เปิดเหตุผลไทยสมัครคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ยกระดับการพัฒนาสู่เวทีโลก

เปิดเหตุผลไทยสมัครคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น   ยกระดับการพัฒนาสู่เวทีโลก

ข่าวประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) มีให้ได้ยินมาสักพักใหญ่ๆ เมื่อเกิดประเด็นการเมืองทีไรประเด็นนี้มักถูกพาดพิงเป็นระยะๆ

กรุงเทพธุรกิจ พบกับพินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ที่วันก่อนเพิ่งเข้าร่วมกิจกรรมประกาศคำมั่นของผู้สมัครสมาชิก HRC วาระปี 2568-2570 จึงได้โอกาสจับเข่าคุยว่าสิ่งนี้คืออะไร มีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไร 

พินทุ์สุดาเริ่มต้นด้วยการแนะนำว่า HRC  เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลในสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นแทนหน่วยเดิมที่ชื่อว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2549  HRC สังกัดสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) ทำงานร่วมกันใกล้ชิดกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  (OHCHR) ภารกิจสำคัญประกอบด้วยการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก สร้างบรรทัดฐานการดูแลคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ข้อเสนอแนะแนวทางส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ และทำรายงานประจำปีเสนอต่อ UNGA 

HRC ประกอบด้วย 47 ประเทศ ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ โดยจะมีการเลือกตั้งทุกสามปี ซึ่ง 47 ประเทศแบ่งเป็นกลุ่มภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกา 13 ประเทศ เอเชียแปซิฟิก 13 ประเทศ ยุโรปตะวันออก 6 ประเทศ ละตินอเมริกา และแคริบเบียน 8 ประเทศ ยุโรปตะวันตก 7 ประเทศ 

ทั้งนี้ไทยเคยเป็นสมาชิก HRC มาแล้วเมื่อปี 2553-2556  สมัยที่ สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เป็นเอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เคยดำรงตำแหน่งประธาน HRC ระหว่างปี 2553-2554 ด้วย ถือเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ 

มาถึงครั้งนี้จึงเป็น ครั้งที่ 2 ที่ไทยสมัครเป็นสมาชิก HRC ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้สมัครในวาระ พ.ศ.2568-2570 เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 อธิบดีกล่าวด้วยว่า นี่ไม่ใช่การสมัครในนามประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสมัครในนามอาเซียนด้วย 

อย่างไรก็ตามในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ต้องแข่งขันกันเพราะมีตำแหน่งว่าง 5 ที่นั่ง แต่ประเทศผู้ลงชิงมี 6 ประเทศ ได้แก่  กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ไซปรัส หมู่เกาะมาร์แชล เกาหลีใต้ และไทย ต้องแข่งขันกันชิงห้าที่นั่ง 

  • ทำไมไทยถึงอยากสมัคร HRC

อธิบดี พินทุ์สุดา อธิบายว่า HRC เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะเสริมสร้างบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ สามารถแสดงบทบาทผู้ประสานงานเป็นสะพานเชื่อมเพราะเป็นมิตรกับทุกประเทศ มีส่วนร่วมในการกำหนดบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนของไทยให้กับต่างประเทศ 

อธิบดียกตัวอย่างในสมัยที่ไทยเป็นประธาน HRC ครั้งแรกได้เสนอข้อมติ Enhancement of technical cooperation and capacity-building in the field of human rights  ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคนิคให้แต่ละประเทศพัฒนาศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชนของตน แบ่งปันประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน 

  • ชูประเด็นเสมอภาคทางเพศ

หากได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ ประเด็นที่ไทยจะให้ความสำคัญคือ ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ คุ้มครองสิทธิการเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับผู้หญิง ปกป้อง เด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ส่งเสริมการทำธุรกิจที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนต่อไป 

 การเลือกตั้ง HRC จะมีขึ้นในวันที่ 9 ต.ค.2567 ที่นครนิวยอร์ก 193 ประเทศต้องโหวตใน UNGA 

“เราต้องได้รับเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด คือ ต้องไม่ต่ำกว่า 97 เสียง แต่ในวันนั้นอาจไม่มี 193 ประเทศครบถ้วน ก็ต้องได้กึ่งหนึ่งของผู้ร่วมประชุม เมื่อ 6 ประเทศต้องชิง 5 ที่นั่ง 5 ประเทศแรกที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็จะได้เข้าไปเป็นสมาชิก HRC” อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศอธิบายกลไกการลงคะแนน

  • โอกาสของประเทศไทย 

แน่นอนว่าประวัติสิทธิมนุษยชนของไทยมีส่วนสำคัญต่อการพิจารณา สัปดาห์ก่อนแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลและ International Services for Human Rights (ISHR) ด้วยการสนับสนุนจากคณะผู้แทนถาวรบัลแกเรีย ณ นครนิวยอร์ก จัด HRC Pledging Conference สำหรับประเทศที่สมัครรับเลือกตั้งเพื่อเสนอวิสัยทัศน์ของตนเอง ให้ประเมินเหมือนสมุดพกพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่นไทยก็มีพัฒนาการค่อนข้างมากโดยเฉพาะในสิทธิด้านเศรษฐกิจ และสังคมที่ไทยเข้าเป็นภาคี 7 ใน 8 อนุสัญญาหลักของสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว 

พินทุ์สุดา ชี้ให้เห็นความคืบหน้าสำคัญของไทย ทั้งการเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ, รัฐสภาผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อเดือนมิ.ย.67, ถอนคำแถลงตีความอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน, ถอนข้อสงวนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่  22  เรื่องการคุ้มครองเด็กที่ร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมาย เมื่อเดือนก.ค.67 

"การถอนหมายถึง (เรื่องเหล่านี้) ไม่ใช่ข้อสงวนของเราแล้ว เราก็จะปฏิบัติตาม ตอนแรกที่ต้องสงวนไว้เพราะเราต้องดำเนินการทางกฎหมายภายในของเราก่อน เพื่อให้เราทำตามอนุสัญญาระหว่างประเทศได้ เมื่อเราถอนก็แสดงว่าตอนนี้เราปฏิบัติได้แล้ว" อธิบดีอธิบาย 

  • การรณรงค์หาเสียง 

มีหลายรูปแบบเริ่มต้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอีก  192 ประเทศสมาชิกยูเอ็นขอการสนับสนุนต่อไทย ซึ่งมีทั้งแบบให้เปล่าหรือแลกเสียงกันในเวทีอื่นๆ ที่ประเทศเหล่านั้นต้องการเสียงสนับสนุนจากไทยเช่นกัน จากนั้นประเทศต่างๆ ก็จะตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า พร้อมจะสนับสนุนหรือแลกเสียงกับไทยหรือไม่ 

“ในชั้นนี้ถือว่าได้รับการตอบรับในเชิงบวก จำนวนผู้สนับสนุนสูงพอที่เรามีโอกาสจะได้” นอกจากนี้ยังมีการจัดงานเลี้ยงแสดงวิสัยทัศน์ จัดเวิร์กชอป จัดสัมมนาเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน และ HRC จัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันรายภูมิภาคที่ไทยต้องการขอเสียงสนับสนุน 

ล่าสุดได้เชิญเอกอัครราชทูตประเทศหมู่เกาะที่ประจำอยู่ที่นิวยอร์กให้มาเยือนไทยเพื่อให้เห็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่ามีการพัฒนาในด้านใดบ้าง 

  • ยุบก้าวไกล-วันเฉลิมอยู่ไหน  

ด้านสถานการณ์การเมืองไทย ไม่นานมานี้มีการยุบพรรคก้าวไกล และมีการพูดถึงการหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองนาม “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ทั้งๆ ที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ก่อให้เกิดคำถามว่าจะส่งผลต่อการรณรงค์เลือกตั้ง  HRC ของไทยหรือไม่ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ อธิบายว่า ทุกประเทศล้วนมีความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน ไทยอาจจะมีความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจและสังคม  ด้านการเมืองก็ต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่ประเทศหนึ่งจะได้หรือไม่ได้รับเลือกตั้ง  นานาประเทศไม่ได้มองแค่ประเด็นเฉพาะแต่ต้องมองภาพรวม เหมือนกับสมุดพกที่ต้องเรียนหลายวิชาเอาเกรดในวิชาต่างๆ มารวมกัน 

“ถ้าเราไม่ได้ก็นอกเหนือจากสมุดพก ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วยที่อาจจะเป็นข้อท้าทายสำหรับประเทศไทย และประเทศที่สมัคร เช่น การเมืองระหว่างประเทศ เป็นบริบทภายนอกที่เป็นปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง”

  • เชิญคนไทยร่วมสนับสนุน

ขณะที่การลงมติกำลังใกล้เข้ามา พินทุ์สุดาอยากให้คนไทยร่วมสนับสนุนเพราะ HRC จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะเสริมสร้างบทบาทตนเอง ถ้าไทยอยากปรับปรุง พัฒนา ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของไทยก็ควรเข้าไปในระดับสากล เพื่อนำแนวปฏิบัติที่ดีมาปรับปรุงในบ้านของเรา 

“การเข้าไปก็อยากมีส่วนในการกำหนดบรรทัดฐาน ได้รับแนวปฏิบัติที่ดีในประเด็นท้าทายที่เราต้องปรับปรุงทั้งเรื่องการเมือง สิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากสภาพอากาศซึ่งส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศด้วย”  อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวโดยสรุป 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์