แบงก์ชาติอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงค่าเงิน หลังรูเปียห์ร่วงหนักในรอบปี

แบงก์ชาติอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงค่าเงิน หลังรูเปียห์ร่วงหนักในรอบปี

แบงก์ชาติอินโดนีเซียเข้าพยุงค่าเงินรูเปียห์ หลังค่าเงินจ่ออ่อนค่าลงติดต่อกัน 6 วันทำการ ต่อเนื่องนานที่สุดในรอบ 1 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ (7 ต.ค.) ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) กำลังเข้าแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ เพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องนานที่สุดในรอบ 1 ปี ซึ่งสถานการณ์นี้ทำให้บรรดานักค้าในตลาดคาดการณ์ว่า แบงก์ชาติอินโดนีเซียจะยังคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับเดิม ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนต.ค. นี้

เอดี ซูซิอันโต กรรมการบริหารฝ่ายบริหารการเงินของแบงก์ชาติอินโดนีเซียกล่าวว่า ธนาคารกำลังเข้าแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ในตลาดสปอต ตลาด Non-Deliverable Forward (NDF) และตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์และอุปทานสกุลเงินรูเปียห์

"เราต้องรักษาความเชื่อมั่นของตลาดเอาไว้" และเสริมว่าการอ่อนค่าส่วนใหญ่เกิดจากมุมมองความรู้สึกจากต่างประเทศ

ความเห็นของผู้บริหารแบงก์ชาติอินโดนีเซียมาพร้อมกับ แนวโน้มค่าเงินรูเปียห์ จะอ่อนค่าลงเป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน โดย ค่าเงินอินโดนีเซีย และสกุลเงินของตลาดเกิดใหม่อื่นๆ กำลังเผชิญแรงกดดันและอ่อนค่าลงอย่างหนัก ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและค่าเงินดอลลาร์ 

"ภาวะตลาดโลกค่อนข้างที่จะไม่เอื้อต่อสกุลเงินของตลาดเกิดใหม่รวมถึง เงินรูเปียห์ เนื่องจากความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลางและข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่ดีเกินคาดเมื่อเร็วๆ นี้” ซูซิอันโตกล่าว

ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 7 ต.ค. ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงอีกถึง 1.3% ไปแตะระดับ 15,693 รูเปียห์/ดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพิ่งแข็งค่าขึ้นไปมากถึง 8% ในไตรมาส 3 จากความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่องจากที่ลดไปแล้ว 0.50% เมื่อเดือนก.ย. 

แหล่งข่าวนักค้าหลายรายเปิดเผยว่า แบงก์ชาติอินโดนีเซียเข้าพยุงค่าเงินรูเปียห์ในการซื้อขายช่วงเช้า ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ธนาคารกลางเข้าแทรกแซงในตลาด

บลูมเบิร์กระบุว่า แบงก์ชาติอินโดนีเซียมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากพอที่จะเข้า พยุงค่าเงิน จากทุนสำรองระหว่างที่อยู่ในระดับเกือบทุบสถิติสูงสุดที่ 1.499 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย. ซึ่งเพียงพอรองรับการนำเข้าและความต้องการชำระหนี้ต่างประเทศเป็นเวลา 6.4 เดือน

ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมวันที่ 16 ต.ค. หลังจากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างกะทันหันในเดือนก.ย.