ตลาด ‘ลักชัวรี’ ยังไม่ผ่านจุดต่ำสุด จีนฉุดแบรนด์หรูทั่วโลกลงต่อปีหน้า
ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นของแบรนด์สินค้าหรูทั่วโลกหายวับไปแล้วถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ จนกระทั่งหุ้นแบรนด์ดังฝั่งอังกฤษอย่าง Burberry ถูกถอดออกจากดัชนี FTSE 100
แต่ที่สำคัญก็คือ บรรดานักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่าภาวะขาลงของตลาดสินค้าหรูอาจยังไม่จบลงง่ายๆ ในปีนี้ หรือแม้แต่ปีหน้า
หุ้นของกลุ่มบริษัทสินค้าหรูในยุโรปเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นหุ้นเมกะแคปที่เทียบชั้นได้กับ “หุ้น 7 นางฟ้า” ในกลุ่มเทคโนโลยีของฝั่งสหรัฐ โดยเฉพาะหุ้น LVMH ที่เคยมีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของฝั่งยุโรป ทว่าตลอดช่วงหลายเดือนมานี้ สถานการณ์ของตลาดสินค้าลักชัวรีกลับเผชิญภาวะขาลงกันอย่างถ้วนหน้า
ดัชนีกลุ่มหุ้นสินค้าแบรนด์หรูยุโรปของโกลด์แมน แซคส์ มีมูลค่าหายไปถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ (เกือบ 8.1 ล้านล้านบาท) ภายในระยะเวลาเพียงแค่ประมาณ 6 เดือน จุดสูงสุดในเดือนมี.ค.2567
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์หรูกำลังซบเซาเนื่องจากการใช้จ่ายที่ลดลง และสิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ สัญญาณว่าบรรดาเศรษฐีชาวจีนที่เคยแห่กันไปชอปปิงที่บูติกหรูในปารีส มิลาน และฮ่องกง “อาจจะไม่กลับมาอีก” เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจขาลงในจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันความต้องการสินค้าราคาแพงของคนกลุ่มนี้
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้นสินค้าหรูลดลงอย่างรวดเร็วก็คือ การชะลอตัวของ “เศรษฐกิจจีน” ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคสินค้าหรูรายใหญ่ที่สุดในโลก และการลดลงของกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายและผลกำไรของบริษัทสินค้าหรูยุโรป เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าถือ และเครื่องประดับไฮเอนด์
ฟลาวิโอ เซเรดา ผู้จัดการฝ่ายการลงทุนของจีเอเอ็ม ยูเค ระบุว่า สถานการณ์ตลาดในปัจจุบันนั้นรุนแรงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการปรับตัวหลังจากช่วงเวลาแห่งการเติบโตอย่างรวดเร็วหลังการคลายล็อกดาวน์โควิด-19 ซึ่งผู้คนที่อัดอั้นกลับมาใช้ชีวิตกินดื่มช้อปกันอย่างเต็มที่
“เบอร์เบอรี่ กรุ๊ป” (Burberry) ยักษ์ใหญ่ด้านแฟชั่นจากอังกฤษเป็นหุ้นแบรนด์หรูที่เจ็บหนักที่สุด โดยมูลค่าบริษัทดิ่งลงถึง 70% ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ถูกถอดออกจากดัชนี FTSE 100 ของลอนดอน แม้จะเป็นแบรนด์ดังเพียงรายเดียวที่ต้องพ้นจากดัชนี แต่ความผันผวนในตลาดก็ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มสินค้าหรูทั่วโลกอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ “เคอร์ริง” (Kering) บริษัทแม่ของแบรนด์ดังอย่าง “กุชชี่” (Gucci) จากฝรั่งเศส และ “ฮิวโก้ บอส” (Hugo Boss) จากเยอรมนี ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจผันผวนเช่นกัน มูลค่าหุ้นร่วงลงเกือบครึ่งภายในปีเดียว ทำให้เคอริงซึ่งเคยติดอันดับท็อป 10 ของดัชนี CAC 40 ฝรั่งเศส ร่วงลงมาอยู่ในอันดับที่ 23
ในขณะที่แบรนด์หรูยักษ์ใหญ่ประเทศเดียวกันอย่าง “แอลวีเอ็มเอช” (LVMH) เจ้าของแบรนด์คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) และหลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) ซึ่งเคยครองตำแหน่งมูลค่าสูงสุดของหุ้นในยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ก็ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 2
ภาวะฟองสบู่แตกในกลุ่มสินค้าหรูหลังโควิด-19 ยังเห็นได้ชัดจากรายงานผลประกอบการล่าสุดของบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมนี้ อย่างเคอร์ริง, เบอร์เบอรี่ และฮิวโก้ บอสต่างออกมาส่งสัญญาณเตือนถึงผลประกอบการ เนื่องจากความต้องการสินค้าหรูชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
รวมถึงแอลวีเอ็มเอชก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยรายได้จากสินค้าเครื่องหนังที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเติบโตเพียง 1% เท่านั้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งลดลงจากอัตราการเติบโตที่เคยสูงถึง 21%
อย่างไรก็ดี มีเพียงแค่แบรนด์หรูไฮเอนด์ระดับท็อบสุดอย่าง “แอร์เมส” (Hermes) และ "บรูเนลโล คูซิเนลลี” (Brunello Cucinelli) เท่านั้นที่ยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
ตลาดหรูจ่อซึมยาวกว่าที่คาด
เซราดาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบริหารกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มสินค้าหรูของ GAM มีมุมมองเชิงบวกต่ออนาคตของอุตสาหกรรมโดยคาดการณ์ว่า ยอดขายสินค้าหรูจะเริ่มฟื้นตัวในปีหน้า โดยจะขยายตัวอย่างน้อยในช่วงกลางๆ ของเลขหลักเดียว (ประมาณ 5%) ซึ่งเป็นเทรนด์ระยะยาวของอุตสหกรรม
อย่างไรก็ตาม ในหมู่นักลงทุนยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน บางส่วนมีความกังวลว่ารายได้ที่ลดลงและอัตรากำไรที่ต่ำลงในปัจจุบันอาจจะกลายเป็น “เรื่องปกติ” (new normal) ในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ก็เป็นได้
ซูซานนา พุซ นักวิเคราะห์ของธนาคารยูบีเอสเปิดเผยว่า แนวโน้มของตลาดสินค้าหรูในปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตของภาคส่วนนี้จะ “ชะลอตัวลงลงนานขึ้น” ซึ่งขัดกับช่วงเวลาเฟื่องฟูที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยูบีเอสได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของยอดขายในปี 2568 และช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เนื่องจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง
“ทิฟฟานี่ แอนด์ โค” (Tiffany & Co.) แบรนด์จิวเวลรี่พรีเมียมของแอลวีเอ็มเอช ประกาศลดขนาดร้านสาขาหลักในเซี่ยงไฮ้ลงครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ “เฮอริเทจ” หนึ่งห้างสรรพสินค้าหรูในฮ่องกงซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสวรรค์ของนักช้อปแบรนด์หรูแทบจะร้างผู้คนไปแล้ว และผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์หลายรายถึงขั้นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล เพื่อรักษาธุรกิจและพนักงานเอาไว้
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนมองว่าราคาหุ้นสินค้าหรูที่ปรับตัวลดลงในปัจจุบัน “เป็นโอกาสในการเข้าลงทุน” แม้ว่าดัชนี MSCI Europe Textiles Apparel & Luxury Goods จะยังคงซื้อขายที่ราคาสูงกว่าดัชนี MSCI Europe แต่ราคาหุ้นของบริษัทในภาคสินค้าหรูก็ปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดเมื่อปี 2564 อย่างมาก
เจเลน่า โซโคโลวา นักวิเคราะห์จากมอนิ่งสตาร์มองเห็นโอกาสในเคอริง โดยเฉพาะกุชชีซึ่งเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเชื่อว่าจะสามารถฟื้นตัวได้เมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น ในขณะที่เซเรด้าจากจีเอเอ็มมีมุมมองเชิงบวกต่อแบรนด์ระดับท็อปของกลุ่มอย่างแอร์เมสมากกว่า