'ลาว' เล็งตั้งกองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หนุนผลิตในบ้าน ลดนำเข้าต่างประเทศ

'ลาว' เล็งตั้งกองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หนุนผลิตในบ้าน ลดนำเข้าต่างประเทศ

รัฐบาลลาว และภาคธุรกิจเร่งหารือจัดตั้ง 'กองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ' หวังกระตุ้นการผลิต ลดพึ่งพานำเข้าจากต่างประเทศ

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า คณะผู้แทนจากรัฐบาล และภาคธุรกิจของลาว ได้ร่วมกันหารือถึงกลยุทธ์ในการจัดสรรเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นการผลิตในประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะเสริมสร้าง "การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ" ของลาว

รายงานจากสภาหอการค้า และอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ระบุว่า คณะผู้แทนได้หารือถึงการจัดหาสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการผลิตในลาว สำหรับตอบสนองความต้องการในท้องถิ่น และผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มผลิตภาพ "เพื่อลดความต้องการสินค้านำเข้า"

ก่อนหน้านี้ นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ และธนาคารกลางลาว จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการผลิตที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างการดำเนินงานของธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการผลิตในเชิงพาณิชย์ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น พร้อมแนะนำภาคส่วนต่างๆ ระบุตลาดเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ผลิต ปรับปรุงกฎระเบียบ ลดทอนอุปสรรคที่ไม่จำเป็นเพื่อเกื้อหนุนการดำเนินธุรกิจ และสรุปข้อเสนอของภาคธุรกิจเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญ

ขณะเดียวกัน สอนไซ ยังแนะให้บรรดาผู้นำธุรกิจใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย

ก่อนหน้านี้ไม่นาน สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่าเศรษฐกิจลาว กำลังเผชิญภาวะหนี้ท่วม ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ค่าเงินกีบอ่อนค่าหนัก และกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง ทำให้คนลาวต่างมองหาลู่ทางออกไปทำงานในต่างประเทศ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของลาว ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. อยู่ที่ 24.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราเลขสองหลักติดต่อกันเป็นเดือนที่ 28 แล้ว และถือเป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน

ขณะที่การเสื่อมค่าของค่าเงินกีบถือเป็นปัญหาหลัก โดยมูลค่าตลาดของเงินกีบเทียบกับดอลลาร์ และเงินบาทไทยลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ธนาคารโลกจะเปิดเผยเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของลาวจะดีขึ้นในปีที่แล้ว แต่ครัวเรือนมากกว่า 1 ใน 3 กลับมีการเติบโตของรายได้ช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งบ่งบอกถึงการสูญเสียกำลังซื้อ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงถึง 10.5%

โปห์ ลินน์ หง นักเศรษฐศาสตร์ จากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 ในสิงคโปร์ ระบุว่า รัฐบาลลาวควรเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่กำหนดตารางการชำระหนี้ต่างประเทศใหม่ เพื่อลดภาระการชำระหนี้ในระยะสั้นถึงระยะกลาง และบรรเทาแรงกดดันในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าหนี้สาธารณะของลาวในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์หนี้สาธารณะของลาวในปีนี้จะขยายตัวแตะ 115% ของจีดีพี แม้สถานะการคลังที่ยังแข็งแกร่งจะช่วยให้รับมือได้ แต่รัฐบาลก็ต้องรับมือกับเศรษฐกิจที่มีขนาดเล็กลง และทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอย่างจำกัดเพียง 1.8 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเพียงพอรองรับการนำเข้าสินค้า และบริการได้เพียง 2.5 เดือน 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์