'เซเว่นญี่ปุ่น' ไม่เข้าข่ายธุรกิจหลักต่อความมั่นคง ต่างชาติซื้อกิจการได้
เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นเผย 'เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์' ไม่ใช่ ธุรกิจหลักต่อความมั่นคงของชาติในกฎหมาย FEFTA หลังมีรายงานข่าวเซเว่นญี่ปุ่นอาจใช้ข้ออ้างนี้ป้องกันตัวเองจากการถูกยักษ์ค้าปลีกแคนาดาเข้าเทกโอเวอร์
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นว่า บริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นไม่สามารถใช้ข้ออ้างเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ" เป็นเครื่องมือในการขัดขวางการเข้าซื้อกิจการของบริษัทต่างชาติได้ โดยนับเป็นการ "ปัดตก" ข้อสันนิษฐานที่ว่าการใช้ข้ออ้างดังกล่าวในกฎหมายของญี่ปุ่น จะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทญี่ปุ่นถูกเทกโอเวอร์ได้
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มีรายงานข่าวว่า บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ "เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์" (Seven & i Holdings) เจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อ "เซเว่น อีเลฟเว่น" ในญี่ปุ่น กำลังพยายามจัดกลุ่มประเภทธุรกิจให้เข้าข่ายเป็น "ธุรกิจหลัก" ต่อความมั่นคงของชาติ ภายใต้กฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการค้าต่างประเทศ (FEFTA) เพื่อปกป้องตนเองจากข้อเสนอซื้อกิจการจากบริษัท "อัลลิมงตาซิยง คุช ทาร์ด" (Alimentation Couche-Tard) ของแคนาดา
อย่างไรก็ตาม บริษัท Seven & i ซึ่งมีมูลค่าตลาด 38,000 ล้านดอลลาร์ ถูกจัดกลุุ่มอยู่ในประเภท "Designated Business" หรือธุรกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ แต่ยังไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Core) ต่อความมั่นคงของช่าติภายใต้กฎหมาย FEFTA ซึ่งเป็นกฎหมายควบคุมการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
สำหรับธุรกิจที่อยู่ในข่ายแกนหลักนั้น จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องสูงกับความมั่นคงของประเทศ เช่น พลังงานนิวเคลียร์ อวกาศ และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งต่างชาติจะเผชิญการตั้งการ์ดตรวจสอบอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ หากเสนอซื้อกิจการในธุรกิจประเภทนี้
เจ้าหน้าที่ระดับสูงยังกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ประเด็นนี้จะไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการตรวจสอบด้านความมั่นคงของรัฐบาล ในกรณีการเสนอซื้อกิจการบริษัทที่ไม่อยู่ในข่ายธุรกิจหลักต่อเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่สัญชาติแคนาดาได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ เซเว่น แอนด์ ไอ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าอาจเป็นดีลครั้งประวัติศาสตร์ที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านเยน (ราว 1.16 ล้านล้านบาท) และอาจกลายเป็นดีลที่ต่างชาติเข้าเทกโอเวอร์บริษัทญี่ปุ่นครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
อลิมงตาซิยง คุช ทาร์ด มีธุรกิจร้านสะดวกซื้อในอเมริกาเหนือ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ โปแลนด์ และอีกหลายประเทศราว 17,000 แห่ง ในราว 30 ประเทศทั่วโลก โดยบริหารภายใต้แบรนด์คูช-ทาร์ด และเซอเคิล เค บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นโทรอนโต มีมูลค่าตลาดประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา
หากรวมยอดขายของทั้งสองบริษัท อาจมีมูลค่าประมาณ 20 ล้านล้านเยน หรือ 1.35 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีร้านสะดวกซื้อเป็นธุรกิจหลัก
เป้าหมายของยักษ์ค้าปลีกแคนาดาคือ การขยายธุรกิจในหลายภูมิภาค และขยายเครือข่ายร้านสะดวกซื้อในเอเชีย ขณะที่เซเว่น แอนด์ ไอ มีร้านสะดวกซื้อราว 85,000 แห่ง ใน 20 ประเทศทั่วโลก และได้วางแผนขยายสาขา 100,000 แห่งใน 30 ประเทศทั่วโลก ภายในปี 2573 และเมื่อปี 2564 เซเว่น แอนด์ ไอ ได้เข้าซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ และปั๊มน้ำมันสปีดเวย์ในสหรัฐ