ASEAN Gender Outlook 2024 เสมอภาคทางเพศอย่างยั่งยืน l World Pulse
เดือน ก.ย. เป็นเดือนที่ถนนทุกสายมุ่งสู่นิวยอร์ก ผู้นำโลกต่างร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ปีนี้อาเซียนได้นำเสนอรายงาน ASEAN Gender Outlook 2024 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ชี้ให้เห็นข้อมูลด้านเพศชุดใหม่ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจี)
ASEAN Gender Outlook 2024 ชี้ให้เห็นว่ารัฐสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก้าวหน้าในเอสดีจีหลายตัว เช่น ลดความยากจน ความไม่มั่นคงทางอาหาร เลิกเรียนกลางคัน อาชญากรรมรุนแรง และการใช้พลังงานไม่สะอาด อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมยังส่งผลอย่างมากต่อผู้หญิงและเด็กหญิงเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่รุนแรงขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องมีการพยายามเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขผลกระทบเหล่านี้
เป้าหมายที่อาเซียนก้าวหน้าไปมากแต่ยังมีความท้าทาย อาทิ เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ ความยากจนในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 10 เท่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก้าวหน้ายิ่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ
อย่างไรก็ตามผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มยากจนมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในวัยเจริญพันธุ์สูงสุด (ผู้หญิง 2.66 ล้านคน ต่อผู้ชาย 2.31 ล้านคน) ถ้าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง คาดกันว่าจะมีประชาชนอีก 2.5 ล้านคนที่ต้องยากจนภายในปี 2030
ในเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย แม้ว่าภาวะขาดแคลนอาหารในภูมิภาคจะลดลงอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่คาดว่าผู้หญิง 17% และผู้ชาย 16% ไม่ได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ และสตรีมีครรภ์ 38% เป็นโรคโลหิตจาง คาดว่าแนวทางการทำเกษตรที่ไม่ยั่งยืน การเปลี่ยนมือถือครองที่ดิน และการพึ่งพาพืชผลทำเงินมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ผู้มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนอาหารมากกว่า
เป้าหมายที่ 5 ความเสมอภาคทางเพศ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่น่าสนใจ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเพิ่มขึ้น ถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งภูมิภาคมีนักการเมืองหญิงในสภา 23% แต่ในกระทรวงสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมยังมีอยู่น้อย
รายงานแนะนำว่าการขยายบทบาทตัดสินใจของผู้หญิงในทุกภาคส่วน สำคัญต่อการสร้างแนวทางแก้ปัญหาที่ครอบคลุมเพื่อจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อโรค สร้างความยืดหยุ่นให้ภาคเกษตร ลดภาระงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง และสร้างหลักประกันระบบนิเวศด้านสุขภาพ
เรื่องน้ำสะอาดและสุขาภิบาลก็น่าเป็นห่วง ในเป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล แม้ภาพรวมมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีแนวโน้มเสียชีวิตจากการบริโภคน้ำไม่สะอาดมากกว่าผู้ชาย เช่น ในอินโดนีเซีย ผู้หญิงเสียชีวิตจากน้ำไม่สะอาด 29% ผู้ชาย 25% ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตัวเลขอยู่ที่ผู้หญิง 23% ผู้ชาย 18%
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคที่ปรากฏอยู่ใน ASEAN Gender Outlook 2024 ไปฟังความเห็นของเหล่าผู้นำถึงรายงานฉบับนี้กันบ้าง เพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ระบุ
“การลงทุนในความเสมอภาคทางเพศเป็นการลงทุนในสันติภาพ ความมั่นคงและความมั่งคั่ง The ASEAN Gender Outlook ให้ข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบายของภูมิภาค ข้อมูลส่งผลต่อการตัดสินใจของเราถึงวิธีการตอบสนองอย่างดีที่สุด เมื่อมีข้อมูลที่ดีขึ้นเราก็สามารถมีนโยบายที่คำนึงถึงผู้หญิงได้”
ด้าน มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวในทำนองเดียวกัน
“ความเสมอภาคทางเพศและการเพิ่มพลังผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนด้วยเช่นกัน เมื่อเราเดินไปข้างหน้า เราควรเพิ่มพลังให้ผู้นำหญิงรุ่นใหม่ ขอให้ผมเน้นย้ำถึงสามด้านสำคัญที่ผู้หญิงสามารถสร้างความแตกต่างและมีส่วนสนับสนุนทำให้โลกยั่งยืนพร้อมรับมืออนาคตได้มากขึ้น นั่นก็คือการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการตอบสนองต่อภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก”
ถ้อยคำของรัฐมนตรีมาริษน่าสนใจตรงที่ ปัจจุบันไทยมีรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของไทย มีผู้หญิงร่วมรัฐบาลแปดคน ถือเป็นบันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) จะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 นั่นหมายความว่าเหลือเวลาอีกหกปี จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังมุ่งสู่เป้าหมายที่วางไว้ และในเมื่อทุกคนจะได้รับผลพวงของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ ย่อมเป็นการเอื้ออำนาจให้ผู้หญิงไปในตัว