จับตา 'ทุเรียนลาว' ยุคใหม่ มาพร้อมรถไฟเร็วสูง-ทุนใหญ่จากจีน

จับตา 'ทุเรียนลาว' ยุคใหม่ มาพร้อมรถไฟเร็วสูง-ทุนใหญ่จากจีน

การปลูกทุเรียนในลาวอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การปลูกในสเกลระดับอุตสาหกรรมเพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อราว 10 ปีมานี้ และกำลังจะเปลี่ยนโฉมไปมากจากรถไฟควมเร็วสูง และนักธุรกิจจีนที่แห่เข้ามาลงทุนสวนทุเรียนในลาวใต้

"กระแสตื่นทุเรียน" เพื่อส่งออกตลาดจีนอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในละแวกอาเซียน แต่กรณีของ "ทุเรียนลาว" กำลังเป็นที่น่าจับตา เพราะมีตัวแปรใหม่เข้ามาอย่างรถไฟความเร็วสูง กระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างมหาศาลจากกลุ่มทุนจีนที่ทำให้ "สเกล" ทุเรียนส่งออกจากพื้นที่ลาวใต้อาจกลายเป็นรายใหญ่ในอนาคต แต่เรื่องนี้ก็พาให้เกิดความกังวลเรื่องพื้นที่ป่าและประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมาด้วยเช่นกัน และลาวเองก็เคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียได้สัมภาษณ์ "เถา เจี้ยน" นักธุรกิจชาวจีนที่เข้ามาลงทุนในอาณาจักรสวนทุเรียน 5 หมื่นต้น ในพื้นที่ตอนใต้ของลาวบนที่ราบสูงโบลาเวน พื้นที่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งปลูกกาแฟรายใหญ่ของลาวจนได้ชื่อว่าเป็น "เมืองหลวงแห่งกาแฟ" แต่ในอีกไม่ช้าอาจมีโอกาสได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลวงแห่งราชาผลไม้แทน เมื่อทุเรียนกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าดึงดูดมากขึ้นกว่าเดิม

"ผมเชื่อว่าในเร็วๆ นี้ ลาวจะกลายเป็นผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากไทย เวียดนาม และมาเลเซีย" นักลงทุนชาวจีนวัย 54 ปีกล่าว

ปัจจุบันมีนักธุรกิจชาวจีนแห่มาลงทุนทำสวนทุเรียนในลาวเช่นนี้กันเพิ่มขึ้นมาก เพื่อหวังส่งออกกลับไปขายในตลาดจีน โดยมีตัวแปรที่เป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นสำคัญคือ รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่ช่วยให้การขนส่งรวดเร็วและสะดวกขึ้น และคาดว่าจะช่วยให้ลาวหลุดพ้นจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนและพัฒนาน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ปัจจุบัน "จีนยังไม่ได้เปิดตลาดให้ลาวส่งออกทุเรียนได้" แต่ทั้งสองประเทศก็กำลังหารือในเรื่องนี้อยู่และบรรดานักลงทุนต่างก็เชื่อว่าจีนจะเปิดตลาดให้ลาวแน่ไม่ช้าก็เร็ว สื่อท้องถิ่นจีนเคยรายงานอ้างคำกล่าวของ บุญจันทน์ คมบุญสิทธิ์ อธิบดีกรมปลูกฝัง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้สปป.ลาว เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ว่า ลาวจะส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากทั้งสองประเทศกำลังเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการเปิดตลาดอยู่

จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) พบว่า "จีนนำเข้าทุเรียนมากถึง 95% ของการส่งออกทุเรียนทั่วโลก" ขณะที่สื่อทางการจีนรายงานด้วยว่า เฉพาะปี 2566 เพียงปีเดียว จีนนำเข้าทุเรียนจากประเทศในอาเซียนมากถึง 6,700 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2560 

จับตา \'ทุเรียนลาว\' ยุคใหม่ มาพร้อมรถไฟเร็วสูง-ทุนใหญ่จากจีน ภาพข่าว: ซินหัว

การบริโภคทุเรียนในประเทศที่มีประชากรหลักพันล้านคนอย่างจีน ทำให้หลายประเทศในอาเซียนเร่งปรับตัวรับตลาดจีนตลอดช่วงหลายปีมานี้ เช่น "ประเทศไทย" เพิ่มการปลูกทุเรียนเป็น 3 เท่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ส่วนเกษตรกร "เวียดนาม" ทิ้งพืชเกษตรเดิมอย่างกาแฟหันไปปลูกทุเรียนแทนมากขึ้น ขณะที่ "มาเลเซีย" แปลงพื้นที่ป่าฝนให้เป็นสวนทุเรียน แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่เพียงพอ และเป็นเหตุผลสำคัญให้นักลงทุนพากันเข้าไปยัง "ลาว" เพื่อใช้ดินแดนที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม ค่าแรงถูก และยังมีพื้นที่ว่างมหาศาลเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนขนาดใหยญ่แห่งใหม่ป้อนจีน 

ทุเรียนสามารถขายได้ตั้งแต่ราคา 10 ดอลลาร์ไปจนถึงหลายร้อยดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ต้นทุเรียนที่แข็งแรงและโตเต็มที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้หลายสิบปี แต่เนื่องจากต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปีจึงจะออกผล การทำสวนทุเรียนจึงต้องได้รับการดูแลอย่างพิถีพิถัน ใช้พื้นที่จำนวนมาก และการลงทุนสูงในระยะยาว

แม้การปลูกทุเรียนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในลาว แต่ "การปลูกในระดับอุตสาหกรรม" เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมานี่เอง แต่ด้วยตัวแปรใหม่อย่าง "นักลงทุนชาวจีน" ที่รู้จักวีธีทำธุรกิจในระดับอุตสาหกรรมและยังมีแรงกระตุ้นที่จะขนเงินลงทุนออกมานอกประเทศ ก็คาดว่าจะทำให้ไม่ใช่เรื่องยากนัก 

เถา เจี้ยน เคยลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนมาก่อน แต่หลังจากที่เริ่มเห็นเค้าลางวิกฤติอสังหาฯ ในปี 2560 ก็ตัดสินใจขนเงินไปหาโอกาสในประเทศใหม่แทน

"เป้าหมายของผมคือออกไปจากจีน แต่ก็ต้องไปลงทุนในอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับจีนและจับตลาดที่มีดีมานด์ของประชากร 1,400 ล้านคนให้ได้"

"Jiarun" เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัทลงทุนอสังหาฯ จากจีนที่เข้ามาลงทุนทำอาณาจักรทุเรียนในลาวกับบริษัท Jiarun Agriculture Development โดยเคยประกาศเอาไว้ว่าจะสร้างสวนทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว และเมื่อปี 2565 ได้ลงนามเช่าที่ดินล็อตใหญ่ 5,000 เฮกเตอร์ จากรัฐบาลลาวเป็นเวลา 50 ปี หรือใหญ่กว่าเซ็นทรัลพาร์กในนิวยอร์กถึง 15 เท่า โดยมีเป้าหมายใช้พื้นที่มากกว่าครึ่งในการทำสวนทุเรียน 

"เราต้องการรวมโมเดลการเกษตรของจีนเข้ากับทรัพยากรของลาว ปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นดินแดนแห่งโอกาส ซึ่งแตกต่างจากจีนที่พื้นที่สำหรับการเติบโตมีจำกัด" เหอ รุ่ยจุน รองผู้จัดการบริษัทวัย 42 ปี กล่าว

ทั้งนี้ จีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในลาวตั้งแต่ปี 2559 และโมเมนตัมการลงทุนยิ่งเพิ่มขึ้นหลังมีรถไฟเชื่อมต่อระหว่างลาว-จีน ในปี 2564 ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ของจีน ช่วยลดเวลาเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังคุนหมิง เหลือเพียงไม่ถึง 10 ชั่วโมง

จับตา \'ทุเรียนลาว\' ยุคใหม่ มาพร้อมรถไฟเร็วสูง-ทุนใหญ่จากจีน

“สำหรับผู้ผลิตผลไม้เช่นเรา รถไฟลาว-จีนสะดวกมาก เพราะประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา” เหอกล่าว โดยการขนส่งทุเรียนต้องแข่งกับเวลา เพราะผลไม้สดที่สุกสามารถเน่าเสียได้ภายในไม่กี่วัน รถไฟจึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุนและพึ่งพาได้มากที่สุดในการขนส่งทุเรียน และพิสูจน์แล้วว่าเป็น "ตัวเปลี่ยนเกมให้กับทุเรียนไทยได้"  ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งทุเรียนไปยังจีนผ่านเส้นทางนี้เพิ่มมากขึ้น

โอกาสที่มาพร้อมกับความกังวล

อย่างไรก็ดี กระแสการปลูกทุเรียนก็อาจต้องแลกมาด้วย “ราคาที่ต้องจ่ายแพง” ตามที่ชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่กังวลเกี่ยวกับปัญหามลภาวะ การสูญเสียพื้นที่ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ

ไมล์ส เคนนีย์-ลาซาร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสวนป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า สวนป่าไม่สามารถทดแทนป่าบริสุทธิ์ได้ ลักษณะบางประการของสวนป่าเชิงเดี่ยวอาจดูคล้ายกับป่า แต่ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นน้อยกว่ามาก นอกจากนี้ ชาวบ้านยังอาจสูญเสียการเข้าถึงอาหารจากป่า เช่น เห็ดและหน่อไม้

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในชุมชนใกล้ฟาร์ม Jiarun อ้างว่าไม่ทราบเกี่ยวกับสวนทุเรียนขนาดใหญ่ข้างบ้าน ไม่ได้รับการปรึกษาหารือก่อนที่จะมีการให้สัมปทานที่ดิน ผู้ที่ทราบข่าวมีความรู้สึกผสมปนเปกัน บางส่วนรู้สึกยินดีหากโครงการนี้ดำเนินการอย่างถูกต้องและปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ 

ทว่าบางส่วนก็กังวลเกี่ยวกับมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำสวนระดับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการใช้สารเคมี หลังจากที่ลาวเคยมีบทเรียนเรื่องการปนเปื้อนสารเคมีจากการทำสวนกล้วยขนาดใหญ่มาแล้วในช่วงประมาณปี 2559 และทำให้ต้องระวังเรื่องการรักษาสมดุลระหว่างโอกาสทางเศรษฐกิจกับผลกระทบที่อาจตามมาเช่นกัน