'ผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูญี่ปุ่น' คว้า 'โนเบลสันติภาพ 2024'
องค์กรผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในญี่ปุ่น Nihon Hidankyo คว้าโนเบลสันติภาพประจำปีนี้ เชิดชูความพยายามผลักดันโลกให้ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์
คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลมีมติเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ประกาศให้ สมาพันธ์ผู้ประสบภัยจากระเบิดปรมาณูและไฮโดรเจนแห่งญี่ปุ่น หรือ "นิฮง ฮิดันเกียว" (Nihon Hidankyo) ซึ่งเป็นองค์กรของผู้รอดชีวิตในญี่ปุ่นจากระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับ "รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ" ประจำปีนี้ เพื่อเชิดชูความพยายามในการผลักดันโลกให้ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์
คณะกรรมการฯ ระบุว่า นิฮง ฮิดันเกียว ซึ่งเป็นองค์กรรากหญ้าที่มีการก่อตั้งขึ้นในปี 1956 หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในเดือนส.ค. 1945 ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่ร้ายแรงต่อมนุษยชาติจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์
แม้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงครามเป็นเวลาเกือบ 80 ปีแล้ว แต่เป็นเรื่องน่าวิตกที่ในปัจจุบัน แนวคิดในการไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์กำลังถูกกดดัน
สำหรับพิธีมอบรางวัลโนเบลจะมีขึ้นที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ในวันที่ 10 ธ.ค. โดยบุคคลหรือองค์กรที่คว้ารางวัลจะได้รับเงินจำนวน 11 ล้านโครนาสวีเดน (1.06 ล้านดอลลาร์) หรือราว 35 ล้านบาท
สำนักข่าววีโอเอระบุว่า สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกใส่ญี่ปุ่นในปี 1945 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 120,000 คนทันที และมีประชาชนจำนวนเท่าๆ กันเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากแผลไหม้และผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี ขณะที่มีผู้รอดชีวิตอยู่ราว 650,000 คนที่มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ฮิบากูชะ (Hibakusha)
แถลงการณ์ของคณะกรรมการโนเบลระบุว่า ชะตาชีวิตของผู้รอดชีวิตเหล่านั้นถูกปกปิดไว้หรือไม่สังคมก็ไม่ยอมรับรู้ และในปี 1956 สมาคมฮิบาคุชะหลายแห่งในญี่ปุ่นมารวมตัวกันกับเหยื่อของการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อสร้างกลุ่ม Nihon Hidankyo ขึ้นมา
คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า กลุ่มดังกล่าวได้รับรางวัลสันติภาพจาก "ความพยายามที่จะให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ และจากการแสดงให้เห็นผ่านคำให้การของพยานผู้รอดชีวิตว่า จะต้องไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไป"
"ผมไม่อยากเชื่อเลยว่ามันจะเป็นเรื่องจริง" โทชิยูกิ มิมากิ ประธานร่วมของนิฮง ฮิดันเกียว กล่าวโดยกลั้นน้ำตาและบีบแก้มตัวเองไว้ ในการแถลงข่าวที่เมืองฮิโรชิม่า ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุระเบิดปรมาณูเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ในช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง
มิมากิซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตกล่าวว่า รางวัลนี้จะช่วยผลักดันความพยายามในการแสดงให้เห็นว่า การยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นไปได้ และตำหนิรัฐบาลต่างๆ ที่ยังเดินหน้าทำสงครามแม้ว่าประชาชนจะโหยหาสันติภาพก็ตาม
ด้านยอร์เกน วัตเน ฟรีดเนส ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลของนอร์เวย์ กล่าวเตือนโดยไม่ได้ระบุชื่อประเทศใดประเทศหนึ่งว่า ประเทศที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไม่ควรคิดที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์
"ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งอาวุธนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอย่างแน่นอน เราต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้าง Nuclear Taboo ซึ่งเป็นบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์"
"เราเห็นว่าเป็นเรื่องน่าตกใจมากที่ข้อห้ามทางนิวเคลียร์ ... เผชิญแรงคุกคามต่างๆ จนลดน้อยลง สวนทางกับสถานการณ์ในโลกที่มหาอำนาจด้านนิวเคลียร์กำลังปรับปรุงและยกระดับคลังอาวุธของตนเอง" ฟรีดเนสกล่าวกับรอยเตอร์