เบื้องหลังคำพูดพาวเวลล์: สิ่งที่เขาไม่ได้บอกเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจสหรัฐ

เบื้องหลังคำพูดพาวเวลล์: สิ่งที่เขาไม่ได้บอกเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจสหรัฐ

"ประธานธนาคารกลางสหรัฐ" เผย จ่อลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อถึงเวลาและปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมยังคงอยู่ในสถานะที่มั่นคง แม้จับตาตัวเลขการจ้างงานศุกร์นี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานแถลงการณ์ของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันนี้ (1 ต.ค.) ว่า ธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อถึงเวลาและปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมยังคงอยู่ในสถานะที่มั่นคง

พาวเวลล์ยังย้ำถึงความเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเคลื่อนไหวไปสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% และธนาคารกลางวางแผนเชิงโครงสร้างเพื่อรับมือกับการผ่อนคลายแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเรียบร้อยแล้ว

"มองไปข้างหน้า หากเศรษฐกิจปรับตัวไปในทิศทางที่ดีมากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ นโยบายจะค่อยๆ เคลื่อนไปสู่จุดยืนที่เป็นกลางมากขึ้น" พาวเวลล์กล่าวในสุนทรพจน์ที่แนชวิลล์ ณ การประชุมประจำปีของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติ

 "ทุกอย่างไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า" เขากล่าว โดยชี้แจงว่าผู้กำหนดนโยบายจะยังคงตัดสินใจในแต่ละการประชุมโดยอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามาแต่ละครั้งไป

 

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ระบุว่า นโยบายที่เป็นกลางคือมาตรการที่ไม่กระตุ้นหรือยับยั้งเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในปัจจุบันของเฟดซึ่งคณะกรรมการนโยบายทางการเงินได้ลดลงมาอยู่ในช่วง 4.75%-5% เมื่อต้นเดือนนี้ ได้รับการมองอย่างกว้างขวางว่ายังคงเป็นตัวยับยั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่

คำกล่าวข้างต้นยังนำไปสู่คำถามว่าผู้กำหนดนโยบายจะมีแนวทางอย่างไรเกี่ยวกับ “ขนาดและความเร็ว” ของการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนต่อๆ ไป ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับนักลงทุน

ในช่วงถาม-ตอบหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ ประธานเฟดยอมรับว่าการคาดการณ์ที่ออกโดยเจ้าหน้าที่พร้อมกับการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ชี้ไปที่การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมสองครั้งถัดไปในเดือนพ.ย.และธ.ค. อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่าคณะกรรมการฯ ของเฟดจะตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นด้วย

"คณะกรรมการฯ ไม่รู้สึกว่าต้องรีบลดอัตราดอกเบี้ยขนาดนั้น"

พาวเวลล์กล่าว พร้อมเสริมว่า "ท้ายที่สุด ข้อมูลในอนาคตจะเข้ามาช่วยในการตัดสินใจ หากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ ก็สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัวน้อยกว่าที่เราคาด เราก็สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้ช้าลง"

 

 

 

เมื่อต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เฟดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นต้นทุนการกู้ยืมสำคัญของประชาชนลง 0.5%  และเป็นการลดครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020

โดยคณะกรรมการฯ อธิบายว่า มีเป้าหมายเพื่อปกป้องตลาดแรงงานที่กำลังชะลอตัวและแนวโน้มการอ่อนตัวในอนาคคต

อย่างไรก็ดี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พาวเวลล์อธิบายว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง แต่ในภาพรวมยัง "มีการจ้างงานลดลงอย่างชัดเจน"

การชะลอตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ โดยเทรนด์นี้ได้รับการยืนยันจากข้อมูลของรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าดัชนีที่เฟดใช้วัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในเดือนส.ค. บนฐาน 12 เดือน ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 2.2%

ข้อมูลข้างต้นทำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายทำให้พวกเขาสามารถให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดแรงงานได้มากขึ้น

"การชะลอตัวของเงินเฟ้อเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ถึงความคืบหน้าเพิ่มเติมสู่กรอบ 2% อย่างยั่งยืน" 

อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายบางท่านยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปเพราะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อในเศรษฐกิจอีกครั้ง

"เป้าหมายของเราตลอดมาคือการฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคาโดยไม่ต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานอย่างเจ็บปวด ซึ่งมักเกิดขึ้นพร้อมกับความพยายามในการลดอัตราเงินเฟ้อที่สูง" พาวเวลล์กล่าว พร้อมเสริมว่า "แม้ว่างานนี้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เราก็ก้าวหน้าไปมากแล้ว"

แนวทางการลดดอกเบี้ยในอนาคต

พาวเวลล์ยอมรับว่าการลดลงของ เงินเฟ้อด้านที่อยู่อาศัย เป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่เมื่อเวลาผ่านไปเงินเฟ้อดังกล่าวมีแนวโน้มจะลดลงเพิ่มเติม

ในการประชุมเมื่อต้นเดือนนี้ คณะกรรมการฯ วางแผนการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 0.5% สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2024 และลดลงอีก 1 % ในปี 2025 ตามการคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ หลายคนประมาณการว่าจะมีการผ่อนคลายในปริมาณที่น้อยกว่านี้จนถึงสิ้นปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันนักลงทุนเดิมพันว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกประมาณ 0.75% ในปีนี้ ตามตลาดฟิวเจอร์สซึ่งบ่งชี้ถึงการลดดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกครั้งในเดือนพ.ย.หรือธ.ค.

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ​ เฟดบางท่านยังเปิดโอกาสสำหรับการเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยกล่าวว่าสัญญาณใดๆ ของการอ่อนแอลงอย่างรุนแรงในตลาดแรงงานอาจเป็นเหตุผลให้มีการลดขนาดใหญ่อีกครั้ง

ด้านผู้ว่าฯ เฟด มิเชล โบว์แมน ซึ่งคัดค้านการลดลง 0.5% ล่าสุดสนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% เน้นย้ำว่ายังเห็นความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ และควรลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ควบคุมได้อย่างระมัดระวัง

วันศุกร์นี้สหรัฐจะประกาศตัวเลขในตลาดแรงงาน โดยบทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 150,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ซึ่งสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่กำลังชะลอตัว อัตราการว่างงาน ซึ่งได้เพิ่มขึ้นในปีนี้ คาดว่าจะคงที่ที่ 4.2%

อ้างอิง: Bloomberg