เวิลด์แบงก์ชี้อีก 4 ปี 'มาเลเซีย' จ่อขยับขึ้นประเทศรายได้สูง
ธนาคารโลกเผยมาเลเซียอาจขยับสถานะครั้งสำคัญขึ้นเป็น 'ประเทศรายได้สูง' ภายในปี 2571 หลังจีดีพีปีนี้ขยายตัวดีกว่าที่คิด เวิลด์แบงก์ปรับเพิ่มคาดการณ์เป็น 4.9%
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่าประเทศมาเลเซียอาจบรรลุเป้าหมายครั้งสำคัญด้วยการขยับสถานะขึ้นจากประเทศรายได้ปานกลาระดับสูงง ขึ้นไปเป็น "ประเทศรายได้สูง" (high-income nation) ภายในปี 2571 เป็นอย่างเร็วที่สุด หลังจากเศรษฐกิจขยายตัวดีกว่าที่คาด และทำให้เวิลด์แบงก์ปรับเพิ่มประมาณเศรษฐกิจมาเลเซียเป็นขยายตัว 4.9% ในปีนี้
อาเพอร์วา ซังกี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มาเลเซียของเวิลด์แบงก์ กล่าวว่า มาเลเซียกำลังขยับเข้าใกล้หมุดหมายสำคัญหลังจากที่เวิลด์แบงก์ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีให้มาเลเซียในปีนี้ถึง 0.6% จาก 4.3% ขยับไปเป็น 4.9% ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบปีที่แล้วที่ขยายตัวได้ 3.7%
จีดีพีที่สูงขึ้นยังหมายถึงมาตรฐานการครองชีพในประเทศที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องไปกับค่าเงินริงกิตที่แข็งค่าขึ้น และทำให้สถานะการเป็นประเทศรายได้สูงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
หากไม่นับรวมจีดีพีในปี 2565 ซึ่งขยายตัวอย่างก้าวกระโดดหลังฟื้นจากโควิด แนวโน้มการขยายตัวได้ 4.9% ในปีนี้จะเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดของมาเลเซียนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มาเลเซียกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศปีนี้เติบโตดีขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดถึง 12% และทำให้มาเลเซียแซงหน้าทุกประเทศในอาเซียนได้ทั้งหมด ยกเว้นเพียงสิงคโปร์
อาเพอร์วายังเรียกร้องให้รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์มุ่งเน้นที่ "การปฏิรูป" เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศจะยังคงพัฒนาต่อไป ซึ่งรวมถึงการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน และการแก้ปัญหาการทำงานที่ต่ำกว่าความรู้ความสามารถ (ว่างงานแฝง) ของชาวมาเลเซียราว 2 ล้านคนในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์กำหนดสถานะประเทศรายได้สูงเอาไว้ว่า จะต้องมีรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวประชากร (GNI per Capita) ไม่ต่ำกว่า 14,005 ดอลลาร์ (ราว 4.6 แสนบาท) ต่อคนต่อปี โดยมาเลเซียมีรัฐที่รายได้ GNI ต่อหัวสูงเกินค่าดังกล่าวไปแล้ว 5 รัฐ ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง สลังงอร์ ซาราวัก และลาบวน
ปัจจุบัน "สิงคโปร์" เป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่มีสถานะเป็นประเทศรายได้สูง ขณะที่ "ประเทศไทย" ได้เลื่อนสถานะเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน