‘อินโดนีเซีย’ กับความฝันอยากตั้งเมืองหลวงใหม่ ที่อาจไม่เป็นดั่งหวัง

‘อินโดนีเซีย’ กับความฝันอยากตั้งเมืองหลวงใหม่ ที่อาจไม่เป็นดั่งหวัง

‘อินโดนีเซีย’ กับความฝันอยากตั้งเมืองหลวงใหม่ ‘นูซันตารา’ ที่อาจไม่เป็นดั่งหวังเพราะโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม จากปัญหา ‘งูกินหาง’ ที่ใครจะเริ่มลงทุนก่อน และการสร้างเมืองภายใน 20 ปี อาจเป็นได้แค่ศูนย์กลางราชการแต่ไม่ใช่ศูนย์กลางผู้คน

อย่างที่ทราบกันดีว่า “อินโดนีเซีย” กำลังอยู่ในระยะการย้ายเมืองหลวงจาก “จาการ์ตา” มายัง “นูซันตารา” ความคิดในการย้ายเมืองหลวงนั้นเกิดขึ้นในหลายยุคสมัยแล้ว แต่มาเกิดขึ้นได้จริงในสมัยของประธานาธิบดี “โจโก วีโดโด”

อย่างไรก็ตาม การสร้างเมืองใหม่ ที่ต้องใช้เวลาถึงราว 20 ปี ภายใต้คอนเซปต์ของจาการ์ตาจะสำเร็จราบรื่นหรือไม่นั้น ยังเป็นหนทางอีกยาวไกลมาก เพราะ ณ วันนี้ การก่อสร้างยังคงมีปัญหาในหลายๆ ด้าน

วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” พาไปพูดคุยกับ “ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล”  จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียที่โจโกวีเริ่มให้คนไปสำรวจความเป็นไปได้ในปี 2019 ว่ามีพื้นที่ไหนบ้าง ซึ่งโจโกวีอยากได้เมืองที่อยู่ตรงกลางของประเทศจนได้มาเป็นนูซันตารา

‘อินโดนีเซีย’ กับความฝันอยากตั้งเมืองหลวงใหม่ ที่อาจไม่เป็นดั่งหวัง

ทำไมต้องเป็น ‘นูซันตารา’?

นูซันตารา ถูกเลือกเพราะ “ความกลัว” ที่เกิดขึ้นจากจาการ์ตาที่มีการวิเคราะห์และการวิจัยว่าใน 2050 จะเป็นทะเลแน่นอนและในความเป็นจริงคือ ปัญหาน้ำท่วมทุกปี ปัญหาอากาศเป็นมลพิษจากรถติด จึงคิดว่าพื้นที่ภูเขาจะไม่เกิดน้ำท่วม  และความเป็นไปได้ที่เกิดภัยพิบัติในระดับต่ำ

เมื่อกางแผนที่ออกมา นูซันตาราอยู่ในป่าบนเกาะบอร์เนียวที่แชร์พื้นที่กันระหว่าง 3 ประเทศ “ได้แก่ อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  บรูไน และที่สำคัญคือในอนาคตเกาะแห่งนี้จะมีเมืองหลวงถึง 2 แห่งด้วยกัน  ได้แก่

บันดาร์เสรีเบกาวันของบรูไน และ นูซันตารา บนพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2,561 ตารางกิโลเมตร  แม้ว่าจะห่างไกลจากจาการ์ตาเกือบ 2,000 กิโลเมตรแต่ ใหญ่กว่าจาร์การ์ตาร์ถึง 4 เท่า 

‘อินโดนีเซีย’ กับความฝันอยากตั้งเมืองหลวงใหม่ ที่อาจไม่เป็นดั่งหวัง พิธีสวนสนามหน้าทำเนียบประธานาธิบดีแห่งใหม่ที่นูซันตารา

ความท้าทายที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

แพลนการสร้างนูซันตาราภายใน 20 ปี อาจมีความเป็นไปได้ แต่ในช่วงระยะ 1 กลับไม่เห็นภาพของโครงสร้างพื้นฐานเลย เนื่องจากพื้นที่ที่ไปสร้างค่อนข้างไม่พร้อมและต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่วางไว้มาก ก่อนหน้าที่จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติในวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ต้องมีการเร่งสร้างทั้งวันทั้งคืน จนสร้างผลกระทบให้กับคนในพื้นที่ทั้งเสียงรบกวนและฝุ่นที่ตลบอบอวนจากเข้าออกของรถบรรทุก

ตอนนี้มีเพียงทำเนียบรัฐบาลและหน่วยงานราชการบางส่วน ซึ่งยังห่างไกลจากคำว่า โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมจะรองรับ  “การลงทุน” จากนักลงทุนข้างนอก

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบในหลายด้านและอาจกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากปัญหาที่ดินที่รัฐบาลประกาศว่ามีพื้นที่เพียงพอสำหรับโครงการ แต่สุดท้ายกลับต้องมีการเวนคืนที่ดินจากประชาชนในวงกว้าง รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ทำให้ประชาชนจำนวนมากสูญเสียที่ดินและไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ เมืองนูซันตาราที่ตั้งอยู่บน "พื้นที่ต้นน้ำ" ยังทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำในอ่าวบาหลีปาปันเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงและชุมชนริมน้ำอย่างมาก 

ในขณะที่กำลังเฉลิมฉลองวันชาติ แต่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกลับออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม 

ความเจริญคือ ‘เหรียญ 2 ด้าน’

สำหรับประชาชนคนอินโดนีเซียกลายเป็นเหรียญ 2 ด้านโดยกลุ่ม “ชาติพันธุ์” ที่ต่างก็มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองกลัวว่าความเจริญที่เข้ามาความดั้งเดิมที่มีตอนนี้จะถูกกลืนกลายด้วยความเป็นเมืองหลวงซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตที่ตอนนี้ได้รับผลกระทบแล้ว 

อีกด้านคือกลุ่มที่สนับสนุนการย้ายเมืองที่จะส่งเสริมให้การพัฒนาความเจริญและกระจายรายได้ทั่วถึง

จากก่อนหน้านี้ เกาะชวาและเกาะสุมาตราจะได้รับการดูแลมากกว่าบริเวณตรงกลางจนถึงตะวันออกที่มักจะถูกละเลย รวมถึงสำนึก “ชาตินิยม” ที่จะสร้างเมืองที่เป็นของคนอินโดนีเซียสร้างจริงๆ เพราะว่าก่อนหน้านี้จาการ์ตาคือเมืองที่ถูกพัฒนาโดยอาณานิคม

‘อินโดนีเซีย’ กับความฝันอยากตั้งเมืองหลวงใหม่ ที่อาจไม่เป็นดั่งหวัง

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ฉลองวันชาติที่เมืองหลวงใหม่เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2567  

ใครจะยอมลงทุนก่อน? จนเป็นปัญหา ‘งูกินหาง’

โครงการนี้เผชิญหน้ากับเสียงท้วงติงเรื่อง "งบประมาณ" มาตั้งแต่เริ่มต้น แม้ประธานาธิบดีโจโกวีจะแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้เป็นจำนวนมากจากการเดินสายโรดโชว์ ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้คืองบประมาณของประเทศ ขณะเดียวกันประเทศยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบตั้งแต่วิกฤติโควิด-19

นอกจากนี้ ข่าวการลาออกของ 2 ผู้รับผิดชอบของโครงการการก่อสร้างนูซันตาราในช่วงเดือนมิ.ย.ก่อนที่จะจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติ มีวิภาควิจารณ์ออกเป็น 2 ด้านด้วยกัน คือ การลาออกเองเพราะมีปัญหาการเมืองภาย และในแบบที่ 2 คือถูกบีบให้ออกเนื่องจากไม่สามารถบริหารและดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้

แต่ข่าวการลาออกครั้งนี้ ยิ่งกระทบต่อความน่าเชื่อถือให้ภาพลักษณ์ของนูซานตาราดูแย่ เพราะข่าวที่นักลงทุนไม่มาลงทุนยิ่งถูกแพร่สะพัดออกไปจนเกิดความไม่มั่นใจในโครงการว่า ณ ตอนนี้เกิดปัญหาอะไรหรือไม่เพราะว่ามีนักลงทุนระดับผู้บริหารถึง 2 คนลาออก 

อีกหนึ่งสิ่งที่อาจทำให้การสร้างเมืองไม่ได้ไปต่อและทำให้นักลงทุนยิ่งลังเลใจคือ โจโกวี กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองในเดือนตุลาคม 2567 นี้แล้ว หลังจากนั้นก็จะส่งมอบอำนาจให้กับ "ปราโบโว ซูเบียนโต" ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ปัญหาใหญ่ในตอนนี้ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นปัญหา “งูกินหาง” เนื่องจากวงเงินลงทุนที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอตามเป้าหมายที่วางไว้ รัฐบาลคาดหวังให้นักลงทุนเข้ามาสร้าง แต่ส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของพื้นที่และจำนวนประชากร  เช่น โครงการโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย ทำให้นักลงทุนมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนระยะยาว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนตามมาจากภาคเอกชน แต่กระบวนการนี้ต้องใช้ระยะเวลา

ถ้า ‘นูซันตารา’ สร้างไม่เสร็จ?

หากโครงการนูซันตาราไม่สำเร็จตามที่โจโกวีหวังไว้ ผลเสียอย่างเดียวที่น่าจะเป็นไปได้ คือการใช้งบประมาณที่ค่อนข้างเยอะและศักดิ์ศรีของประธานาธิบดีโจโกวีต้องสูญเสียเกียรติภูมิเพราะเป็นคนริเริ่ม นอกจากนี้ก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศมากมายนัก เมืองหลวงก็อาจจะต้องอยู่ที่เดิมซึ่งมีปัญหาก็ต้องแก้กันไป

ส่วนเมืองที่สร้างไปแล้วในนูซานตาราก็อาจมีการพัฒนาให้ใหญ่ขึ้น และที่สร้างไปแล้วคงไม่ทิ้งร้าง แต่อาจใช้ประโยชน์ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ศูนย์กลางราชการแต่ไม่ใช่ ‘ศูนย์กลางผู้คน’

ทว่านูซันตาราคงไม่สามารถเป็นเมืองหลวงแบบที่จาการ์ตาเป็นได้ เมื่อพูดถึงการย้ายเมืองที่หมายถึงผู้คนและความเจริญ เพราะคนที่จะยอมย้ายไปคงเป็นเหล่าข้าราชการที่ต้องไปประจำการ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาคงไม่มีใครอยากย้ายจากถิ่นฐานเดิมที่คุ้นเคยในฐานะคนชวาที่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมในจาการ์ตา และวิธีการเคลื่อนย้ายเมืองทางเดียวคือ “เครื่องบิน” ซึ่งนูซันตาราไกลจากจาการ์ตามากถึงเกือบ 2,000 กิโลเมตร 

เมืองหลวงในอีก 20 ปีข้างข้าง ภาพที่เห็นชัดเจนที่สุดคือเป็นเมืองหลวงที่เป็นศูนย์ราชการแต่ไม่ใช่ศูนย์กลางของผู้คน เพราะเมืองจะไม่มีชีวิตชีวา เงียบเหงา และศูนย์กลางในการทำธุรกิจศูนย์กลางในการศึกษายังคงอยู่ที่จาร์กาตา

อย่างไรก็ตาม ถ้าเมืองสามารถสร้างได้เสร็จตามกำหนดเวลาและสามารถย้ายความเจริญจากจาการ์ตามายังนูซันตาราได้อย่างราบรื่น จะกลายเป็นเมกาโปรเจกต์ที่ทำได้จริงของโจโกวี

“ลองคิดภาพในมุมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตึกสูงในจาการ์ตาที่สร้างขึ้นมานั้นใช้เวลานับ 100 ปี  แต่นูซันตาราใช้เวลาเพียง 25 ปี คงเป็นไปไม่ได้”

ผลกระทบต่อไทยในเชิง ‘เศรษฐกิจ’

ส่วนผลกระทบต่อไทย อาจกระทบต่อเศรษฐกิจบางด้านแต่เนื่องจากว่าไทยกับอินโดนีเซียไม่ได้เป็นคู่แข่งที่ชัดเจนอยู่แล้ว อาจมีบางด้านที่ได้รับผลกระทบในตอนนี้แล้วด้วยซ้ำ แต่ว่าไม่ได้เกี่ยวกับย้ายเมืองหลวง อย่างเช่นการที่บริษัทหลายแห่งย้ายศูนย์กลางการผลิตไปอยู่ที่อินโดนีเซียหรือที่เวียดนามเนื่องจากว่า 2 ประเทศนี้ค่อนข้างมีค่าแรงที่ต่ำและทรัพยากรเยอะ

รวมทั้ง อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการแบ่งโซนเวลาออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ เวลาอินโดนีเซียตะวันตก (WIB), เวลาอินโดนีเซียกลาง (WITA) และเวลาอินโดนีเซียตะวันออก (WIT) ซึ่งการมีโซนเวลาที่แตกต่างกันภายในประเทศเดียวส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจในหลายด้าน แต่ถ้าย้ายไปนูซันตาราอาจเปลี่ยนไปใช้เวลากลาง ซึ่งเวลาการทำธุรกรรมอาจตรงกับมาเลเซียและสิงคโปร์