เศรษฐกิจจีนแย่ ขนาดมหาเศรษฐี ‘ลีกาชิง’ยังไม่รอด ลบภาพ ‘ฮ่องกง’ สวรรค์นักช้อป

เศรษฐกิจจีนแย่ ขนาดมหาเศรษฐี ‘ลีกาชิง’ยังไม่รอด ลบภาพ ‘ฮ่องกง’ สวรรค์นักช้อป

เศรษฐกิจจีนแย่ ขนาดห้างหรู Heritage ของมหาเศรษฐี ‘ลีกาชิง’ยังไม่รอดร้านแบรนด์หรูในย่านชอปปิง ‘จิมซาจุ่ย’ ทยอยปิดตัวจนร้าง หลังผู้บริโภคชาวจีนลดการใช้จ่าย ทำให้ ‘ฮ่องกง’ อาจไม่ใช่สวรรค์ของนักช้อปอีกต่อไป

ย่าน “จิมซาจุ่ย” สวรรค์ของนักช้อปในฮ่องกงเคยคึกคักด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่หลั่งไหลมาชื่นชมความหรูหราของศูนย์การค้า “เฮอริเทจ” (Heritage) สถานที่ท่องเที่ยวสุดคลาสสิกที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1881 ซึ่งมีร้านบูติกแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Tiffany, Cartier และ Chopard แต่ในปัจจุบันบรรยากาศกลับตรงกันข้าม ศูนย์การค้าแห่งนี้ดูเงียบเหงาและว่างเปล่าอย่างเห็นได้ชัด 

 

ความว่างเปล่าของศูนย์การค้า Heritage สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจฮ่องกงที่ซบเซา และส่งผลกระทบต่อรายได้ของมหาเศรษฐี “ลีกาชิง” (Li Ka-shing) มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของฮ่องกง  จากร้านค้ากว่า 30 ยูนิตในศูนย์การค้าที่เป็นของซีเค แอสเซ็ท (CK Asset Holdings) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของลีกาชิง ที่เหลือเปิดทำการเพียง 3 ยูนิตเท่านั้น

สถานการณ์นี้ทำให้ซีเค แอสเซ็ทได้ประกาศแผนปรับปรุงรูปแบบการค้าปลีกของห้างสรรพสินค้า 1881 Heritage โดยจะเน้นไปที่ร้านอาหารและเครื่องดื่มสบาย ๆ รวมถึงแบรนด์ที่ตรงใจกลุ่มลูกค้า Gen Z มากขึ้น

‘ฮ่องกง’ ไม่ใช่สวรรค์ของนักช้อปอีกต่อไป

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ฮ่องกงได้รับประโยชน์จากการเติบโตของจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากอยู่ใกล้และไม่มีภาษีสินค้าหรือบริการ ในปี 2556 ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยในฮ่องกงพุ่งสูงถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด จากนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 112,000 คน ที่เดินทางมาเยือนฮ่องกงทุกวัน ทว่าสถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยที่เคยสูงลิ่วลดลงอย่างมาก และจำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดน้อยลงเช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและบทบาทของฮ่องกงในภูมิภาค

เอ็ดวิน ลี ผู้ก่อตั้ง Bridgeway Prime Shop Fund Management เปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดสินค้าหรูหราในฮ่องกงว่า 'เหมือนเปลี่ยนจากสวรรค์เป็นนรก' โดยระบุว่า 'สมัยที่นักท่องเที่ยวแห่กันมาฮ่องกงเพื่อชอปปิงสินค้าแบรนด์เนมอย่างไม่คิดชีวิตนั้นหมดไปแล้ว'

“ตลาดหรูหราในปัจจุบันไม่น่าจะกลับไปรุ่งเรืองเหมือนช่วงปี 2556-2557 ได้อีกแล้ว และตลาดหรูหราอาจต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี กว่าจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับปี 2561-2562”

แม้ว่าจะเปิดพรมแดนกับจีนแผ่นดินใหญ่แล้วเมื่อต้นปี 2566 แต่ตัวเลขจากทางการระบุว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในเมืองของเรายังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และกำลังซื้อก็หดตัวลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาด โดยยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ลดลงถึง 42% จากปี 2561 

‘กำลังซื้อ’ สะท้อนเศรษฐกิจแย่

ย่านชอปปิงที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น จิมซาจุ่ยและคอสเวย์เบย์ กำลังเผชิญกับวิกฤติจากการถอนตัวของแบรนด์หรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอสเวย์เบย์ที่เคยมีค่าเช่าสูงที่สุดในโลกถึง 2,671 ดอลลาร์ต่อตารางฟุตในปี 2561 ปัจจุบันค่าเช่าลดลงอย่างมากและต่ำกว่าจิมซาจุ่ยซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,493 ดอลลาร์ต่อตารางฟุตในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าย่านอัปเปอร์ 5th Avenue ในนิวยอร์ก และย่าน Via Montenapoleone ในมิลาน

นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคชาวจีนลดการจับจ่ายสินค้าหรูลงทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในแบรนด์ระดับโลก เช่น LVMH, Richemont และ L'Oreal สั่นคลอนอย่างหนัก ยอดขายในภูมิภาคนี้ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นสวรรค์ของเหล่านักช็อปชาวจีนที่หลงใหลในแบรนด์เนม

"สถานการณ์ในฮ่องกงกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ" การลดลงของกำลังซื้อและการปิดตัวของร้านค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี สะท้อนถึงความไม่มั่นคงของตลาด และปัญหาสำนักงานว่างที่พุ่งสูงขึ้นบ่งบอกถึงความยากลำบากของภาคธุรกิจ และดัชนีหุ้นอ้างอิงอยู่ในกลุ่มที่มีผลงานแย่ที่สุด รวมไปถึงปัญหาประชากรสูงอายุที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการอพยพของคนหนุ่มสาว ทำให้โครงสร้างประชากรของฮ่องกงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะชะลอตัวลงเหลือเพียง 2.8% เมื่อเทียบกับ 3.3% ในปี 2566

แกรี่ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Natixis SA ได้เตือนว่า การตกต่ำของภาคส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยของฮ่องกงเป็นสัญญาณของความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลให้การเติบโตและการจ้างงานชะลอตัวลงได้ และการที่วงจรการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยสิ้นสุดลงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของฮ่องกงในระยะยาว

วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในฮ่องกงอย่างหนัก โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อย่าง New World Development ประกาศขาดทุนมหาศาลถึง 20,000 ล้านเหรียญฮ่องกงในปีนี้ ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงกว่า 44%

หวังพลิกวิกฤติเป็น ‘โอกาส’

แม้ว่าตลาดสินค้าหรูหราในฮ่องกงจะเผชิญกับความท้าทาย แต่แบรนด์ต่างๆ ก็ยังคงมองเห็นโอกาสในเมืองนี้ เนื่องจากฮ่องกงยังคงมีกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ขณะเดียวกันเจ้าของห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและเล็กก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเสนอเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นดึงดูดแบรนด์ต่างๆ ให้เข้ามาเปิดร้าน ซึ่งอาจเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ

แลนด์มาร์ก (Landmark) ห้างสรรพสินค้าภายใต้การดูแลของฮ่องกง แลนด์ โฮลดิ้งส์ร่วมกับแบรนด์ดังอย่าง Hermes และ LVMH ลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงพื้นที่ขาย เพื่อดึงดูดลูกค้าชาวฮ่องกงให้มาจับจ่ายมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าชาวฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของลูกค้าทั้งหมด และลูกค้ารายใหญ่ 70 อันดับแรกของห้างฯ สร้างรายได้รวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงในปี 2566

ฮ่องกงไม่นิ่งเฉย โดยวางแผนจัดงานใหญ่กว่า 100 งานในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้  เช่น การประชุม นิทรรศการ และงานคาร์นิวัล 

อ้างอิง Bloomberg