‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง  ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

การชำระเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR code) ด้วยสมาร์ตโฟน ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศอย่างมาเลเซียและกัมพูชา มีการใช้คิวอาร์โค้ดมากเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค

นิกเกอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เนื่องจากข้อจำกัดการเปิดบัญชีธนาคารที่ยังน้อย เครือข่ายเอทีเอ็มในพื้นที่ชนชทไม่เพียงพอ สมาร์ตโฟนราคาถูกมีจำนวนมากขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากการโปรโมตบริการด้านการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงข้ามพรมแดน

ตามข้อมูลของธนาคารกลางกัมพูชา ระบุว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดในประเทศเพิ่มขึ้น 29% สู่ระดับราว 601 ล้านครั้งในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 ปีก่อนหน้าถึง 10 เท่า 

และเมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา แบงก์ชาติกัมพูชาเพิ่งเปิดตัวระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ “บากอง ทัวริสต์” (Bakong Tourists) ที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินแบบไร้เงินสดได้ และเป็นการสนับสนุนการใช้สกุลเงินเรียลด้วย

ทั้งนี้ บากอง ทัวริสต์ สร้างขึ้นจากระบบชำระเงินบากองที่เปิดตัวเมื่อปี 2563 และตอนนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัลของแบงก์ชาติกัมพูชา และการชำระเงินผ่านบากองจะชำระผ่านมาตรฐานคิวอาร์โค้ด KHQR

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง  ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’ หมายเหตุ: นิกเกอิเอเชียมีการปรับแก้ข้อมูลภายหลังโดยนำการคำนวณของไทยออกไป

เชีย เซเรย์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติกัมพูชากล่าวว่า “มีจุดบริการรองรับการชำระเงินผ่าน KHQRมากถึง 3.3 ล้านแห่งทั่วประเทศ ร้านค้าทั้งขนาดเล็กและตามริมถนนในพนมเปญและเสียมเรียบ ต่างรองรับคิวอาร์โค้ดนี้ได้แล้ว”

ซาม นัง มัคคุเทศน์วัย 37 ปี ในเสียมเรียบ เมืองที่มี “นครวัด” อันเป็นสถานที่ที่ได้รับยกย่องเป็นมรดกของโลกบอกว่า บากองทัวริสต์เป็นแนวคิดที่ดีต่อการอำนวยความสะดวกในการชำระเงินให้กับนักท่องเที่ยว แม้เขายังไม่เห็นนักท่องเที่ยวใช้ก็ตาม

ในมาเลเซียก็มีเครือข่ายชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด “DuitNow QR” หรือเป็นรู้จักในชื่อ “เพย์เน็ต” (PayNet) เปิดตัวเมื่อปี 2562 โดยเพย์เมนท์ เน็ตเวิร์ก มาเลเซีย และระบบคิวอาร์โค้ดนี้กลายเป็นรากฐานสำคัญของระบบนิเวศการชำระเงินดิจิทัลของมาเลเซียได้อย่างรวดเร็ว

ตามข้อมูลของธนาคารกลางมาเลเซียเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการชำระเงินผ่านระบบนี้ 1.5 พันล้านครั้ง และมีมูลค่าการทำธุรกรรมสูงถึง 1.37 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 64% และ 37% ตามลำดับ

DuitNow QR ยังสามารถใช้แทนระบบชำระเงินในประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้ เช่น ผู้ใช้มาเลเซียสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด QRIS ของอินโดนีเซียได้ด้วย รวมถึงระบบ NETS ของสิงคโปร์, พร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย และอาลีเพย์ (Alipay) ของจีน ขณะที่ชาวต่างชาติที่มาเยือนมาเลเซียก็สามารถสแกน DuitNow QR ได้เช่นกัน

"สิงคโปร์" ก็ถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ปรับใช้การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล โดยในปี 2560 เพย์นาว (PayNow) ได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้สามารถโอนเงินได้แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง

ข้อมูลจากสมาคมธนาคารในสิงคโปร์ เผยว่า ระบบนี้มีการทำธุรกรรม 437 ล้านครั้ง ในปี 2566 และมีมูลค่าการทำธุรกรรม 1.57 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 41% และ 28% จากปีก่อนหน้า และเมื่อเดือนเม.ย. ปี 2564 สมาคมได้เชื่อมระบบเพย์นาวกับ "พร้อมเพย์" ของไทย ทำให้ลูกค้ารายย่อยของธนาคารทั้งสองประเทศสามารถโอนเงินข้ามพรมแดนได้อย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ระบบชำระเงินด่วนที่คล้ายกันนี้สามารถเชื่อมโยงกันในระดับนานาชาติ

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง  ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

ปัจจุบัน เพย์นาวกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสตาร์ตอัป และบริการทางการเงินเกิดใหม่ ซึ่งมีทั้งธนาคารดั้งเดิม บริษัทฟินเทค และบริษัทบริการเรียกรถและส่งอาหารอย่างแกร็ป (Grab)

ล่าสุด เมื่อเดือนมี.ค. ไวส์ (Wise) บริษัทบริการโอนเงินและชำระเงินชั้นนำของสหราชอาณาจักร ได้เชื่อมระบบเข้ากับเครือข่ายเพย์นาว ทำให้ผู้ใช้งานทั้งสองประเทศสามารถชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดของสองช่องทางนี้ได้โดยตรง

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขยายบริการ “พร้อมเพย์” ครอบคลุมหลายประเทศในอาเซียน และยังมีการเชื่อมโยงระบบไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับไทยนอกเหนือจากอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่มีแรงงานเข้ามาทำงานในไทยและประเทศที่มีคนมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมาก

นิกเกอิเอเชียเผยว่า ในปี 2566 การทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 77.2 ล้านครั้ง มากกว่าปีก่อนหน้า 2.9 ล้านครั้ง และมียอดใช้จ่ายต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 129,000 ล้านบาท

อินโดนีเซียและเวียดนามก็มีการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามข้อมูลของธนาคารกลางอินโดนีเซีย ระบุว่า การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบคิวอาร์โค้ด QRIS เติบโต 226% ในไตรมาสสี่ปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายปี โดยมีผู้ใช้งานทำธุรกรรมราว 50 ล้านครั้ง ขณะที่ร้านค้าทำธุรกรรมผ่านคิวอาร์โค้ดนี้ 32 ล้านครั้ง

ด้านธนาคารกลางเวียดนามเผยว่า การทำธุรกรรมผ่านคิวอาร์โค้ดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 104.23% และมูลค่าการทำธุรกรรมเติบโต 99.57% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566

ส่วนในฟิลิปปินส์การทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 2.6 พันล้านครั้งในปี 2566 เพิ่มขึ้น 28.1% จากปีก่อนหน้า ส่วนการทำธุรกรรมผ่านระบบ QR Ph ของฟิลิปปินส์สูงถึง 73.8 ล้านครั้งเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ 17.2%