นักฟิสิกส์โนเบลหวั่นเอไอพัฒนาเร็วจน‘คุมไม่อยู่’

นักฟิสิกส์โนเบลหวั่นเอไอพัฒนาเร็วจน‘คุมไม่อยู่’

สองนักวิทยาศาสตร์คว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2024 จากการค้นพบและคิดค้นในสาขาแมชชีนเลิร์นนิง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในปัจจุบัน

แต่แม้เริ่มต้นมากับมือ นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งยอมรับว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอ “น่าขนลุกยิ่ง” พร้อมเตือนถ้าไม่ดูแลให้ดีอาจเกิดหายนะได้

 

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน จอห์น ฮอปฟิลด์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและเจฟฟรีย์ ฮินตัน นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาเชื้อสายอังกฤษ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2024 จากผลงานการวางรากฐานแมชชีนเลิร์นนิง ที่ช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

ทั้งสองคนร่วมกันเรียกร้องให้โลกทำความเข้าใจการทำงานภายในของระบบเรียนรู้เชิงลึกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันความก้าวหน้าถึงขนาดควบคุมไม่อยู่

ฮอปฟิลด์ วัย 91 ปีกล่าวผ่านวีดิโอลิงค์จากอังกฤษมายังการประชุมของมหาวิทยาลัยนิวเจอร์ซีย์ เมื่อวันอังคาร (8 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ระบุ

“เราคุ้นเคยกับการมีเทคโนโลยีที่ไม่ได้ดีหรือร้ายเพียงอย่างเดียว แต่มีความสามารถทั้งสองด้านและในฐานะนักฟิสิกส์ ผมไม่สบายใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ผมไม่เข้าใจดีพอถึงข้อจำกัดของสิ่งที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีนั้น นั่นคือคำถามที่กำลังเกิดขึ้นกับเอไอ” นักฟิสิกส์โนเบลหวั่นเอไอพัฒนาเร็วจน‘คุมไม่อยู่’

นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบลใหม่หมาดกล่าวและว่า แม้ระบบเอไอกำลังเป็น "ความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง” แต่การขาดความเข้าใจถึงการทำงานของเอไอเป็นสิ่งที่ “น่ากังวลมากๆ”

“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตัวผม และคิดว่าเจฟฟรีย์ ฮินตัน ก็เช่นกัน จะทุ่มเททำความเข้าใจ เพราะเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในสาขานี้ ที่กำลังพัฒนาขีดความสามารถบางอย่างไปไกลเกินกว่าคุณจะจินตนาการได้ในตอนนี้”

ฮอปฟิลด์ได้รับการยกย่องจากการคิดค้น “เครือข่ายฮอปฟิลด์” ตัวแบบเชิงทฤษฎีที่แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายประสาทเทียมที่สามารถเลียนแบบการเก็บและดึงความทรงจำของสมองจริงได้

จากนั้น ฮินตัน ชาวแคนาดาเชื้อสายอังกฤษ วัย 76 ปี ผู้ได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งเอไอ” นำตัวแบบของฮอปฟิลด์มาปรับปรุง “เครื่องจักรบอลต์ซแมนน์” ของฮินตันใช้องค์ประกอบของการสุ่มตัวอย่าง เปิดทางให้เกิดแอปพลิเคชันเอไอสมัยใหม่ เช่น เครื่องมือสร้างรูป

ฮินตันปรากฏตัวเมื่อปีที่แล้วในฐานะสัญลักษณ์ของผู้ทำนายหายนะเอไอ โดยกล่าวเรื่องนี้ในการแถลงข่าวของมหาวิทยาลัยโตรอนโตที่เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ

“ถ้าคุณหันไปดูรอบๆ มีไม่กี่อย่างหรอกที่สิ่งฉลาดมากกว่าถูกควบคุมด้วยสิ่งฉลาดน้อยกว่า ซึ่งทำให้คุณเกิดความสงสัยว่าเมื่อเอไอฉลาดกว่าเรา มันจะควบคุมเราหรือไม่” นักวิทยาศาสตร์วัย 76 ปี กล่าวกับผู้สื่อข่าว

  • การล่มสลายของอารยธรรม

เมื่อขีดความสามารถของเอไอพุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ บริษัทต่างๆ แข่งกันพัฒนาอย่างดุเดือด เทคโนโลยีนี้กำลังถูกวิจารณ์ว่าพัฒนาเร็วเกินกว่านักวิทยาศาสตร์จะเข้าใจได้อย่างเต็มที่

“คุณไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่คุณเริ่มต้นขึ้นเป็นสิ่งที่มีปฏิกริยาแท้จริงทุกอย่าง ดังนั้นคุณจึงไม่รู้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นโดยธรรมชาติแต่เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาซ่อนอยู่ในงานชิ้นนั้นหรือไม่” ฮอปฟิลด์ย้ำพร้อมยกตัวอย่าง“เก้าน้ำแข็ง” (ice-nine) ผลึกเทียมในนวนิยายปี 1963 เรื่อง “Cat's Cradle” ของ Kurt Vonnegut ที่ถูกพัฒนามาเพื่อช่วยเหล่าทหารรับมือกับสภาพดินโคลนแต่กลายเป็นว่าทำให้มหาสมุทรทั่วโลกแข็งตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นเหตุให้อารยธรรมล่มสลาย

“ผมกังวลกับอะไรก็ตามที่บอกว่า ฉันเร็วกว่าคุณ ฉันใหญ่กว่าคุณ คุณจะอยู่กับฉันอย่างสันติได้มั้ย ผมไม่รู้ ผมกังวล” ฮอปฟิลด์ครวญ

ด้านฮินตันกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้วิธีหนีรอดจากฉากทัศน์หายะได้อย่างไร “นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องเร่งทำวิจัยให้มากขึ้น ผมกำลังสนับสนุนให้สุดยอดนักวิจัยรุ่นใหม่ของเรา หรือหลายคนๆ ควรทำงานเรื่องความปลอดภัยของเอไอ รัฐบาลควรบังคับให้บริษัทใหญ่จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกทางคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นในการนี้”

สำหรับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนระบุว่า ได้มอบรางวัลให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองรายนี้ เพราะพวกเขานำหลักการทางฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวิธีการอันเป็นรากฐานของเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงอันทรงพลังในปัจจุบัน ซึ่งกำลังปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และชีวิตประจำวันของเรา

รางวัลนี้มาพร้อมกับเงินมูลค่า 11 ล้านโครนสวีเดน (1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะแบ่งให้กับผู้ได้รับรางวัลทั้งสอง