ก.ยุติธรรมสหรัฐยื่นฟ้อง Visa ‘ผูกขาด’ ตลาดเดบิต ทำของราคาขึ้นเกือบทุกอย่าง
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฟ้อง Visa ผูกขาดตลาดบัตรเดบิต ทำราคาสินค้าขึ้นเกือบทุกอย่าง ผลักภาระให้ผู้บริโภค แถมสกัดเหล่าสตาร์ตอัป 'ฟินเทค' ฉุดตลาดการชำระเงินถูกผูกขาดไร้นวัตกรรมใหม่ๆ
KEY
POINTS
- กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยื่นฟ้องบริษัท 'วีซ่า' ฐานผูกขาดเครือข่ายรับชำระเงินแบบ 'เดบิต'
- รัฐบาลอ้างว่าวีซ่าใช้วิธีทำข้อตกลงแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับพาร์ตเนอร์ ทำให้กีดกันคู่แข่งรายอื่นๆ
- วีซ่า และมาสเตอร์การ์ดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีมาร์เก็ตแคปรวมกันมากถึงราว 1 ล้านล้านดอลลาร์
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่ากระทรวงยุติธรรมของสหรัฐได้ยื่นฟ้องบริษัท "วีซ่า อิงค์" (Visa) ผู้ให้บริการเครือข่ายระบบชำระเงินรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยกล่าวหาว่าวีซ่าทำการ "ผูกขาดตลาดเดบิต" อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการทำข้อตกลงพิเศษแบบจำกัดสิทธิกับพาร์ตเนอร์ เพื่อสกัดกั้นคู่แข่งรายอื่นๆ โดยเฉพาะบรรดาบริษัทเทคโนโลยีฟินเทค
ในเอกสารคำฟ้องคดีแพ่งเรื่องต่อต้านการผูกขาดที่ยื่นต่อศาลในนครนิวยอร์กนั้น รัฐบาลอ้างว่ากลยุทธ์ดังกล่าวของวีซ่าที่ใช้มานานหลายปี ส่งผลให้ผู้บริโภค และผู้ค้าชาวอเมริกัน "ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมหลายพันล้านดอลลาร์"
"วีซ่าได้ขยายอำนาจอย่างผิดกฎหมายในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงเกินกว่าที่สามารถเรียกเก็บได้ในตลาดที่มีการแข่งขัน" เมอร์ริค การ์แลนด์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐระบุในแถลงการณ์
"ร้านค้า และธนาคารต่างก็โยนภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะโดยการขึ้นราคาหรือลดคุณภาพสินค้าหรือบริการ" "ด้วยเหตุนี้ การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของวีซ่าจึงไม่เพียงส่งผลต่อราคาของสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อราคาของเกือบทุกอย่างด้วย"
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา Visa และ Mastercard ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งรายเล็กกว่า มีมูลค่าตลาดรวมกันอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ (เกือบ 33 ล้านล้านบาท) เนื่องจากผู้บริโภคใช้บัตรเครดิต และบัตรเดบิตในการซื้อสินค้าที่หน้าร้าน และซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซแทนการใช้เงินสด โดยพื้นฐานแล้วบัตรเหล่านี้ก็คือ "ผู้เก็บค่าผ่านทาง" ของธุรกรรมการชำระเงินระหว่างธนาคารกับร้านค้า และผู้ถือบัตร
เอกสารคำฟ้องของกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ธุรกรรมบัตรเดบิตมากกว่า 60% ในสหรัฐ เป็นการดำเนินการผ่านระบบของวีซ่า ซึ่งทำให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
อย่างไรก็ตาม วีซ่าได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าไม่มีมูลความจริง โดย จูลี รอทเทนเบิร์ก ที่ปรึกษาทั่วไปของวีซ่า กล่าวว่า ใครก็ตามที่เคยซื้อสินค้าทางออนไลน์หรือชำระเงินที่ร้านค้า ย่อมรู้ดีว่ามีตัวเลือกบริษัทต่างๆ มากมายที่เสนอวิธีการใหม่ๆ ในการชำระเงินค่าสินค้า และบริการ
ทั้งนี้ สองยักษ์ใหญ่ในวงการบัตรเครดิต และเดบิตอย่างวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด ซึ่งครองตลาดมานานหลายสิบปีได้ดึงดูดความสนใจจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ และผู้ค้าปลีกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกรณีล่าสุดนี้ ไม่ใช่คดีแรกที่รัฐบาลเป็นฝ่ายยื่นฟ้องวีซ่า
เมื่อปี 2020 กระทรวงยุติธรรมได้ยื่นฟ้องคดีต่อต้านการผูกขาดเพื่อขวางไม่ให้วีซ่าเข้าซื้อกิจการบริษัทฟินเทค Plaid บริษัททั้งสองระบุว่าจะต่อสู้คดีนี้ แต่ไม่นานก็ยกเลิกแผนซื้อกิจการมูลค่า 5.3 พันล้านดอลลาร์
ส่วนในเดือนมี.ค.ปีนี้ วีซ่า และมาสเตอร์การ์ดตกลงที่จะ "จำกัดค่าธรรมเนียม" ลงมา และให้ร้านค้าสามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าสำหรับการใช้บัตรเครดิตได้ ซึ่งฝ่ายร้านค้าปลีก ระบุว่าจะช่วยให้ประหยัดได้มากถึงราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์ภายใน 5 ปี ทว่าผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางได้ปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว โดยระบุว่าฝ่ายวีซ่า และมาสเตอร์การ์ดสามารถให้ข้อเสนอที่ดีมากกว่านี้ได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์