เปิดเหตุผลคนญี่ปุ่นยุคใหม่ไม่เที่ยวต่างประเทศ

เปิดเหตุผลคนญี่ปุ่นยุคใหม่ไม่เที่ยวต่างประเทศ

แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าญี่ปุ่นต่อเนื่องทำสถิติใหม่ แต่พลเมืองญี่ปุ่นกลับแสดงออกว่าอยากอยู่บ้านมากกว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานข้อมูลจากศูนย์ผลิตภาพญี่ปุ่น การเดินทางท่องเที่ยวถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง ปีที่แล้วการเดินทางในประเทศเป็นกิจกรรมที่ประชาชนทำมากที่สุด แต่ตลาดยังเติบโตยาก การเดินทางระหว่างประเทศมีเพียงราว 60% ของระดับก่อนโควิด-19 ระบาด ขณะเดียวกันจำนวนการพักค้างคืนของทริปในประเทศลดลงอย่างมากเมื่อเทียบเป็นรายปีตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว เปิดเหตุผลคนญี่ปุ่นยุคใหม่ไม่เที่ยวต่างประเทศ

หลายปัจจัยมีบทบาท กล่าวคือ ผู้คนมีทางเลือกในการพักผ่อนหย่อนใจมากกว่าเดิม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามไม่ทันเทรนด์การท่องเที่ยวคนเดียว หลีกหนีการเดินทางเป็นกลุ่ม เงินเยนอ่อนค่าและต้นทุนการเดินทางสูงขึ้นเนื่องจากคนเดินทางกันมากขึ้นก็มีส่วน รวมถึงความต้องการหลังโควิดที่เคยพุ่งกลับลดลงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยด้วย เปิดเหตุผลคนญี่ปุ่นยุคใหม่ไม่เที่ยวต่างประเทศ

แต่อุปสรรคใหญ่สุดสำหรับคนญี่ปุ่นที่คิดจะไปเที่ยวคือลางานยาก นั่นหมายความว่าการเดินทางในประเทศไปได้ก็ไม่เกินสองคืน ถ้าจะวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศก็ไปได้บางช่วงเวลาของปีเท่านั้น ตรงข้ามกับยุโรปที่ลาพักร้อนได้ยาว

“ถ้ากระจายวันหยุดได้มากขึ้น นักเดินทางย่อมพึงพอใจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น” โยชิฮารุ โฮชิโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) โฮชิโนรีสอร์ตกล่าว อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจญี่ปุ่นยังคงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

ย้อนไปในปี 2562 อานิสงส์จากสายการบินราคาประหยัดที่เพิ่มจำนวนขึ้น นักเดินทางจึงไปต่างประเทศเกิน 20 ล้านคนเป็นครั้งแรก แต่การมีหนังสือเดินทางลดลงจาก 23.8% ในปีนั้นมาอยู่ที่ 17% ในปี 2566

ฮิโรยูกิ ทาคาฮาชิ ประธานสมาคมตัวแทนท่องเที่ยวญี่ปุ่น กังวลเรื่องที่คนหนุ่มสาวมีประสบการณ์ในต่างประเทศน้อยลง

ผลสำรจของสำนักงานคณะรัฐมนตรีในปี 2561 พบว่า ผู้ให้ข้อมูลอายุ 13-29 ปี 53% ไม่มีความตั้งใจไปเรียนต่างประเทศ เทียบกับสัดส่วนในเกาหลีใต้และชาติตะวันตกอยู่ระหว่างราว 20% ถึงกว่า 30% ในโลกที่พูดภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ การมีเวลาว่างหลังจบมัธยมปลายช่วยส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวออกไปเที่ยวต่างประเทศ

“ประสบการณ์ในต่างแดนนำไปสู่ความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมและการเชื่อมโยงกันของมนุษย์ เราควรทุ่มเทผลักดันเพื่อสิ่งนี้” ทาคาฮาชิกล่าว

ขณะที่ตัวแทนคนหนึ่งจากองค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น (เจเอ็นทีโอ) กล่าวว่า การที่คนญี่ปุ่นเดินทางไปต่างประเทศน้อยลง “จะค่อยๆ ส่งผลกระทบทางลบต่อความสามารถในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในญี่ปุ่น”

สังเกตได้จากสายการบินระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนเที่ยวบินไปจุดหมายปลายทางหนึ่งๆ มากขึ้น ถ้ามีแนวโน้มมีผู้โดยสารขากลับเพิ่มขึ้น และมักหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระทบต่อผลประโยชน์ เช่น รายได้จากค่าโดยสาร

ขณะนี้ทางการญี่ปุ่นกำลังพิจารณานโยบายกระตุ้นคนหนุ่มสาวให้ท่องเที่ยว เช่น ให้รัฐบาลท้องถิ่นจ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทาง ปรับเพิ่มเพดานค่าใช้จ่ายเพื่อทัศนศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลให้ไปต่างประเทศได้ จากที่เคยทำกันเฉพาะในกลุ่มนักเรียนฐานะดี

ด้านผลการสำรวจประชาชนอายุ 15-24 ปี เมื่อปี 2566 โดยบริษัทวิจัยตลาดชิบูยา109แล็บ ในกรุงโตเกียว พบว่า เหตุผลสำคัญสามประการแรกที่ทำให้คนหนุ่มสาวไม่อยากไปต่างประเทศคือเงิน ความปลอดภัย และทักษะด้านภาษา