รัฐบาลสหรัฐเปิดศึก ‘กูเกิล’ ใหญ่เกินไปจน ‘ผูกขาดตลาด’

รัฐบาลสหรัฐเปิดศึก ‘กูเกิล’ ใหญ่เกินไปจน ‘ผูกขาดตลาด’

Google หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังถูก 'รัฐบาลสหรัฐ' เข้ามาจัดการปรับโครงสร้างแตกธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ เพราะมองว่ากูเกิลใหญ่เกินไปจนเข้าข่ายเป็น 'การผูกขาดทางการค้า'

คอนเซปต์ทางธุรกิจเรื่อง Too Big to Fail ที่เคยเชื่อกันว่าธุรกิจใหญ่เกินไปที่จะล้มได้ หรือใหญ่เกินไปที่(รัฐ)จะปล่อยให้ล้มได้นั้น เคยถูกพิสูจน์มาแล้วหลายครั้งว่าไม่จริง ไม่ว่าจะเป็นเอ็นรอน (Enron) ที่ล้มในปี 2544 เพราะกรณีทุจริตคอร์รัปชัน หรือเลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ที่ล้มในช่วงวิกฤตการณ์ซับไพรม์ปี 2551

แต่ล่าสุดในปี 2567 กับ “กูเกิล” (Google) หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นกำลังถูก “รัฐบาลสหรัฐ” เสนอเข้ามาจัดการปรับโครงสร้างแตกธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ เพราะมองว่ากูเกิลนั้นใหญ่เกินไปจนเข้าข่ายเป็น “การผูกขาดทางการค้า” และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐแถลงเมื่อวันที่ 8 ต.ค.67 ว่า อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้บริษัทอัลฟาเบท (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ขายธุรกิจบางส่วนออกไป เช่น เบราว์เซอร์โครม (Chrome) และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ที่สหรัฐมองว่ากูเกิลใช้เพื่อผูกขาดตลาดการค้นหาออนไลน์ หรือกูเกิลเสิร์ชอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สิ่งที่ทำให้รัฐบาลสามารถเข้ามาแทรกแซงบริษัทเอกชนในประเทศระบบตลาดเสรีอย่างสหรัฐได้นั้น เป็นเพราะกูเกิล “แพ้คดีครั้งสำคัญ” เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา หลังถูกศาลตัดสินว่า กูเกิลครองตลาดเสิร์ชเอนจินในสหรัฐเป็นสัดส่วนถึง 90% และเข้าข่ายเป็นการผูกขาดตลาดอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

เรื่องนี้เองทำให้กระทรวงยุติธรรมเสนอแนวทางการแตกธุรกิจของบิ๊กเทครายนี้ และอาจพลิกโฉมครั้งประวัติศาสตร์ต่อวิธีการสืบค้นข้อมูลทางออนไลน์ของชาวอเมริกัน อีกทั้งยังอาจทำให้รายได้ของกูเกิลหดตัว และเปิดโอกาสใหม่ให้คู่แข่งเติบโตได้

รัฐบาลสหรัฐเปิดศึก ‘กูเกิล’ ใหญ่เกินไปจน ‘ผูกขาดตลาด’

“การจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเต็มรูปแบบ ต้องไม่ใช่แค่ยุติการควบคุมเผยแพร่ข้อมูลของกูเกิลในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้แน่ใจด้วยว่ากูเกิลจะไม่สามารถควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลในอนาคตด้วย” กระทรวงยุติธรรมระบุและเสริมว่า การเสนอแก้ปัญหาในครั้งนี้ยังเพื่อป้องกันไม่ให้กูเกิลใช้อำนาจขยายอิทธิพลไปครอบงำธุรกิจ “ปัญญาประดิษฐ์” (เอไอ) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย

รอยเตอร์ส รายงานว่า นอกจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐจะเสนอการขายธุรกิจบางส่วน เช่น โครม และแอนดรอยส์ออกไปแล้ว ก็ยังอาจมีเสนออื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น อาจขอให้ศาลสั่งยกเลิกกลยุทธ์ของกูเกิลที่ยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่ เพื่อแลกกับการทำให้เสิร์ชเอนจินของตัวเองถูกติดตั้งพร้อมใช้งาน หรือถูกตั้งเป็นค่าเริ่มต้นในอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่สมาร์ตโฟนไปจนถึงแทบเล็ต โดยคาดว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐจะเสนอรายละเอียดทั้งหมดต่อศาลภายในวันที่ 20 พ.ย.67 ที่จะถึงนี้

ในปี 2567 ที่ผ่านมา กูเกิลมีการจ่ายเงินให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึง “แอปเปิ้ล อิงค์” เป็นเงินถึง 2.63 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อให้มั่นใจว่ากูเกิลเสิร์ชจะถูกตั้งเป็นค่าตั้งต้นในเบราเซอร์ และสมาร์ตโฟนทั่วโลก เพื่อครองความเป็นเจ้าตลาดเสิร์ชเอนจิน

ทางด้านกูเกิลซึ่งมีแผนจะยื่นอุทธรณ์ได้ระบุในบล็อกของบริษัทว่า ข้อเสนอของกระทรวงยุติธรรม “สุดโต่งเกินไป” และเลยเถิดไปไกลเกินกว่าประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้แล้ว

ไม่ใช่คดีแรกที่ถูกรัฐบาลหมายหัว

“กูเกิล” อยู่ในแสงที่ถูกรัฐบาลจับจ้องมาตลอดเป็นเวลานานแล้ว ทั้งในฐานะหัวเรือหลักของเครืออัลฟาเบท บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกด้วยมูลค่ามาร์เก็ตแคปกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือในฐานะ Duopoly ที่ผูกขาดตลาดโฆษณาออนไลน์มากกว่า 60% ร่วมกันกับ “เมตา” ที่นำโดยเฟซบุ๊ก และคดีล่าสุดนี้ก็ไม่ใช่คดีแรกที่กูเกิลถูกรัฐบาลและบริษัทคู่แข่งหมายหัว

รัฐบาลสหรัฐเปิดศึก ‘กูเกิล’ ใหญ่เกินไปจน ‘ผูกขาดตลาด’

ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์เดียวกัน กูเกิลก็เพิ่งแพ้คดี “กูเกิล เพลย์สโตร์” โดยถูกศาลตัดสินว่ากูเกิลจะต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้นในเพลย์สโตร์ และต้องอนุญาตให้บรรดาแอปพลิเคชันแอนดรอยด์ต่างๆ ถูกดาวน์โหลดบนสโตร์ของคู่แข่งได้ด้วย นอกจากนี้ กูเกิลยังกำลังสู้คดีกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ที่ต้องการให้บริษัทแยกธุรกิจ “โฆษณาออนไลน์” ออกไปด้วย

หวั่นกูเกิลครอบงำถึง AI ในอนาคต

ในบรรดาข้อเสนอจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐนั้น สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ประเด็นการผูกขาดทางธุรกิจในขณะนี้ก็คือ รัฐบาลสหรัฐจะพยายามป้องกันไม่ให้กูเกิลขยายอิทธิพลไปครอบงำวงการเอไอในอนาคตด้วย โดยรัฐบาลอาจจะขอให้กูเกิลเปิดให้คู่แข่งสามารถเข้าถึงดัชนีชี้วัด ดาต้า และโมเดลต่างๆ ที่บริษัทใช้สำหรับการทำกูเกิลเสิร์ช และบรรดาฟีเจอร์ค้นหาที่ใช้เอไอ

นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังอาจขอให้ศาลสั่งห้ามการทำข้อตกลงใดๆ ที่เป็นการจำกัดคู่แข่งอื่นๆ ในวงการเอไอไม่ให้เข้าถึงข้อมูลบนเว็บไซต์ หรืออาจขอให้เว็บไซต์ต่างๆ มีทางเลือกว่าจะอนุญาตให้กูเกิลนำข้อมูลของตนเองไปใช้เทรนโมเดลเอไอได้หรือไม่ด้วย โดยไม่ต้องถูกดดันภายใต้อิทธิพลของเจ้าตลาดอย่างกูเกิล

ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่ากระทรวงยุติธรรมจะยื่นข้อเสนอโดยละเอียดต่อศาลภายในวันที่ 20 พ.ย. ในขณะที่กูเกิลยังมีโอกาสยื่นข้อเสนอแก้ปัญหาในเวอร์ชันของตนเองภายในวันที่ 20 ธ.ค.67 นี้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์