชุม และความกดดันในการแข่งขันเพื่อดึงดูดความสนใจจากหัวหน้างานที่อาจมีผู้รายงานตรงมากกว่า 100 คน

หนึ่งในนั้นคือ อดีตพนักงานฝ่ายสนับสนุนด้านเทคนิคเล่าว่า ถูกคาดหวังให้ทำงานเจ็ดวันต่อสัปดาห์ และต้องทำงานล่วงเวลาเป็นประจำจนถึงดึกดื่นตี 1 หรือตี 2 

ส่วนอดีตพนักงานฝ่ายการตลาดอีกรายก็ระบุว่า ต้องเข้าร่วมประชุมที่มีความเครียดสูงหลายครั้งทุกวัน นอกจากนี้ พนักงานคนอื่นๆ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีการประชุมอย่างน้อย 7 ครั้งต่อวัน

แต่ด้วย”สิทธิ” ในการซื้อ “หุ้น” บริษัทซึ่งมีมูลค่าสูงทำให้ความคิดในการลาออกจากบริษัทนั้นเป็นไปได้ยาก 

แม้ว่าพนักงานของ Nvidia จะต้องเผชิญกับวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มข้นและความกดดันในการทำงานสูง แต่บริษัทก็สามารถรักษาอัตราการลาออกให้อยู่ในระดับต่ำได้สำเร็จ

 "กุญแจมือทองคำ" หรือ "golden handcuffs" คือสิ่งที่พนักงานหลายคนเลือกแล้วที่จะถูกพันธนาการในการตัดสินใจทำงานต่อ นั่นคือข้อสัญญาว่าจะได้รับเงินรางวัลเป็นก้อนโต หากทำงานครบระยะเวลาหนึ่ง หรือ ตัวเลือกหุ้นที่มีมูลค่าสูง ซึ่งทำให้พนักงานยากที่จะตัดสินใจลาออก แม้จะต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความเครียดสูงและต้องเข้าร่วมประชุมหลายครั้งทุกวันก็ตาม

โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ สิทธิซื้อหุ้นของพนักงาน (Employee Stock Options – ESO) ที่มีอายุ 4 ปี

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เครียดและกดดัน แต่ Nvidia ก็ไม่มีปัญหาในการรักษาพนักงานไว้ หลังจากที่มูลค่าของ Nvidia ทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ อัตราการลาออกของพนักงานลดลงอย่างมาก จาก 5.3% ในปี 2566 เหลือเพียง 2.7% เท่านั้น ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากอัตราการหมุนเวียนของพนักงานโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ 17.7%

การพุ่งสูงขึ้นของราคาหุ้น Nvidia ส่งผลให้พนักงานระดับสูงได้รับผลตอบแทนจากการถือหุ้นมหาศาล โดยเฉพาะ โคเล็ตต์ เครส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ซึ่งมีมูลค่าหุ้นสูงถึง 758.7 ล้านดอลลาร์ สร้างความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผู้บริหารระดับสูงในบริษัทคู่แข่ง เช่น Intel และ AMD อย่าง เดฟ ซินสเนอร์ ซึ่งทำงานอยู่ที่  Intel มีมูลค่าหุ้นเพียง 3.13 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะมีฐานเงินเดือนที่สูงกว่า

มีเงินแต่ไม่มีเวลาใช้ชีวิต 

พนักงานทุกคนอาจโหยหา "วันหยุดพักผ่อน” แต่ไม่ใช่กับพนักงานของ Nvidia ที่วัฒนธรรมองค์กรขับเคลื่อนด้วยการแข่งขันภายในและความคาดหวังสูง แม้ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยทั่วไปจะเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น หรือ Work-Life Balanced แต่พนักงานของ Nvidia กลับเลือกที่จะทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง รายงานระบุว่าพนักงานที่ปล่อยปละละเลยจากหน้าที่การงานจะต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากภายใน

พนักงานของ Nvidia เริ่มแสดงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 และ 2567 ผ่านการพูดคุยกันบ่อยครั้งเกี่ยวกับการลงทุนในทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง เช่น บ้านพักตากอากาศ การเข้าร่วมงานสำคัญระดับโลก เช่น Super Bowl และ NBA Finals สเปนเซอร์ ซู  และการจ่ายเงินดาวน์บ้านราคาหลายล้านดอลลาร์

เมื่อปีที่แล้วในการประชุมพนักงานมีประเด็นที่น่าสนใจเกิดขึ้น  พบว่ามีพนักงานจำนวนหนึ่งแสดงความไม่พอใจต่อเพื่อนร่วมงานที่ถูกมองว่าอยู่ในโหมด "กึ่งเกษียณ" หรือทำงานแบบขอไปที ซึ่งพนักงานที่ทำงานมานานหลายปีสามารถเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่ก็ยังเลือกที่จะทำงานกับ Nvidia ต่อไป จากแรงจูงใจที่อาจได้รับหุ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงสร้างองค์กรแบบแบนราบของบริษัทจะมีข้อดี แต่ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาบางประการ โดยอดีตพนักงานบางรายมองว่าโครงสร้างดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่จำเป็นระหว่างพนักงานเพื่อดึงดูดความสนใจจากเจ้านายอย่างเจนเซน หวง

 

 

อ้างอิง indiatoday