จีนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จับตาอานิสงส์สะเทือนโลก

จีนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จับตาอานิสงส์สะเทือนโลก

เศรษฐกิจจีนได้รับข่าวดีที่สุดในรอบหลายปีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นพุ่งแรงสุดในรอบ 16 ปี เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด

ทางการจีนประกาศข่าวดีเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันอังคารที่ 24 ก.ย. โดยเริ่มที่พาน กงเซิ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) และเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านตลาดเงินตลาดทุนอีก 2 คน ประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 ด้านหลักๆ คือ ด้านการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย ลดการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) และพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่นคงของตลาดหุ้น และจะปลดล็อกเงินทุนอย่างน้อย 800,000 ล้านหยวน เพื่อสนับสนุนตลาดหุ้นจีนที่กำลังประสบปัญหา

นอกจากนี้ในสัปดาห์เดียวกัน จีนยังประกาศมาตรการช่วยเหลือทางด้าน "สังคม" ตามมา โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงกิจการพลเรือนจะออกเงินอุดหนุนค่าครองชีพในรูปแบบการแจกเงินสดครั้งเดียวให้แก่กลุ่มคนที่ยากจนข้นแค้น ได้แก่ คนไร้บ้าน ขอทาน เด็กกำพร้า ในวันที่ 1 ต.ค.ซึ่งตรงกับวันชาติจีน และยังมีข่าวเรื่องมาตรการอื่นๆ ทยอยออกมาประปรายตลอดทั้งสัปดาห์ 

ทว่าที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากก็คือ การที่จีนประกาศว่าจะใช้ “มาตรการทางการคลัง” (Fiscal stimulus) ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ด้วย หลังจากคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ของจีนประกาศจะเข้าแก้ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อหยุดภาวะตกต่ำให้ได้ และจะเข้ากระตุ้นทางการคลังด้วยเพื่อให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตตามเป้าหมายได้

บลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลมีแผนจะอัดฉีดผ่านแบงก์รัฐถึง 1 ล้านล้านหยวน โดยใช้วิธีการออกพันธบัตรพิเศษ เพื่อให้รัฐบาลสามารถอัดฉีดเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรงกับการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ สอดคล้องกับที่รอยเตอร์สรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า จีนมีแผนจะออกพันธบัตรพิเศษมากถึง 2 ล้านล้านหยวนในปีนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนไปใช้ในมาตรการทางการคลังเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง

มาร์ก วิลเลียมส์ นักเศรษฐศาสตร์เอเชียของบริษัทแคปิทัล อีโคโนมิกส์ คาดการณ์ว่า แม้ว่ามาตรการกระตุ้นของจีนจะออกมาค่อนข้างช้าในช่วงปลายปีเช่นนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดที่ใหญ่และครอบคลุมแล้วทำให้คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของปีงบประมาณปัจจุบันได้มากถึง 0.4% และจะทำให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทั้งปีที่ประมาณ 5% ได้

ตลาดหุ้นดีที่สุดในรอบ 16 ปี

“ตลาดเงิน-ตลาดทุน” เป็นภาคส่วนแรกที่เห็นผลเร็วที่สุดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และทำให้ตลาดหุ้นจีนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพุ่งทะยานขึ้นสูงสุดในรอบ 16 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐเมื่อปี 2551

ในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี CSI 300 ตลาดหุ้นจีน ปรับตัวขึ้นไปถึง 15.7% หรือสูงที่สุดนับตั้งแต่สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ย. 2551 โดยดัชนีปิดตลาดวันศุกร์ที่ระดับ 3,703.68 จุด หรือสูงที่สุดในรอบประมาณหนึ่งปี

ในขณะที่ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.74% และเป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดของฮั่งเส็งนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2541 จากข้อมูลของเว็บไซต์แฟ็คท์เซท โดยดัชนีปิดที่ระดับ 20,586.94 จุด หรือสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2566

เดวิด เชา นักกลยุทธ์จากบริษัทจัดการสินทรัพย์อินเวสโกเปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า นักลงทุนจำนวนมากแห่เข้าซื้อหุ้นจากกระแสกลัวการตกรถ (FOMO) เพราะในสัปดาห์นี้จะเป็นเทศกาลวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติจีน แต่ตลาดฮ่องกงยังทำการอยู่โดยจะปิดแค่วันที่ 1 ต.ค. เท่านั้น ทำให้นักลงทุนกลัวว่าหุ้นจะขึ้นต่อในช่วงวันหยุด จึงรีบเข้าซื้อตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

ขณะที่ลอรา หวัง และทีมนักกลยุทธ์ของธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่าหากได้มาตรการการคลังจะช่วยให้ดัชนี CSI 300 ปรับตัวขึ้นได้อีกถึง 10% ในระยะสั้น

แรงซื้อหุ้นจีนยังมาจากนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกที่เห็นสัญญาณให้กลับเข้าตลาดหุ้นจีนอีกครั้ง สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า “เดวิด เท็ปเปอร์” ผู้ก่อตั้งกองทุน Appaloosa Management และหนึ่งในนักลงทุนชื่อดังที่ทำกำไรมหาศาลในช่วงวิกฤติซับไพรม์ ได้ประกาศว่าจะ “เข้าซื้อทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับจีน”

“ผมคิดว่าสิ่งที่เฟดทำเมื่อสัปดาห์ก่อนจะส่งผลให้จีนผ่อนปรนนโยบายการเงินตามมา แต่ผมไม่รู้ว่าพวกเขาจะใช้ ‘มาตรการใหญ่’ เหมือนที่เคยทำมาในอดีตแบบนี้” เท็ปเปอร์กล่าวกับซีเอ็นบีซี

ตลาดลักชัวรี-บริโภค เริ่มเห็นสัญญาณฟื้น

ภายหลังมีข่าวดีเรื่องมาตรการกระตุ้นในจีน โดยเฉพาะหลังจากที่คณะโปลิตบูโรประกาศว่าจะใช้ “มาตรการทางการคลัง” เข้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ส่งผลให้หุ้นกลุ่มผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นทันทีจากสัญญาณบวกที่คาดว่าจะได้เห็นการจับจ่ายใช้สอยในจีนฟื้นกลับมา โดยหนึ่งในตลาดที่ตอบรับข่าวดีทันทีก็คือ “กลุ่มสินค้าแบรนด์หรู”

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งอาณาจักรสินค้าแบรนด์หรู LVMH มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5.5 แสนล้านบาท) ไปแตะ 2.01 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 6.5 ล้านล้านบาท) หลังจากหุ้น LVMH พุ่งขึ้นถึง 9.9% รับข่าวดีจากจีนเมื่อวันที่ 26 ก.ย. และนับเป็นการเพิ่มขึ้นภายในวันเดียวที่มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของอาร์โนลต์

ก่อนหน้านี้ ปัญหาเศรษฐกิจในจีนจากผลพวงของวิกฤติการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ครั้งรุนแรงที่สุด ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในจีนโดยเฉพาะในกลุ่ม “สินค้าแบรนด์หรู” สะท้อนจากยอดขายที่ลดลง และราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาแล้ว 7.5% ในปีนี้

นอกจากผู้ก่อตั้ง LVMH แล้ว บลูมเบิร์กรายงานว่ายังมีมหาเศรษฐีอีกหลายรายที่ได้อานิสงส์จากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน อาทิ “คอลิน หวง” ผู้ก่อตั้งบริษัท PDD Holdings Inc. เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเทมู (Temu) และพินตัวตัว (Pinduoduo) ที่มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 5 พันล้านดอลลาร์ หลังหุ้นบริษัทพุ่งขึ้นถึง 14%