อนาคต‘บ้านลีกวนยู’ หรือถึงเวลาต้องทุบ? l World Pulse

อนาคต‘บ้านลีกวนยู’  หรือถึงเวลาต้องทุบ? l World Pulse

อย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อฉบับก่อนว่า World Pulse เพิ่งกลับจากไปร่วมงาน 𝗚𝗹𝗼𝗯𝗮𝗹 𝗟𝗶𝗳𝗲𝗹𝗼𝗻𝗴 𝗟𝗲𝗮𝗿𝗻𝗶𝗻𝗴 𝗦𝘂𝗺𝗺𝗶𝘁 𝟮𝟬𝟮𝟰 ที่สิงคโปร์เมื่อช่วงต้นเดือน กลับมาแล้วเห็นข่าวอะไรเกี่ยวกับสิงคโปร์ก็สนใจ ยิ่งเป็นข่าวใหญ่เกี่ยวข้องกับลี กวนยู ผู้ก่อตั้งประเทศ ไม่ติดตามไม่ไ

ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ มีบุตรธิดาด้วยกันสามคนคือ ลี เซียนหลุง นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ที่เพิ่งลาออกเมื่อไม่กี่เดือนก่อน, แพทย์หญิงลี เว่ยหลิง เพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ต.ค. และลี เซียนหยาง บุตรชายคนเล็ก  อนาคต‘บ้านลีกวนยู’  หรือถึงเวลาต้องทุบ? l World Pulse

เมื่อลี กวนยู ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2015 สามพี่น้องขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเรื่องบ้านเลขที่ 38 ถ.ออกซ์เลย์ กลางเมืองสิงคโปร์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1898  เจตนารมณ์ของบิดาผู้ล่วงลับต้องการให้ทุบทิ้ง หลังจากเงียบหายไปพักใหญ่เรื่องบ้านลี กวนยูกลายมาเป็นประเด็นอีกแล้ว

เมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.) ลี เซียนหยางโพสต์เฟซบุ๊คว่า เขาจะยื่นขอทุบบ้านแล้วสร้างบ้านส่วนตัวหลังเล็กๆ ให้ครอบครัวได้อยู่อาศัย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องอนุมัติให้ทุบบ้านได้เสียที อนาคต‘บ้านลีกวนยู’  หรือถึงเวลาต้องทุบ? l World Pulse

“หลังจากพี่สาวเสียชีวิต ผมเป็นผู้จัดการมรดกบ้านของบิดาลี กวน ยู เพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามเจตนารมณ์ของท่าน ท่านต้องการให้ทุบบ้านนี้ 'ทันทีหลังจาก' เว่ย หลิงย้ายออกไป จึงเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องทำตามความปรารถนาของท่านให้ถึงที่สุดตามกฎหมาย”

สองพี่น้องคือลี เว่ยหลิงและลี เซียนหยาง เห็นตรงกันว่าต้องทำตามใจพ่อ ขณะที่ลี เซียนหลุงมองว่าให้รัฐบาลเป็นคนตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับบ้านหลังนี้ อาจจะเก็บไว้เป็นสถานที่สำคัญของประเทศก็ได้

ด้านกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติกล่าวว่า รับทราบความเห็นของลี เซียนหยางแล้ว

“รัฐบาลจะพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบ้านหลังนี้อย่างละเอียดรอบคอบในเวลาที่เหมาะสม คำนึงถึงความปรารถนาของลี กวนยู และผลประโยชน์สาธารณะ รวมถึงพิจารณาการใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์แห่งนี้”

ย้อนไปเมื่อปี 2011 ลี กวนยูเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวสเตรทส์ไทม์สว่า เขาอยากให้ทุบบ้านทิ้งเพราะถ้าเปิดให้สาธารณชนเข้าชม “จะกลายเป็นความโกลาหล” และเขาหวังว่าหากทุบบ้านแล้วมูลค่าที่ดินละแวกนั้นจะสูงขึ้น

ในปี 2018 รัฐบาลตั้งคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีขึ้นมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับบ้านของลี กวนยู โดยวางทางเลือกไว้สามทาง ได้แก่ เก็บบ้านไว้โดยประกาศให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ, เก็บห้องอาหารชั้นล่างไว้ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากที่สุด ส่วนที่เหลือทุบทิ้ง หรือยอมให้ทุบทั้งหลังเพื่อพัฒนาใหม่ ส่วนการตัดสินใจปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในอนาคต ตอนนั้นนายกฯ ลี เซียนหลุง บุตรชายคนโต ยอมรับข้อสรุปดังกล่าว

สำหรับ World Pulse ที่ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มมีข่าวใหม่ๆ จำได้ว่าเมื่อปี 2016 เคยไปเที่ยวสิงคโปร์ เป้าหมายหนึ่งที่ต้องไปดูด้วยตาตนเองให้ได้ ก็คือบ้านลี กวนยู ระหว่างที่เดินวนเวียนหาบ้านไม่เจอ ก็ยื่นกระดาษจดที่อยู่ เลขที่ 38 ถ.ออกซ์เลย์ให้คนแถวนั้นดูเพื่อถามว่าไปทางไหน ชาวบ้านเห็นเข้าถึงกับเอ่ยปากถาม

“นี่คุณจะไปบ้านอดีตนายกฯ เหรอ”

“ใช่ค่ะ ฉันชอบประวัติศาสตร์” 

ได้รับคำบอกทางเดินไปไม่นานก็มาถึง ตัวบ้านสองชั้นกั้นรั้วสูง มองไม่ค่อยเห็นอะไร ได้แต่ถ่ายรูปกับประตูที่มีบ้านเลขที่ บ่งบอกว่าได้มาถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว

ส่วนเรื่องที่อดีตนายกฯ ลี เซียนหลุง ไม่ยอมให้ทุบบ้าน  World Pulse ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากชาวเน็ต ขอเอามาเล่าสู่กันฟังแต่ห้ามเชื่อ เพราะไม่มีข้อมูลสนับสนุน  ชาวเน็ตบอกว่า  เป็นเรื่องของฮวงจุ้ย เกรงว่าถ้าทุบแล้วจะทำให้ประเทศสิงคโปร์ไม่เจริญรุ่งเรือง 

World Pulse เคยถามกับ “แดเนียล” ไกด์ชาวสิงคโปร์ ตอนไปทำงานเมื่อหลายปีก่อน ได้คำตอบว่า “สิงคโปร์จะเจริญหรือไม่เจริญ อยู่ที่ประชาชน ไม่ได้อยู่ที่ฮวงจุ้ย!” อันนี้ก็ยอมรับว่า คำตอบของแดเนียลนั้นถูกต้อง ประเทศจะเป็นอย่างไรอยู่ที่คุณภาพของประชากร 

แต่อย่างไรเสียในฐานะคนติดตามข่าวขอให้บ้านลี กวนยู มีทางออกที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย  เพราะบ้านหลังนี้ไม่ได้มีความหมายเฉพาะกับคนตระกูลลี แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเป็นประเทศสิงคโปร์ด้วย การรักษาประวัติศาสตร์ เคารพเจตนารมณ์ของผู้ตาย พร้อมๆ กับการไม่สร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลที่จะกลายเป็นภาระให้คนรุ่นหลังสลัดไม่หลุด ถือเป็นเรื่องวัดฝีมือรัฐบาลและสังคมสิงคโปร์